วาระสุดท้ายของลัทธิมอนโร 2 ศตวรรษแห่งความมั่นคงของอเมริกา - Forbes Thailand

วาระสุดท้ายของลัทธิมอนโร 2 ศตวรรษแห่งความมั่นคงของอเมริกา

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Biden-Harris กำลังจะปิดฉากลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) ที่ดำเนินมานานถึง 2 ศตวรรษ ซึ่งถือเป็นลางร้ายทางด้านความมั่นคงของอเมริกา


    ในการแถลงนโยบายต่อสภาคองเกรสเมื่อปี 1823 ประธานาธิบดี James Monroe ได้ประกาศแนวทางที่ถูกใช้เป็นรากฐานของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ สืบต่อกันมาอีกนาน โดยเขาได้เตือนประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงกิจการของประเทศในซีกโลกตะวันตก ซึ่งในการนี้สหรัฐฯ จะถือว่าการแทรกแซงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือการทหารเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

    ลัทธิมอนโรเกิดขึ้นมาจากความกังวลว่าประเทศมหาอำนาจในยุโรปโดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส และรัสเซียจะพยายามแผ่ขยายอาณานิคม หรือกลับมายึดบางส่วนของอเมริกาเป็นอาณานิคม ซึ่งในตอนนั้นสเปนเองก็พยายามจะกลับมายึดประเทศเม็กซิโกที่เพิ่งประกาศอิสรภาพไปหมาดๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมไม่ได้

    นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ ฝรั่งเศสยังได้ส่งกองทหารมาที่เม็กซิโกเพื่อตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้น แต่เมื่อสงครามจบลงฝรั่งเศสก็เข้าใจแล้วว่าจำเป็นต้องถอยออกจากเม็กซิโก ไม่อย่างนั้นเป็นได้เห็นดีกันกับสหรัฐฯ แน่ ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังไป ส่วนรัสเซียก็ถอดใจจากความพยายามรุกรานพื้นที่ในภูมิภาคนี้เมื่อตัดสินใจขายที่ในรัฐ Alaska ให้กับสหรัฐฯ ในปี 1867

    ต่อมาในปี 1962 ตอนที่สหภาพโซเวียตพยายามจะติดตั้งฐานยิงจรวดปรมาณูที่คิวบา เราร่ำๆ จะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว แต่เคราะห์ดีที่ทางโซเวียตยอมถอยในที่สุด

    ต่อมาเมื่อถึงยุคปัจจุบันลัทธิมอนโรกลายเป็นเพียงตัวอักษรที่ไร้ความหมาย โดยทั้งจีน รัสเซีย หรือแม้แต่อิหร่านต่างพากันเคลื่อนไหวในอเมริกาอย่างอิสระโดยปราศจากข้อยำเกรงใดๆ โดยจีนได้เข้ามากว้านซื้อกิจการบริษัทต่างๆ และเหมืองแร่อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายในภูมิภาคนี้ และพร้อมกันนั้นก็เข้ามาควบคุมหรือเข้ามาเปิดดำเนินกิจการท่าเรือของตัวเอง

    ในขณะเดียวกันบริษัทสัญชาติจีนก็ตบเท้าเข้ามาผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลของประเทศในทวีปอเมริกาใต้และเพิ่มอิทธิพลทางการทูตกับประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศบราซิลที่เพิ่งสั่งห้ามใช้แอป X (เดิมคือ Twitter) ทั่วประเทศ

    ทุกวันนี้จีนได้กลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้ไปแล้ว โครงการที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนคือ ท่าเรือขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่ประเทศเปรู โดยจีนตั้งเป้าจะใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นประตูสำหรับภูมิภาคอเมริกาใต้ที่จะเปิดไปสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะในเอเชีย และพร้อมกันนั้นก็จะใช้เป็นจุดรับสินค้าจากจีน โดยเฉพาะ EV เพื่อนำเข้าไปขายในอเมริกาใต้อีกด้วย และแน่นอนว่าท่าเรือดังกล่าวสามารถแปรสภาพเป็นฐานทัพเรือจีนได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ท่าเรืออื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีนก็เอื้อต่อการขยายอิทธิพลของทัพเรือจีน

    ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Jim Risch วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรครีพับลิกันและอยู่ในคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศกล่าวถึงการดำเนินการในอีกด้านหนึ่งของจีนว่า “จีนเข้ามาซื้อที่ดินในอเมริกาใต้ สร้างเป็นเขตทหารที่มีความอ่อนไหว และประกาศห้ามไม่ให้รัฐบาลของประเทศนั้นเข้ามายุ่มย่ามในพื้นที่ดังกล่าว...จีนติดตั้งเครือข่ายการสื่อสารที่ทำให้เพื่อนบ้านของเราต้องเผชิญความเสี่ยงทางด้านข้อมูลและการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายไซเบอร์ที่ควบคุมโดยกองทัพและหน่วยงานด้านอวกาศในประเทศอาร์เจนตินา โบลิเวีย และประเทศอื่นๆ...หน่วยงานด้านข่าวกรองของกองทัพจีนตั้งอยู่ที่คิวบา ห่างจากชายฝั่งสหรัฐฯ แค่ไม่ถึง 100 ไมล์เท่านั้นเอง”

    ทางด้านของรัสเซียก็มีการส่งยุทโธปกรณ์และกำลังพลเข้าไปในนิการากัว พร้อมทั้งติดตั้งระบบยิงจรวดมิสไซล์ในเวเนซุเอลา โดยมีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลที่บิดเบือนจากรัสเซียออกไปในวงกว้าง ส่วนสายลับอิหร่านก็ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลเผด็จการ

    ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สิ่งที่รัฐบาล Biden-Harris ทำก็แค่มองดูตาปริบๆ ทั้งนี้ด้วยความสนับสนุนจากรัสเซีย จีน และอิหร่าน รวมถึงถึงสายลับคิวบาที่เข้ามามีอิทธิพลกับด้านความมั่นคงของเวเนซุเอลาทำให้ผู้นำเผด็จการอย่าง Nicolas Maduro สามารถขโมยผลการเลือกตั้งไปได้หน้าตาเฉย โดยการตอบสนองของสหรัฐฯ ต่อเรื่องนี้อยู่ในระดับที่อ่อนแอจนน่าเศร้า

    การหันหลังให้กับลัทธิมอนโรเท่ากับเป็นการบอกต่อประชาคมโลกว่า ทั้งหมดไม่สามารถวางใจให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกเสรีเหมือนที่เคยเป็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อีกต่อไป

    เรากำลังอยู่บนหนทางที่นำไปสู่หายนะ


เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา

ภาพ: Forbes และ Markus Winkler from Pexels


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Donald Trump ทำเงินจากการเมือง

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine