ธุรกิจร้านอาหาร เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
อาหารยังถือเป็นหนึ่งในสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ถือเป็น 1 ในซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล การท่องเที่ยวเชิงอาหาร “Gastronomy Tourism” เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในช่วง 5-10 ปีนี้
ธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 6.69 แสนล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลายลงและวิถีชีวิตของผู้คนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีในปี 2567 ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายเรื่องภาวะต้นทุนอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นและปัจจัยต่างๆ ซึ่งลดทอนกำไรของผู้ประกอบการลง
ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนหลักปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆ กันในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะยืนระดับสูงในระยะข้างหน้า ทั้งจากค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม สะท้อนจากดัชนีราคาอาหารสดและพลังงานที่เพิ่มขึ้นมาก และยังอาจถูกซ้ำเติมจากแนวโน้มค่าแรงที่อาจเพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงานและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ
ปัญหาด้านการแข่งขันก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญมาตลอด เนื่องจากการเข้าและออกธุรกิจนี้ทำได้ไม่ยากนักส่งผลให้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูงมาก LINE MAN Wongnai ระบุว่า ในปี 2566 ร้านอาหารในไทยมีจำนวนกว่า 680,000 ร้านค้า เติบโตกว่า 13.6% เรียกว่ายังมีผู้ประกอบการหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง
แม้แนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่าสูงจึงดึงดูดผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่มุ่งสู่ธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่องเพราะเข้าสู่ธุรกิจไม่ยากนัก อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายระดับ แต่การจะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ปัจจัยบวกในการประกอบธุรกิจร้านอาหารปี 2567 ประกอบด้วย
1. พื้นที่ในการทำการตลาดที่ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิมผ่านแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขยายพื้นที่บริการโดยไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ และช่วยลดความจำเป็นในการเลือกทำเลที่ตั้งที่มีค่าเช่าพื้นที่สูง
2. กระแสพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารตามการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ส่งผลให้ร้านอาหารสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้ในเวลาอันสั้น
ยุคนี้การเข้าถึงวัตถุดิบทำได้ง่าย มีช่องทางการซื้อหลากหลายแบบ หรือแม้แต่จะซื้อจากซัพพลายเออร์ก็ทำได้ง่ายมาก แม้แต่ร้านอาหารหน้าใหม่ก็อาจค้นหาสูตรการทำอาหารเด็ดๆ ได้จากช่องทางออนไลน์ต่างๆ
ร้านอาหารที่มีส่วนร่วมกับลูกค้ามักจะเป็นผู้ที่สามารถประสบความสำเร็จในตลาดดิจิทัลและโน้มน้าวผู้คนได้มากขึ้น โซเชียลมีเดียสามารถช่วยเพิ่มการรับรู้ของธุรกิจร้านอาหารได้ดีมาก หากใช้โซเชียลไม่เป็นก็แข่งกับร้านอื่นไม่ได้
ธุรกิจอาหารที่จะอยู่ได้ต้องรู้จักสร้างการรีวิวและรู้จัก customer journey สร้างระบบรีวิว เช่น LINE MAN Wongnai, Tripadvisor ให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยรีวิว (micro/macro) สร้างตัวตนให้อยู่ในแผนที่/ปักหมุด รู้จักพฤติกรรมลูกค้า และ customer journey ก่อนจะนำมาสู่ลูกค้าประจำ ต้องลงในแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ ก่อนการลงโฆษณา การเชิญชวน แล้วนำมาสู่การเข้ามาเป็นลูกค้าในร้าน ในที่สุดต้องสร้างประสบการณ์จุดเด่นของร้าน รสชาติอาหาร ราคา การบริการ ความสะอาด ความรวดเร็ว และนำไปสู่การรีวิว
อย่าลืมสร้างตัวตนให้อยู่ในแผนที่/ปักหมุด ทุกร้านควรมีบัญชีโซเชียลมีเดียทุกช่องทางเพื่อโปรโมตร้านอาหารผ่านทางออนไลน์ได้หลากหลายแพลตฟอร์มที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะการทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์มนั้นก็ใช้เวลาและแรงงานไม่น้อย รวมถึงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก็ควรจะลงคอนเทนต์เป็นประจำสม่ำเสมอด้วย เทรนด์ยุคใหม่ไม่ต้องทำวิดีโอแบบยาวๆ อาจเป็นคลิปสั้นๆ แบบตรงเป้าแล้วทำหลายๆ ชิ้นจะดีกว่า แต่ควรยังมีการโปรโมตผ่านทางหน้าร้านแบบเดิมด้วย และควรทำโปรโมชั่นในแต่ละเดือนหรือแต่ละเทศกาลอยู่เสมอ
บทความโดย ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปิ้งย่างคนโสดกระแสดี! 3 ปี Yakiniku Like ครบ 15 สาขา ปีนี้คาดยอดขายแตะ 390 ล้านบาท