ทำอย่างไรให้โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ - Forbes Thailand

ทำอย่างไรให้โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ

โลกเราทุกวันนี้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างหนัก แม้ว่ามันอาจจะดูนอกรีตนอกรอย แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้เศรษฐกิจโลกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งนั่นก็คือ การหั่นงบสิ้นเปลืองที่ตั้งกันไว้อย่างมากมายสำหรับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากสามารถตัดการลงทุนส่วนนี้ออกไปได้จะช่วยปลดล็อกเม็ดเงินจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากอยู่ในขณะนี้


    เราต้องการความริเริ่มในทำนองนี้เพราะธนาคารโลกประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2024 จะชะลอลงจากปีที่แล้วที่โตต่ำเพียง 2.6% เหลือเพียง 2.4% เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะโตได้ไม่ถึง 2.4% ด้วยซ้ำ 

    ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศต่างๆ น่าจะกลับมาโตได้แรงหลังโควิิด แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจหลายประเทศยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หรือซ้ำร้ายยังหดตัวลงอีก ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงอ่อนแรง โดยจีนคาดว่า เศรษฐกิจปี 2024 จะขยายตัวได้ 5% แต่ไม่มีใครเชื่อตัวเลขของทางการจีนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนหนุ่มสาวจำนวนมากตกงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงประสบปัญหาหนักอยู่ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และอังกฤษกำลังอยู่ในภาวะถดถอยหรือใกล้จะถดถอย

    ประธานาธิบดี Joe Biden คุยโตว่า สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯก็ยังโตต่ำกว่ามาตรฐานในอดีต และที่ยังโตอยู่ได้ก็เป็นเพราะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งที่น่าประหลาดก็คือ เราใช้วิธีการแปลกๆ ในการคำนวณ GDP โดยยิ่งรัฐบาลใช้จ่ายมากเท่าไรก็ยิ่งไปเพิ่ม GDP โดยตรง ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบมากเท่าไร ตัวเลข GDP ก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งในปีนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าจะใช้เงินประมาณ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Biden ต้องการจะใส่เงินเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า โดยจำนวนเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบในช่วง 2 ปีนี้สูงเกินกว่ายอดใช้จ่ายที่ควรจะสูงเกินปกติเพียงชั่วคราวในช่วงวิกฤตโควิดเสียอีก ซึ่งหากจะพูดอีกอย่างก็คือ การขยายตัวที่ต่ำกว่ามาตรฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้อาศัยแพลตฟอร์มการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตผล และมีลักษณะของการทำลายตัวเองเป็นหลัก

    ปัจจุบันประเทศต่างๆ ล้วนแต่แบกหนี้จนหลังแอ่นไปตามๆ กัน โดยภาระหนี้รวมของทั้งโลกอยู่ที่ 300 ล้านล้านเหรียญ สูงกว่าขนาดของ GDP โลกถึงเกือบ 3 เท่าตัว แต่ถ้าตัดการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนออกไปได้จะทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถูกปลดปล่อยออกมาเพื่อใช้ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้อีกครั้ง โดยประเด็นนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษกับประเทศยากจนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซาซึ่งอาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสภาวะทางการเมืองตามมาด้วย

    พลังงานหมุนเวียนควรจะช่วยรักษาโลกโดยการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หลักฐานหลายๆ ชิ้นชี้ถึงข้อเท็จจริงว่า ยังมีความต้องการแร่ธาตุจำนวนมหาศาลอยู่สำหรับการเปลี่ยนถ่ายแนวทางนี้และระหว่างทางการไปสู่หนทางนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ทำล้ายล้างสิ่งแวดล้อม และดีที่สุดมันก็จบลงด้วยผลลัพธ์ที่ได้เสมอกันเหมือนกับการใช้เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเรากำลังใช้เงินจำนวนมากอย่างสูญเปล่าอย่างไม่คาดคิดโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย

    ลองคิดดูสิว่าในรอบ 100 ปีมานี้เราใช้เงินไปเกือบ 6 ล้านล้านเหรียญกับโครงการพลังงานหมุนเวียน แต่สัดส่วนของพลังงานจากเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลทั่วโลกลดลงจาก 86% เหลือ เพียง 84% เท่านั้นเอง ลองจินตนาการดูสิว่าโลกเราจะดีขึ้นกว่านี้แค่ไหน ถ้าทรัพยากรทางการเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้ผลิตธุรกิจใหม่ๆ ขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่ หรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และทำให้ทุกคนบนโลกมีน้ำกินน้ำใช้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่เหลือเชื่อก็คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยุโรปสูงที่สุดในปี 1979 ในขณะที่ของสหรัฐฯ สูงที่สุดในปี 2005

    มีแหล่งพลังงานสะอาดที่ไว้วางใจได้แน่นอน 2 แหล่ นั่นก็คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์ แต่รัฐบาลของ Biden กลับใช้นโยบายลดการผลิตก๊าซธรรมชาติลง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเต็มไปด้วยแหล่งก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ก็เข้ามาควบคุมความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้นของพลังงานนิวเคลียร์  ได้แก่ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (Small Modular Reactor หรือ SMR) ซึ่งก่อสร้างได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังประหยัดเวลา และต้นทุนได้อย่างมากด้วย โดย SMR สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เฉพาะที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น เมือง วิทยาเขต โรงพยาบาล และศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลได้ แต่หน่วยงานกำกับดูแลของทางการกลับหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาโครงการ SMR ด้วยการเพิ่มกระบวนการที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก้อนใหญ่ และทำให้เกิดความล่าช้า


เรียบเรียงโดย : พิษณุ พรหมจรรยา



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความผันแปรของโลก คือโอกาสของไทยและอาเซียน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine