ความผันแปรของโลก คือโอกาสของไทยและอาเซียน - Forbes Thailand

ความผันแปรของโลก คือโอกาสของไทยและอาเซียน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์การเติบโตทั่วโลกอยู่ที่ 2.9% ในปี 2567 เพราะดูจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ หรือแม้แต่จีนยังคงเติบโตลดลง และเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจถดถอย หรือการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดูจะไม่จบสิ้น


    ในทางตรงกันข้าม “อาเซียน” ยังสามารถยืนหยัดท่ามกลางแรงกดดันและกลายเป็นตลาดที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงถึง 4.6% ในปี 2567

    อาเซียนและไทยจึงอยู่ในช่วงจังหวะสำคัญในการช่วงชิงการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยปัจจัยที่จะดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติประกอบด้วย

    1. Resource-Seeking foreign direct investment: FDI การต้องการหาประโยชน์จากตลาดแรงงานที่ถูกและทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือล้นเพื่อขยายห่วงโซ่ธุรกิจให้เติบโต โดยอาเซียนจะก้าวมาเป็นฐานการผลิตของโลก (factory of the world) แทนประเทศจีน

    2. Market-Seeking FDI อาเซียนมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและประชากรที่มีจำนวนมากเกือบ 690 ล้านคน กว่า 60% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งจะกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคต และยังมีการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) อาเซียนจะเป็นจุดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก

    3. Strategic-Seeking FDI ความสนใจในการขยายธุรกิจผ่านการซื้อกิจการหรือแบรนด์สินค้า เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทางภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยง และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่ง

    4. Resilience-Seeking FDI เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการเมืองและความขัดแย้งที่คุกรุ่นในภูมิภาคอื่นทำให้ต้องย้ายห่วงโซ่การผลิต (supply chain) และแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่

    ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในฐานะจุดหมายปลายทางของ FDI รองจากสหรัฐฯ และจีน รายงานการศึกษาของ UOB พบว่า ในปี 2565 เม็ดเงินลงทุนหรือ FDI ไหลเข้าอาเซียน 224.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 36.6 ล้านเหรียญ ตามด้วยอาเซียน 27.2 ล้านเหรียญ และญี่ปุ่น 26.7 ล้านเหรียญ

    ธนาคารประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้สามารถทะยานไปสูงถึง 250 ล้านเหรียญภายในปี 2568 ถ้าอาเซียนเป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่รองรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ประเทศไทยก็เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

    นับตั้งแต่ UOB จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในปี 2554 ธนาคารสนับสนุนธุรกิจกว่า 4,200 บริษัทในการขยายธุรกิจในภูมิภาค ในจำนวนนี้มี 370 บริษัทได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คิดเป็นเงินลงทุนโดยตรงรวมมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านเหรียญ และมีการจ้างงานอีกกว่า 18,000 ตำแหน่ง

    จุดแข็งของไทยในสายตาของนักลงทุนคือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีคุณภาพสูง ทั้งถนน ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ความพร้อมด้านพลังงาน มีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร สามารถรองรับอุตสาหกรรมหลักๆ และการเติบโตในระยะยาว ทำให้บริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเดินหน้าเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเคมีภัณฑ์

    หากมองไปข้างหน้าอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและไทยคืออุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เห็นได้จากการเข้ามาทำตลาดของ EV สัญชาติจีนหลากหลายแบรนด์ที่พร้อมจะใช้ไทยและอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตหลัก

    อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีขั้นสูงด้านอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตก็จะกลายเป็นแม่เหล็กที่จะช่วยดึงดูดเงินลงทุน เพราะเป็นฐานเดิมของภาคการผลิตที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว สิ่งที่อาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควรมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปการพัฒนาบุคลากรและทักษะแรงงานขึ้นสูงให้พร้อมรองรับความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคต


บทความโดย ตัน ชุน ฮิน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : องค์กรไทยควรลงทุนเพื่อทำให้ AI ปลอดภัย

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine