ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลังงานของโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) จากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5°C ในงานประชุม COP28 ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) เป็น 3 เท่าภายในปี 2573 (ประมาณ 11,000 กิกะวัตต์) และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่าภายในปี 2573
รายงานของ IEA ปี 2023 ระบุว่า โลกสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นประมาณ 510 กิกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่าโลกยังคงเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียน นับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้มาตรการบังคับทางสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM ที่เริ่มใช้ในยุโรปทำให้ภูมิทัศน์ทางธุรกิจไม่ได้แข่งขันกันในแบบเดิมอีกต่อไป รัฐบาล และองค์กรในแต่ละประเทศต้องวางแผนลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การกักเก็บพลังงานและโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะเพื่อช่วยให้พลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้ดีขึ้น การกระตุ้นศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะของ decoupling economy growth from emissions หรือการแยกออกจากกันระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากขึ้น
ในส่วนของประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการเติบโตของโลก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในระบบพลังงานหลักของประเทศโดยมีแผนการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนต่างๆ ให้มีสัดส่วนมากถึง 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ หรือกว่า 66 กิกะวัตต์ ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ปี 2567
ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 3,110 เมกะวัตต์ พลังงานลมประมาณ 1,544 เมกะวัตต์ และมีแผนขยายการผลิตอย่างต่อเนื่องในอนาคต สอดรับกับการสนับสนุนของภาครัฐในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง หรือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในโรงไฟฟ้าในต่างประเทศและขายไฟกลับมาไทย และยังรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะและการกักเก็บพลังงานทำให้ระบบพลังงานของไทยมีความหลากหลายและมีเสถียรภาพมากขึ้น
จากแนวโน้มในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เจริญเติบโตและสามารถขยายเชิงพาณิชย์ได้อย่างสมบูรณ์ 4 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงาน และระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ อย่างไรก็ดียังมีอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้ เช่น ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตพลังงานทดแทนสามารถยืนยันว่า ได้ผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และสามารถขายเครดิตให้กับผู้บริโภคหรือองค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อุตสาหกรรมไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมีศักยภาพในการใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลในหลายๆ ภาคส่วน เช่น การขนส่ง, การผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมการดักจับและเก็บกักคาร์บอน (CCS) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมหนักที่มีการปล่อยก๊าซสูง
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่พลังงานทดแทนถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในการผลักดันความเป็นธุรกิจสีเขียวที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย และจะนำไปสู่การปลดล็อกขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก สร้างความน่าดึงดูดต่อนักลงทุนต่างชาติในฐานะฐานการผลิตที่มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ ทักษะแรงงาน และศักยภาพทางด้านพลังงานสีเขียวที่ตอบโจทย์การดำเนินการทางธุรกิจได้อย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เรื่อง: นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพลังงานและกลยุทธ์การลงทุน บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)
Photo by Nuno Marques on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เทรนด์ 'พลังงานสะอาด' ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต