เทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกระแสความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้ตอบโจทย์มากขึ้น จากเดิมที่ได้รับการนำมาใช้จ่ายไฟฟ้าให้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรีรถยนต์สันดาป โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อมามีการพัฒนานำแบตเตอรี่ nickel-metal hydride ใช้ในรถยนต์ไฮบริด และพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ lithium-ion ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ในปี 2534 เริ่มมีการใช้แบตเตอรี่ lithium-ion ในเชิงพาณิชย์ และผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การขนส่ง อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี่ด้านความจุไฟฟ้าสูง น้ำหนักเบา และขนาดเล็ก ซึ่งค่ายรถยนต์ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการแข่งขันกันพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ที่สามารถเก็บพลังงานให้วิ่งได้ไกลมากขึ้นจากการชาร์จต่อครั้ง รวมถึงการพัฒนาที่ทาให้ต้นทุนของแบตเตอรี่ต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำลง
นอกจากนี้ การพัฒนาแบตเตอรี่ยังไม่จำกัดเฉพาะในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า แต่ได้รับการยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นตัวช่วยหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง CO2e/kWh ของพลังงานแต่ละแหล่งพบว่า กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดประมาณ 33 CO2e/kWh และหากรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะปล่อยคาร์บอนเพียง 48-76 CO2e/kWh ซึ่งน้อยกว่าการเผาไหม้ของก๊าซ น้ำมัน และถ่านหินที่มีการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 10 เท่า
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั่วโลกจึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 68% ตั้งแต่ปี 2563-2566 และคาดการณ์ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 19% ในปี 2566-2573 รวมถึงการใช้เป็นพลังงานสำรองในการจ่ายไฟฟ้า (stationary storage) สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า (utility) ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งการใช้แบตเตอรี่กลุ่มโรงไฟฟ้าในปี 2563-2566 เติบโตเฉลี่ยประมาณ 78% และคาดการณ์ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 22% ในปี 2566-2573
สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทั่วโลก
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันตลาดยานยนต์ไฟฟ้าและการกักเก็บไฟฟ้าในการผลิตเกิดจากความต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของภาคเอกชน และการสนับสนุนของภาครัฐในหลายประเทศที่ผลักดันให้มีการนำแบตเตอรี่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการให้นโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า semi-solid state battery, all solid state battery แบตเตอรี่ที่มีราคาต่อหน่วยไฟฟ้าถูกลง sodium-ion battery ซึ่งเหมาะกับการใช้สำหรับระบบกักเก็บไฟฟ้าในภาคการผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตัวอย่างนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้แบตเตอรี่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดงบประมาณมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในกรอบเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2565-2569 สำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดงบประมาณ 75 ล้านเหรียญสำหรับการออกแบบเพื่อก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงาน และมีการระดมทุนการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่มากกว่า 8.3 ล้านเหรียญให้สามารถใช้งานได้ในปี 2568
ด้านประเทศจีนได้มีการกำหนดเป้าหมายติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานของประเทศให้มีไม่น้อยกว่า 362 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2568 และตั้งเป้าลดราคาระบบกักเก็บพลังงานลง 30% ในปี 2568 หรือให้ราคาลดลงเหลือ 0.8 หยวนต่อวัตต์ชั่วโมง ขณะที่อังกฤษมีการกำหนดงบประมาณมากกว่า 18 ล้านปอนด์ต่อปีในการลงทุนโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด รวมถึงการกระจายโครงข่ายไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2573 พร้อมกำหนดงบประมาณเฉพาะส่วนที่เป็นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพิ่ม 100 ล้านปอนด์
ส่วนเยอรมันกำหนดงบประมาณไว้มากกว่า 20.56 ล้านยูโร ในกรอบเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และฮังการีกำหนดงบประมาณส่งเสริมพลังงานสะอาดมากกว่า 1.2 แสนล้านโฟรินต์ฮังการี ในกรอบเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการประมูลโครงการที่นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในโครงข่ายไฟฟ้าภายในปี 2568 ตามแผนการทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินด้วยแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน
สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar + Battery Energy Storage System: BESS) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกำหนดสัญญารับซื้อเป็นแบบ partial firm ที่รับซื้อไฟฟ้าด้วยอัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย (kWh) ในเวลา 7 ชั่วโมง (9.00-16.00 น.) และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจาก BESS อีก 2 ชั่วโมง (ในช่วง 18.00-6.00 น.) ที่ 60% ของกำลังการผลิต โดยปัจจุบันทางคณะกรรมการกากับกิจการพลังงาน (ERC) ได้ประกาศรายชื่อผู้ขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกแล้วจานวน 24 ราย ซึ่งจะเริ่มทยอยผลิตไฟฟ้า (SCOD) ตั้งแต่ปี 2567 ไปจนถึงปี 2573
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีนโยบาย 30@30 ที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 30% ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 พร้อมกับการสนับสนุนในการงดเว้นภาษีจาก BOI สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ดังนั้น ความต้องการแบตเตอรี่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและการผลักดันของภาครัฐในหลายประเทศจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจสู่ยุคการแข่งขันในเทคโนโลยีการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการใช้แบตเตอรี่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การขนส่ง และการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการใช้แบตเตอรี่ร่วมด้วย
ท้ายสุดแล้วผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง บริษัทพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่มากขึ้นจนมูลค่าแบตเตอรี่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์มูลค่าแบตเตอรี่ของโลกในช่วงปี 2566-2573 เติบโตเฉลี่ยราว 23% ต่อปี และคาดการณ์กำลังการผลิตของแบตเตอรีทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าตลาด 1.36 พันล้านเหรียญ ซึ่งบริษัทสัญชาติจีนจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่หลักของโลกที่มีกำลังการผลิตรวม 68% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2573 รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังการผลิตคิดเป็น 12% ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทในประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมัน ฮังการี อังกฤษ นอร์เวย์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Generative AI กับการใช้งานทางธุรกิจในปัจจุบัน