อุตสาหกรรม MICE เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญในการดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ นักเดินทางกลุ่มนี้ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในด้านการใช้จ่ายต่อหัว การสร้างโอกาสทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนให้แก่ประเทศไทย
ข้อมูลจากทีเส็บรายงานว่า ปี 2566 มีนักเดินทาง MICE ในประเทศ 16.5 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้าหมายนักเดินทาง MICE ในสิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 23.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เป็นตลาดต่างประเทศ 960,000 คน สร้างรายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน สร้างรายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับด้านภาพลักษณ์เรื่อง MICE เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ทั้งความคุ้มค่าของการใช้จ่ายการจัดงาน ความมีเอกลักษณ์ และความพร้อมในการรองรับนักเดินทาง MICE
หากมองลึกลงไปในส่วนย่อยของ MICE ตัว E-Exhibition เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุด การจัดงานแสดงสินค้าหรือ Trade Exhibition นอกจากจะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นจุดศูนย์รวมของทั้งการเรียนรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยี การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตร การค้า การเจรจาธุรกิจและการลงทุนวันนี้การจัดงานแสดงสินค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมาคิดว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
สิ่งแรกที่เราทำคือ การระดมทีม การระดมความคิด ด้วยโจทย์ที่มองไปข้างหน้าและใช้เวลาที่มีในการพัฒนางานใหม่ๆ จนพบกุญแจสู่ความสำเร็จดังนี้
1. ต้องมองให้เห็นเทรนด์อุตสาหกรรมของโลกว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น อะไรคืองานกลุ่มใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน Taylor & Francis หน่วยงานที่เป็นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมจากบริษัทแม่ถึงความเป็นไปได้และโอกาสความสำเร็จ รวมถึงหารือกับหน่วยงานและสมาคมต่างๆ เพื่อฟังความเห็นและการสนับสนุนการจัดงาน
ซึ่งเราได้เทรนด์อุตสาหกรรมที่โลกกำลังให้ความสำคัญมาจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย อาทิ งาน ASEAN Sustainable Energy, Thai Water Expo และ Electric Vehicle Asia ที่จับเรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน, งาน ProPak Asia, Food & Hospitality Thailand และ Food ingredients-Fi Asia ที่จับเทรนด์อาหาร รวมถึงงานที่จับเทรนด์สุขภาพอย่าง CPHI South East Asia ฯลฯ
2. ต้องมองให้ไกลคิดให้ใหญ่กว่าเดิม การจัดงานที่ตอบสนองเฉพาะประเทศทำให้น่านน้ำธุรกิจไปได้ไม่ไกลพอ หากจัดงานให้เป็นระดับภูมิภาค น่านน้ำธุรกิจของเราก็จะกว้างไกลขึ้น เป้าหมายของเราคือ การจัดงานแสดงสินค้าที่ตอบสนองต่อคนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
3. การประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน นอกจากงานแสดงสินค้าที่เราจัดขึ้นเองแล้ว สิ่งที่เพิ่มเติมคือ งานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในหลายรูปแบบ ทั้งการดึงงานใหญ่ระดับโลกมาจัดในไทย การร่วมมือกับบริษัทในเครืออินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในหลายประเทศนำงานแสดงสินค้าที่ประสบความสำเร็จมาจัดงานที่ประเทศไทยแบบร่วมทุน (joint venture) รวมถึงจับมือกับพันธมิตรรายใหม่และคู่แข่งการจัดงานจากต่างประเทศมาร่วมกันจัดงานใหม่ อาทิ งาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok, Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok, APLF ASEAN, Vitafoods Asia และ Medlab Asia & Asia Health
4. ปรับตัว พัฒนา กล้าตัดสินใจ
5. ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจไปในทางเดียวกับพันธกิจของโลก การมุ่งสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการดำเนินงานที่ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการประหยัดพลังงาน การลดปริมาณการใช้ทรัพยากร อาทิ จำกัดความสูงของบูธ ลดการใช้กระดาษ ฯลฯ
การปรับตัว ปรับเปลี่ยน และพัฒนาการจัดงานแสดงสินค้าไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าเท่านั้น แต่การตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคอาเซียนจะช่วยสร้างโอกาสและการพัฒนาในด้านต่างๆ ในอีกหลายภาคส่วนด้วย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยมีโอกาสแค่ไหนในตลาดสมุนไพรโลกที่ปี 2573 อาจสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท