แนวคิด "รายได้ขั้นพื้นฐาน" รัฐบาลพร้อมแจกเงินให้ทุกคนเลยหรือ? - Forbes Thailand

แนวคิด "รายได้ขั้นพื้นฐาน" รัฐบาลพร้อมแจกเงินให้ทุกคนเลยหรือ?

ประเด็นเรื่อง "รายได้ขั้นพื้นฐาน" สำหรับประชาชนทุกคน ทั้งในอเมริกาและในยุโรปต่างก็กำลังให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระหน่ำอย่างหนักด้วยพิษโควิด-19 ตามแนวคิดนี้รัฐบาลจะจ่ายเงินก้อนหนึ่ง เป็นประจำทุกเดือนให้กับทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ว่าจะทำงานอยู่หรือไม่ก็ตาม

นักเคลื่อนไหวในฝั่งพรรคเดโมแครตชอบแนวคิดนี้ ในขณะที่หลายคนทางฟากรีพับลิกันก็ชอบแนวคิดนี้เช่นกัน พระสันตะปาปาได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้ ในขณะที่ Andrew Yang ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เสนอจ่ายเงินให้ประชาชนชาวอเมริกันทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้วเดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้เขาจะไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรค แต่แนวคิดของเขาก็ยังคงได้รับความสนใจอยู่ ทางด้านของประเทศอิตาลีก็มีการใช้มาตรการรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งจะมีการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในกรณีที่รายได้ลดลงจนต่ำกว่าระดับที่ทางการกำหนดไว้ ส่วนในประเทศสเปนก็กำลังพิจารณาใช้มาตรการในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าข้อเสนอของ Yang จะดูเย้ายวนใจ ก็ใครบ้างล่ะจะไม่อยากได้เงินเพิ่มพิเศษที่แจกให้ฟรีๆ ปีละตั้ง 12,000 เหรียญ แต่อันที่จริงแล้วเรื่องนี้จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเลยทีเดียว ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนกันก่อนว่า เรื่องที่เราคุยกันอยู่นี้เป็นคนละเรื่องกับโครงข่ายรองรับทางสังคมอย่างแสตมป์อาหาร สิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน หรือโครงการ Medicaid (โครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ) การที่รัฐบาลจะรับประกันรายได้จะเป็นอันตรายกับจรรยาบรรณในการทำงานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาและนักการเมืองพากันชูผลประโยชน์ส่วนนี้เพื่อมาล่อใจประชาชน การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความเชื่อมโยงระหว่างความตั้งใจในการทำงานและผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน ส่งผลให้ผู้คนไม่ได้ตั้งใจทำงานอย่างมีผลิตภาพเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดทั้งในแง่ศีลธรรมและในเชิงเศรษฐกิจ การทำงานถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย มันทำให้เรามีเจตจำนงในการดำเนินชีวิต และยังเป็นสิ่งที่กำหนดโครงสร้าง และกระตุ้นให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีวินัย ทำให้เราไม่ได้มองเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่มองยาวไกลต่อไปถึงอนาคตด้วย นอกจากนี้ มันยังมีส่วนเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการทำสิ่งต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของวัฒนธรรมอเมริกันยิ่งไปกว่านั้น การงานยังทำให้เกิดการผลิตสิ่งต่างๆ ให้เราบริโภค และก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตของเราให้สูงขึ้นด้วย ในทางปฏิบัติแล้วการดำเนินโครงการนี้ยังมีปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งนั่นคือ มันต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาล โดยมีการประเมินว่าแนวทางที่ Yang เสนอจะต้องใช้งบสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญต่อปี โดยเขาจะเก็บภาษีจากการขายสิ่งต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จากภาษีทุกประเภท ซึ่งหากจะว่ากันตามสภาพที่เป็นจริงแล้วต้องเก็บเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นอีกเยอะเลย และหากมีการดำเนินการตามข้อเสนอของ Yang จริงๆ ก็หมายความว่า การจะซื้อรถสักคันที่ปัจจุบันราคา 30,000 เหรียญ ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินจริงเพิ่มขึ้นเป็น 35,000-40,000 เหรียญเลยทีเดียว ภาระภาษีก้อนใหม่ที่หนักอึ้งนี้จะทำลายเศรษฐกิจของอเมริกาด้วยการทำให้เงินทุนหายไปจากระบบ และส่งผลกระทบกับการลงทุนที่มีผลิตภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น และมาตรฐานการใช้ชีวิตของคนดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันก็จะทำลายโอกาสทางธุรกิจ และทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงยิ่งขึ้น แนวทางที่เป็นประโยชน์มากกว่าคือ การปฏิรูปและเพิ่มยอดเครดิตภาษีเงินได้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ การคืนภาษีเงินเดือนกลับมาให้กับลูกจ้างนั่นเอง วิธีนี้จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้นโดยไม่ต้องแบกภาระภาษี นอกจากนี้ การสร้างเงื่อนไขให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างการลดภาษีก็นับเป็นแผนที่จะก่อให้เกิดผลดีมากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนที่โควิด-19 จะระบาด รายได้ของคนงานที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine