ปัญหาความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เรากำลังอยู่ในโลกที่เรียกว่า VUCA World ซึ่งมาจากคำว่า ผันผวน (volatility) ไม่แน่นอน (uncertainty) ซับซ้อน (complexity) กำกวม (ambiguity) โดยรวมแล้วคือสภาวะที่ยากต่อการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ความซับซ้อนของปัญหา ความท้าทายต่างๆ เป็นสิ่งที่ยากต่อการแก้ไขเป็นปัญหาเชิงระบบ และไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ผู้นำคนใดคนหนึ่งจะสามารถแก้ไขสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง การบริหารจัดการประเทศ สังคม ชุมชน องค์กร หรือทีมงานในแบบเดิมที่เน้นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่แน่นอน การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดโดยผู้นำ การเคร่งครัดต่อกฎระเบียบหรือมาตรฐานที่กำหนด อาจจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังจะเห็นได้จากปัญหาที่ยังคงมีต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามแก้ไขกันอย่างมากมาย ในด้านเศรษฐกิจมีองค์กรและหน่วยงานที่เคยประสบความสำเร็จหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากการดำเนินการขององค์กรไม่สอดคล้องต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากนั้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาหลายครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ อย่างไม่ตั้งใจ
การที่จะทำให้การรับมือแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนปัญหาเชิงระบบมีโอกาสเป็นไปได้ และสามารถอยู่ใน VUCA World ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือผู้นำ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรจะต้องตระหนักรู้ถึงปัญหาความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง การสร้างเครือข่าย สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์ความสำเร็จต่อผู้นำจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ผู้นำ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันเรียนรู้และเข้าใจปัญหาความท้าทายตระหนักรู้เข้าในระบบที่สมบูรณ์มากขึ้น ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์เป้าหมาย ร่วมกันออกแบบวางแผนการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงร่วมกันทดลองขับเคลื่อน และนำผลการทดลองดังกล่าวกลับเข้ามาที่ห้องปฏิบัติการทางสังคมเพื่อร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการ social lab คือกลยุทธ์ในการสร้างผู้นำร่วม (collective leadership) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโดยการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย (safe space) ลักษณะคล้ายกับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ค้นหาและทดลองได้อย่างปลอดภัย
เช่นเดียวกัน social lab สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเป็นพื้นที่กลางในการทดลองปฏิบัติการร่วมกันของผู้นำ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้กำหนดนโยบายหรือในหลายกรณีอาจรวมคู่ขัดแย้ง ผู้ที่เห็นต่างเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันเรียนรู้เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงความท้าทายต่างๆ ที่มีอยู่ เห็นความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ อย่างเป็นระบบร่วมกัน
และร่วมกันออกแบบวิสัยทัศน์ ทางออก โดยพื้นที่ที่สร้างขึ้นมาเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเปิดใจร่วมเรียนรู้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ได้ร่วมคิด ทดลองทำงานร่วมกัน โดยร่วมกันออกแบบและสร้างต้นแบบสร้างความร่วมมือทำงานในแนวราบ เพื่อก่อให้เกิดแนวคิดและอาจรวมถึงนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองความท้าทาย รวมถึงสร้างวิธีการทำงานร่วมกันแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
โดยมีเป้าหมายร่วมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด และสร้างต้นแบบ (prototype) เพื่อทดลองเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systems change) ร่วมกัน ในวิถีและวิธีการทำงานร่วมกันแบบใหม่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ (co-creating culture of collaboration)
โดย ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย)คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine