ตลอดระยะเวลา 69 ปี ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างต่อเนื่องผ่านภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนา ศักยภาพผู้ประกอบการไทย ในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ
การขยายช่องทางตลาดแก่สินค้าและบริการไทย การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการไทย ตลอดจนการยกระดับคุณภาพการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ท่ามกลางประเด็นท้าทายต่างๆ จากความเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของโลก ปี 2563-2564 เป็นอีกช่วงของความท้าทายและเป็นบททดสอบใหญ่ของศักยภาพในการปรับตัวของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศให้เดินหน้าต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การดำเนินไปของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และการดำเนินกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศหดตัว
ศักยภาพผู้ประกอบการไทย
ผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ โดยกรมได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ด้วยการ “ตั้งรับ ปรับตัว และหาโอกาส” ทั้งในส่วนของตัวกรมเองที่ต้องเปลี่ยนแปลงโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร และในส่วนของการผลักดันผู้ประกอบการให้เร่งพัฒนาองค์ความรู้และทักษะ เพื่อปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสามารถฝ่าวิกฤตและคว้าโอกาสในยุค new normal รวมถึงสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ทันที ที่สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย
ตั้งแต่ต้นปี 2563 กรมได้เน้นการทำงานเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และได้ริเริ่มกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้กรมยังสามารถดำเนินภารกิจทั้ง 4 ด้านของกรมท่ามกลางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ
โดยการปรับรูปแบบการจัดอบรมสัมมนาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy - NEA) จากเดิมที่จัดในรูปแบบออฟไลน์เป็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับทั่วทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ อาทิ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ (online business matching)
การจัดตั้งร้านขายสินค้าไทย TOP Thai Store บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชั้นนำของต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในการเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้โดยตรง การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในรูปแบบเสมือนจริง (virtual trade fair) และในรูปแบบผสมผสาน (hybrid)
การปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องเดินทางไปร่วมออกคูหาภายในงานเป็นการเข้าร่วมในรูปแบบ mirror- mirror โดยผู้ประกอบการมอบตัวแทนจำหน่ายหรือส่งตัวอย่างสินค้าไปจัดแสดงภายในงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเร่งดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม การออกแบบและการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก
ผมเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แนวคิด และวิธีการในการทำงานที่เกิดขึ้นของกรม ถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่การเป็น องค์กรชั้นนำที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ การ “ปรับเปลี่ยน” และ “เรียนรู้” เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ และความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของบุคลากรของกรมซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในการทำงาน
นอกจากนี้ การทำงานคงจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าหากขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของไทยตลอดมา จนเกิดผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างเต็มกำลังความสามารถท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19
บทความโดย
สมเด็จ สุสมบูรณ์
อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine