นอกเหนือไปจากกฎหมายภาษีที่ไม่เป็นมิตรแล้ว อุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาก็คือ ค่าเงินที่ไร้เสถียรภาพ
ค่าเงินที่อ่อนแอทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน ส่งผลกระทบในทางลบต่อการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Investment) ขัดขวางการแจ้งเกิดของผู้ประกอบการในท้องถิ่น และหันเหความสนใจของผู้คนจากการทำให้ตัวเองเป็นต่อ ไปใส่ใจกับการรักษาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่และจัดการเรื่องตรงหน้าเป็นวันๆ ไป
ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 จนถึงต้นทศวรรษที่ 90 เงินวอนของเกาหลีใต้ถูกตรึงมูลค่าไว้ ขณะที่อัตราภาษีก็ไม่โหดร้ายจนเกินไป ช่วงนั้นเกาหลีใต้สามารถสร้างความเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่แล้วรัฐบาลหันไปทำให้เงินวอนมีมูลค่าลดลงและเพิ่มเพดานภาษี อัตราการเติบโตจึงดำเนินไปได้เชื่องช้าราวกับเต่าคลาน
สัจพจน์จริงแท้ก็คือ ประเทศที่ค่าเงินมีเสถียรภาพมักทำผลงานดีกว่าประเทศที่ค่าเงินผันผวนอยู่เสมอ
ปัจจุบันค่าเงินในหลายๆ ประเทศกำลังอ่อนตัวรวมถึงบราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย รัสเซีย ตุรกี แอฟริกาใต้ และอิหร่าน เวเนซุเอลากำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ขณะที่อาร์เจนตินาก็กำลังเจอปัญหาเดียวกัน
ตรงกันข้ามกับสุนทรพจน์แบบน้ำท่วมทุ่งของบรรดาผู้นำ IMF หรือเสียงพล่ามอันหาสาระไม่ได้ของนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่
การสร้างเสถียรภาพค่าเงินไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อค่าเงินอ่อนตัวให้ลดปริมาณเงินลงจนกว่ามูลค่าของมันจะกลับขึ้นไประดับที่ต้องการ ทางการสามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยการซื้อสกุลเงินของตัวเองในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือด้วยการดูดซับส่วนเกินผ่านการขายพันธบัตรหรือสินทรัพย์อื่นๆ โดยธนาคารกลาง แทนที่จะทำเช่นนั้น หลายๆ รัฐบาลกลับออกมาแสดงจำอวดกัน อย่างเช่น
- พวกเขา โจมตีนักเก็งกำไร ตำหนินักค้าเงินและชาวต่างชาติไร้คุณธรรมที่ทำให้ค่าเงินของพวกเขาอ่อนตัว การกระทำเช่นนี้เห็นได้บ่อยครั้งเมื่อเร็วๆ นี้จาก Recep Tayyip Erdogan ผู้นำขาโหดแห่งตุรกี
- พวกเขาจะ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทฤษฎีที่ใช้อธิบายเรื่องนี้คือการกระทำเช่นนี้จะดึงดูดเงินจากต่างประเทศที่ต้องการผลตอบแทนสูง อันจะเป็นการลดแรงกดดันต่อค่าเงินที่ประสบปัญหา แต่การพยายามดึงดูดเงินร้อนไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาพื้นฐาน อันได้แก่นโยบายการเงินไร้คุณภาพ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจเสียหายจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงเกินจริง
- พวกเขา ใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในการซื้อสกุลเงินของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ตามมากลับไม่ดี เพราะรัฐบาลจะอัดฉีดเงินกลับเข้าไปในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ปริมาณเงินคงอยู่ในปริมาณเดิม ซึ่งคล้ายๆ กับการตักน้ำออกจากด้านหนึ่งของสระและเทกลับลงไปในอีกด้าน
เพราะเหตุใดหลายๆ รัฐบาลจึงใช้วิธีที่ซ้ำเติมปัญหาที่พวกเขากำลังพยายามแก้นั้นเป็นสิ่งที่น่าฉงนยิ่งนัก
แน่นอนว่าประเทศต่างๆ สามารถบริหารระบบเงินตราของพวกเขาด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อน อย่างการกำหนดให้มี คณะกรรมการเงินตรา (Currency Board) ซึ่งหมายถึงการทำให้สกุลเงินท้องถิ่นมีเงินสกุลหลัก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือยูโร หนุนหลังไม่น้อยกว่า 100% หรือด้วยการเปลี่ยนไปใช้เงินดอลลาร์ ยูโร หรือฟรังก์สวิสเซอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพที่สุดในโลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา) แทนสกุลเงินท้องถิ่นของตัวเอง
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561