ในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” มีปัจจัยหนึ่งที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่ามีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว คือ “ความพร้อมของบุคลากร”ซึ่งเปรียบเป็นต้นทางของการพัฒนาในทุกด้าน
ดังนั้น โจทย์ของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 จึงเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ต้องดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว ปี 2562 วางเป้าพัฒนาผู้นำดิจิทัล 30%
แนวทางหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็น “ข้าราชการ 4.0” ถือกำเนิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 กันยายน 2560 โดยมุ่งหวังให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้สามารถปรับตัวในบริบทของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Thailand 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานโดยสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานและพัฒนางานได้อย่างเต็มที่ แนวทางการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว ได้วางกรอบการพัฒนาทักษะเพื่อเป็น “ข้าราชการดิจิทัล” ที่มีความสามารถ 5 มิติ คือ (1) รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีเป็น (2) เข้าใจนโยบายกฎหมายและมาตรฐาน (3) ใช้ดิจิทัลเพื่อการประยุกต์และพัฒนา (4) ใช้ดิจิทัลเพื่อการวางแผนบริหารจัดการและนำองค์กร (5) ใช้ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ มีขอบเขตการพัฒนาครอบคลุมบุคลากรทั้งกลุ่ม IT และกลุ่ม Non-IT มีการตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2561-2565 แต่คาดหวังผลระยะยาวเพื่อไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วการพัฒนากลุ่ม Non-IT ในปี 2561 เน้นการปูพื้นฐานและปรับกรอบความคิด (Mindset) โดยจะมีการสอดแทรกการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเข้าไปในหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารและผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่สำนักงาน ก.พ. จัดดำเนินการอยู่ ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่าง “เน้นหนัก” ให้แก่ข้าราชการราว 40,000 คนหรือประมาณ 10% ของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้งประเทศโดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาทักษะในกลุ่มผู้บริหารส่วนราชการถึง 2,400 คน หรือประมาณ 30% ของจำนวนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (อธิบดี และรองอธิบดี) และประเภทอำนวยการ (ผู้อำนวยการกอง) รวมกันส่วนการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้าน IT ภาครัฐที่มีอยู่ราว 4,900 คนจะเน้นการพัฒนาที่ “เข้มข้น” โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานขององค์กร และการพัฒนาความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเฉพาะทางมากขึ้น สกัดสมองไหล ต้องยอมรับว่าเรื่อง “สมองไหล” ยังคงเป็นปัญหาของระบบราชการไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในภาวะปัจจุบันที่ค่าตอบแทนและบำเหน็จบำนาญของข้าราชการไม่เพียงพอกับการแข่งขันในตลาดยุคดิจิทัล สำนักงาน ก.พ.จึงได้วางมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งเข้ารับราชการมากขึ้นและรักษาบุคลากรที่สร้างผลงานซึ่งเป็นประโยชน์ให้อยู่นานถึงเกษียณด้วย 3 มาตรการ คือ ค่าตอบแทน เส้นทางเติบโตในสายวิชาชีพ และโอกาสในการเรียนรู้ต่อเนื่องในที่นี้จะกล่าวถึงมาตรการด้านค่าตอบแทนโดยได้มีความพยายามผลักดันให้เพิ่มค่าตอบแทน สำหรับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้วิชาชีพเฉพาะทางเพื่อจูงใจให้คนเก่งเป็นข้าราชการและหยุดสมองไหลไปภาคเอกชนหรือไปทำงานต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจ่ายค่าตอบแทนการให้เงินเพิ่มสำหรับผู้มีใบประกอบวิชาชีพหรือใบรับรองต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ยังได้จัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการศักยภาพสูงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐจ้างผู้มีความรู้ความสามารถนอกราชการมาเป็นอัตรากำลังเสริมระยะสั้น โดยสามารถจ่ายค่าตอบแทนที่จูงใจและกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ด้วยอนึ่ง พันธกิจที่สำนักงาน ก.พ. ต้องดำเนินการต่อเนื่องต่อไป เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 คือ การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนที่มีความสมดุลบนหลักการ 4 ป. คือ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ เปี่ยมคุณค่า และ ปรับเปลี่ยนได้ยืดหยุ่นคล่องตัว รวมถึงการพัฒนากระบวนการเครื่องมือและกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่สร้างสรรค์ ทันสมัยทันการณ์ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดติดตามบทความทางธุรกิจและการลงทุน ได้จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine