ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยว
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวงฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวในช่วงปี 2015 - 2017 โดยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการตลาด ปรับภาพลักษณ์ยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพ เจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพใหม่ๆ เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศ Commonwealth of Independent States (CIS) ซึ่งเป็นประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตอาทิ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เป็นต้น รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างประเทศอิหร่าน เป็นต้นซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีแนวโน้มใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระจายรายได้จากเมืองท่องเที่ยวหลักสู่เมืองรองการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอแคมเปญ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” และได้ขยายพื้นที่จาก 12 เมืองเดิมไปสู่จังหวัดที่อยู่ติดกันอีก 12 จังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยวออกไปจากเมืองเดิม ภายใต้แคมเปญ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส” ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาสามารถดันรายได้ให้เพิ่มขึ้นถึง 9.29% ในขณะที่โครงการ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ได้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 8.2% ในส่วนของการพัฒนารายสาขานั้น ในปีนี้เราได้มีการส่งเสริมและแนะนำสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศอาเซียน (Asean Connect) กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sports Tourism) การท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness) การท่องเที่ยวกลุ่มสตรี (Ladies Journey) การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) นอกจากนี้ ในปี 2017 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกเช่น “World Travel & Tourism Council (WTTC) Global Summit” ครั้งที่ 17 ในเดือนเมษายน ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางแห่งการท่องเที่ยวโลก และงาน “Wedding Congress” ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งประเทศไทยจะได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพในการเป็นผู้จัดงานแต่งงานมืออาชีพสู่สายตาโลก อีกทั้งยังนำเสนอสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์พร้อมสิทธิประโยชน์พิเศษแก่กองถ่ายคุณภาพ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด มีการเพิ่มจำนวนตำรวจท่องเที่ยวจาก 934 นายเป็น 1,700 นาย ภายในเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา อีกทั้งมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มใน 3 เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เกาะพะงัน เกาะช้างเกาะเสม็ด และในจังหวัดท่องเที่ยวหลักอีก 7 จังหวัด และจะมีเรือเร็ว (speed boats) สำหรับตำรวจท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการออกตรวจตราและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตามบริเวณเกาะต่างๆ อีก 20 ลำ ทั้งนี้เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทางกระทรวงฯ มั่นใจว่า ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยจะดำเนินไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ โดยผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน และเราจะเดินตามโร้ดแมพที่วางไว้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่เน้นการให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวทุกตลาดเพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากตลาดใดเพียงตลาดหนึ่ง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานของความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560