กฎหมายต้านทุจริตยุคใหม่ สร้างธุรกิจไทยไร้สินบน - Forbes Thailand

กฎหมายต้านทุจริตยุคใหม่ สร้างธุรกิจไทยไร้สินบน

ในโลกยุคปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจเสรีทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น บริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกรรมกับภาครัฐมักตกอยู่ในฐานะเสี่ยงที่จะถูกมองว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการติดสินบน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อขอใบอนุญาต การเข้าร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงการประมูลโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะส่งผลเสียโดยตรงต่อประเทศแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้าการลงทุน ดังนั้น ทิศทางของการต่อสู้กับการทุจริตและการให้สินบนทั่วโลกในปัจจุบัน จึงหันมาให้ความสนใจกับความเสี่ยงของบริษัทต่างๆ ในภาคเอกชนที่อาจจะตกอยู่ในฐานะผู้ให้สินบน และยังพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจหรือ “Level-Playing Field” โดยประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศนั้น มักมีกฎหมายควบคุมนิติบุคคลของตนเพื่อไม่ให้มีการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐภายในประเทศ หรือเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริง กลับต้องพบอุปสรรคในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันในต่างประเทศกับนิติบุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมมาตรฐานเดียวกัน ทั้งยังเสียความเชื่อมั่นที่จะร่วมลงทุนในประเทศที่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวยังอ่อนแอตามมา ด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายต่อต้านการทุจริตฉบับใหม่ ที่กำหนดความรับผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศไว้ในมาตรา 123/5 โดยกฎหมายใหม่ได้ครอบคลุมถึงการกระทำของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคล และได้มีการกำหนดโทษปรับที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้รัฐได้รับการเยียวยาจากความเสียหายนั้น ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) และอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจว่าด้วยการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ ค.ศ. 1997 (OECD Convention on Combating Foreign Bribery in International Business Transaction) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเอาผิดฝั่งผู้ให้สินบนเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม อันจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมโดยรวมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อย่างไรก็ดี กฎหมายใหม่ดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้นิติบุคคลต้องมีความรับผิดเด็ดขาดทุกกรณีเมื่อมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลไปให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐฯ โดยหากนิติบุคคลนั้นมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบนแล้ว นิติบุคคลนั้นก็จะสามารถยกมาตรการดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ตามมาตรานี้ได้ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้นิติบุคคลมีแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันของตนเองให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการตามกฎหมายดังกล่าว เริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 123/5 ตลอดจนกระตุ้นให้ภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างคู่มือมาตรการการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน ควบคู่ไปกับการส่งผู้แทนไปบรรยายให้ความรู้ในกลุ่มธุรกิจเอกชน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ขณะนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยความมุ่งหวังให้นิติบุคคลทั้งหลายตระหนักถึงความสำคัญของการมีมาตรการป้องกันการให้สินบนที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสอดส่องดูแลความประพฤติของบุคลากร รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของตน ซึ่งการมีมาตรการที่เหมาะสมนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาการให้สินบนจากต้นเหตุ กล่าวคือ เป็นการป้องกันซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในองค์กรและการทำธุรกิจของนิติบุคคลนั้นเอง ในยุคที่การพัฒนาและการแข่งขันยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ การทำธุรกิจที่ปลอดสินบน ย่อมส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและความเท่าเทียมทางธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาประกอบธุรกิจกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทางสำนักงาน ป.ป.ช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางภาคเอกชนจะตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และหันมาร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการทุจริตติดสินบนและสร้างค่านิยมที่ถูกต้องต่อไป โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ติดตาม Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2016 ในรูปแบบ e-Magazine