เรื่องสุดแย่ของโรคอัลไซเมอร์ - Forbes Thailand

เรื่องสุดแย่ของโรคอัลไซเมอร์

เหตุใดเราจึงยังไม่มียาที่รักษาโรคอัลไซเมอร์หายขาด หรืออย่างน้อยก็ช่วยชะลออาการได้มากพอสมควรหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่ชาวอเมริกันป่วยด้วยโรคนี้กว่า 6 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยก็มีแววจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในอีกรุ่นหนึ่ง


    อัลไซเมอร์เป็นโรคที่เลวร้ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อครอบครัว เพื่อนฝูง แม้จิตแพทย์ Alois Alzheimer จะวินิจฉัยโรคนี้ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 แต่การต่อสู้กับโรคแทบไม่คืบหน้าเลย แถมยังมีเรื่องน่าอายคือ งานวิจัยเกือบทั้งหมดที่ทำกันมาหลายทศวรรษกลับไปมุ่งหาคำตอบให้สมมุติฐานที่ผิด

    เมื่อคุณหมอ Alzheimer ชันสูตรสมองของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งได้ชื่อตามชื่อของเขาในภายหลัง เขาตั้งข้อสังเกตว่า สมองของผู้ป่วยอัดแน่นไปด้วยโปรตีน 2 ชนิดที่เรียกว่า plaques (โรคร้าย) และ tangles (ยุ่งเหยิง) แต่โชคร้ายที่งานวิจัยโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่แห่กันเน้นสมมุติฐานว่า การโจมตี plaques น่าจะช่วยรักษาอาการป่วยและทำให้สมองฟื้นคืนสภาพได้ ส่วน tangles ได้รับความสนใจรองลงมา

    Alzheimer เคยเตือนว่า อย่าไปทุ่มเทให้ plaques กับ tangles ในฐานะสาเหตุของโรคมากเกินไป เพราะอันที่จริงก็เคยมีการพิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจมี plaques อยู่น้อยมาก ในขณะที่คนมี plaques เยอะกลับไม่เป็นโรค

    อย่างไรก็ตามแม้งานวิจัยจะล้มเหลวอยู่เนืองๆ โดยมียาประมาณ 20 ตัวถูกพัฒนาขึ้นมาแต่ในที่สุดก็ไม่ได้เรื่อง แถมยังหมดเงินกันไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว แต่งานวิจัยโรคอัลไซเมอร์ก็ยังจะตั้งเป้าต่อสู้กับ plaques กันต่อไป

    การหมกมุ่นอยู่กับทางตันเช่นนี้มันบ้าบอมากจนแทบจะเหมือนพวกคลั่งลัทธิ และนักวิจัยซึ่งอยากลองหาหนทางใหม่ที่น่าสนใจกว่าก็ต้องเผชิญอุปสรรคอย่างหนัก การที่ใครจะล้มเหลวจนเรื้อรังในงานที่สำคัญมาก แต่ก็ยังดันทุรังไม่ยอมแก้ไขเช่นนี้ถือเป็นกรณีหายาก

    คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องยาใหม่ชื่อเลเคนแมบ (lecanemab) ซึ่งถูกประโคมว่า เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่น่าอัศจรรย์ แต่เลเคนแมบก็ยังเกิดมาจากสมมุติฐานหลงทางเรื่อง plaques อยู่ดี ดังที่นักข่าวสายนโยบายสาธารณสุข Joanne Silberner ชี้ประเด็นน่าเศร้าไว้ว่า “อย่างเก่งที่สุดเลเคนแมบก็อาจช่วยชะลออาการของผู้ป่วยที่ต้องทรุดลงอย่างไม่มีทางเลี่ยงให้ทรุดช้ากว่าเดิมเล็กน้อยแค่ไม่กี่เดือน”

    เรื่องสุดแย่กับการวิจัยโรคนี้แสดงให้เห็นว่าความคิดแบบพวกมากลากไปนั้นเป็นอันตราย โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจมากอย่างสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) มาคอยขัดขวางการให้ทุนแก่โครงการที่มีความคิดแหวกแนว

    กรณีคลาสสิกว่าด้วยวิธีคิดแบบพวกมากลากไปคือเรื่องสาเหตุการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร คนส่วนใหญ่เคยมองว่าโรคนี้เกิดจากความเครียดและการใช้ชีวิต ซึ่งยาและข้อกำหนดต่างๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาจากความเชื่อดังกล่าว

    แต่มีแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 คนท้าทายความเชื่อนี้ Robin Warren และ Barry Marshall มั่นใจว่าตัวร้ายที่แท้จริงคือแบคทีเรีย และยาปฏิชีวนะคือคำตอบที่ช่วยรักษาให้หายขาดได้ แต่การค้นพบของพวกเขามีแต่จะถูกเมินหรือเย้ยหยันว่าไร้สาระ 

    จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีมีการแก้ต่างไปเรื่อยๆ และบางครั้งก็ต้องมีการเล่นนอกกรอบ โดยเฉพาะจาก Marshall ในที่สุดโลกการแพทย์ก็ยอมรับความจริง และทั้งสองคนก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
สำหรับกรณีของโรคอัลไซเมอร์ 

    วงการวิจัยเริ่มลดความแข็งทื่อลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังแค่เล็กน้อย ถ้าจะปราบความไม่ยืดหยุ่นชนิดคอขาดบาดตายแบบนี้ให้ได้สภาคองเกรสก็ควรจัดการประชุมรับฟังข้อมูลเรื่องนี้ โดยเริ่มจากพวกผู้นำในสถาบันสุขภาพแห่งชาติก่อนเลย


เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง


อ่านเพิ่มเติม: "Harris Kupperman" นักลงทุนผู้ชื่นชอบธุรกิจเร้าใจสร้างรายได้แบบหวือหวา


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine