มหันตภัยจากไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบไปทั่วโลกหลายประเทศรับมือกับการแพร่ระบาดไม่ไหว แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยกลับได้รับคำชื่นชมมันสะท้อนว่าบริการด้านสุขภาพของไทยไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก
บริการด้านสุขภาพและธุรกิจโรงพยาบาลที่เฟื่องฟูมาก่อนหน้านี้ยังคงเป็นดาวจรัสแสงเมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ด้วยความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ และความสามารถในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องชี้ว่ามาตรฐานด้านสาธารณสุขของไทยค่อนข้างแข็งแรง แม้บริการพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์นัก แต่สถานบริการสุขภาพของไทยถือว่ามีความพร้อม ทันสมัย และรุดหน้าไปพอสมควร ไม่เพียงในประเทศเท่านั้น แต่โรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่งได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานระดับนานาชาติ “ความเป็น world medical tourism เราเกือบจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก” นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ถึงความพร้อมในบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานที่ดีทั้งในการรักษาพยาบาล และค่าบริการที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเพื่อมาใช้บริการด้านสุขภาพและท่องเที่ยวจำนวนมาก ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม medical tourism เข้ามาในไทยกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่มาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรามีความพร้อมสูงทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการรักษา อุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่ และราคาซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ โดยโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีค่าบริการที่ถูกกว่าสิงคโปร์ 40% ถูกกว่าฮ่องกงเกือบ 60% ขณะที่อินเดียและมาเลเซียถูกกว่าไทย 20% แต่คุณภาพการให้บริการของไทยดีกว่า และเราเป็น world medical tourism ที่ญาติผู้ป่วยอยากมาเที่ยว เพราะไทยมีที่เที่ยวหลากหลาย อาหารการกินก็ขึ้นชื่อ และที่สำคัญไทยมี service mind ด้านคุณภาพทางแพทย์ก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ถึงกับเลิศเหมือนฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นรองแค่นิดหน่อย “เครือโรงพยาบาลธนบุรีที่รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยชาวต่างชาติเป็นหลักคือโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ 90% ส่วนโรงพยาบาลธนบุรี 1 มีต่างชาติประมาณ 5-6% ที่เหลือเป็นคนไทยเป็นหลัก แต่ในช่วง 2 เดือนนี้ซัฟเฟอร์นิดหน่อย ต่างชาติหายไปพร้อมสถานการณ์โควิด-19” นพ. บุญยอมรับว่ามาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้ทั้งโลกหยุดชะงัก ธุรกิจโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะทำให้คนไม่อยากมาโรงพยาบาล เนื่องจากกลัวการแพร่ระบาด และปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องใหญ่ สถานการณ์ที่ทุกอย่างล็อกดาวน์แบบนี้ทำให้กำลังซื้อน้อยลง และธุรกิจโรงพยาบาลของไทยที่ผ่านมาถือว่ามีการแข่งขันสูง โรงพยาบาลเอกชนที่รักษาโรคทั่วไปเปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีอัตราการใช้บริการเฉลี่ยเพียง 60% เท่านั้น อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลในกลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์ ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 17 แห่งทั้งในและต่างประเทศ (จีน) ยังพอไปได้อัตราการใช้บริการในโรงพยาบาลของกลุ่มอยู่ที่ 75-80% ซึ่งถือว่ายังดีอยู่ แต่บางโรงพยาบาลที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงอาจไม่ดีนักแม้จะมีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันก็ยังมีการเปิดโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรักษาโรคทั่วไปเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเหลือเพียง 9-12% ต่างกับเมื่อ 25 ปีก่อน ที่ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตกว่า 15-20% ทำให้มีจำนวนโรงพยาบาลเอกชนเปิดใหม่สะสมกว่า 347 แห่ง และมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 30,000 เตียง (ข้อมูลจากการสำรวจโรงพยาบาลเอกชนของกองสถิติเศรษฐกิจ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2560 ซึ่งทำการสำรวจทุก 5 ปี) ดังนั้นจึงมีเพียงพอรองรับการให้บริการสำหรับ medical tourism ซึ่งข้อมูลจากกองสถิติเศรษฐกิจ สำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 ระบุว่า มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากถึง 4.2 ล้านรายยุคใหม่ Digital Medicine
ข้อมูลข้างต้นคือสถิติที่มีการสำรวจครั้งล่าสุดในรอบ 5 ปี จะเห็นได้ว่าจำนวนโรงพยาบาลและเตียงที่ให้บริการมีค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันสูง โรงพยาบาลต้องปรับตัว ซึ่งทิศทางในการปรับตัวก็เป็นไปตามยุคของเทคโนโลยี ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนนั้นเกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลก็กำลังเดินไปในจุดเดียวกัน ทั้ง telemedicine และ digital medicine คือการให้บริการของโรงพยาบาลที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นพ. บุญบอกว่า โรงพยาบาลธนบุรี เฮลท์แคร์ ได้ปรับตัวให้บริการทั้ง telemedicine และ digital medicine มาสักระยะหนึ่งแล้ว ช่วยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น สามารถให้บริการคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ โดยผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ผ่าน video call โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งเหมาะกับการรักษาแบบต่อเนื่อง เช่น การตรวจทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือนตามนัด ที่ปกติผู้ป่วยจะเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ไม่ต้องเดินทางมา แต่สามารถรับการตรวจและคำแนะนำจากแพทย์ ตลอดจนการสั่งจ่ายยาได้ตามปกติ นอกจากนี้การจัดการทุกอย่างในโรงพยาบาลจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยแทบทั้งหมด ไม่ว่าเป็นงานเวชระเบียนหรือการติดตามผล การดูแลผู้ป่วยก็ใช้ระบบดิจิทัล รวมทั้งการนำบล็อกเชนมาใช้สำหรับงานบริการที่ทำซ้ำ และสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลัง เป็นบิ๊กดาต้า ซึ่งทุกอย่างต้องพร้อมรองรับการให้บริการที่ทันสมัย รวดเร็ว นี่คือการพัฒนาในอนาคตนอกเหนือจากมาตรฐานการรักษาที่ต้องทำตามคุณภาพอยู่แล้ว “Digital is a must เรามีทีมอยู่แล้ว และจ้างทีมจาก Cambridge มาทำเรื่องบล็อกเชนเพื่อให้สามารถติดตามได้ง่ายขึ้น เรื่องบิ๊กดาต้าสำคัญ ทั้งการดูแลรักษา ลดคอสต์ และติดตามผล แต่เรายังมีกฎหมายเรื่องไพรเวซีอยู่ การนำข้อมูลไปใช้ไทยเรายังไม่เข้มงวดเหมือนต่างประเทศ ถ้าใช้ในแง่ระบาดวิทยาก็สามารถทำได้” นพ. บุญอัพเดทให้ฟังคร่าวๆ ถึงแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลในอนาคต เมื่อดิจิทัลมาทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ความพร้อมจะมีมากขึ้นการจัดเก็บฐานข้อมูลจะดีขึ้น รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเดิม ด้วยความพร้อมนี้จะทำให้ THG เดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 50 โรงพยาบาลภายใน 3 ปี ด้วยการเข้าเทคโอเวอร์ และพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งในจีน เวียดนาม และอีกหลายประเทศคลิกอ่านฉบับเต็ม Special Report – 7 ผู้นำธุรกิจ 7 เทรนด์เซตเตอร์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine