บุญชัย โชควัฒนา การปรับตัวของสหพัฒน์เร่งสปีดออนไลน์-ส่งออก - Forbes Thailand

บุญชัย โชควัฒนา การปรับตัวของสหพัฒน์เร่งสปีดออนไลน์-ส่งออก

ในอดีตหากพูดถึงสินค้าอุปโภคบริโภคคนอาจนึกถึงบริษัทข้ามชาติ แต่ยุคนี้ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่คือบริษัทคนไทยอย่างเครือสหพัฒน์ ที่แต่ละปีมียอดขายหลักแสนล้านบาท มีสินค้าหลากหลายตามต้องการ แต่การแข่งขันก็รุนแรงขึ้นเป็นเท่าตัว

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายกิจการต้องหยุดชะงักด้วยมาตรการล็อกดาวน์ แต่สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ถึงแม้จะปิดเมืองคนก็ต้องกินต้องใช้ทำให้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นและพึ่งพิงช่องทางขายผ่านศูนย์การค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นหลัก “สหพัฒน์เราก็ได้รับผลกระทบบ้าง เช่น การจดออร์เดอร์สินค้าทำไม่ได้ ร้านค้าไม่ให้เข้าการค้าขายก็ไม่สะดวก มีมาตรการล็อกดาวน์ห้างร้านก็ปิด ทำให้ค้าขายลำบาก” บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) สรุปผลกระทบคร่าวๆ ที่สหพัฒน์ได้รับในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเขาบอกว่า ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่มากเท่าธุรกิจอื่น เพราะผู้คนยังต้องบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และบางครั้งมีการกักตุนสินค้าก็ทำให้เกิดปัญหาผลิตไม่ทัน ส่งไม่ทันบ้างในช่วงที่เหตุการณ์แพร่ระบาดรุนแรง แต่ผ่านมา 2 เดือนสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ปัญหากักตุนสินค้าลดลง การผลิตและกระจายสินค้าก็ทำได้คล่องขึ้น ประธานกรรมการสหพัฒน์ประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะยืดเยื้อไปถึงปลายปี สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับตัว สหพัฒน์ก็ปรับตัวเช่นกัน จากปกติขายผ่านห้างค้าปลีก ร้านค้าต่างๆ ก็ต้องปรับไปขายออนไลน์มากขึ้น และปรับอย่างรวดเร็ว “โควิดเร่งให้การค้าวิ่งไปช่องทางออนไลน์เร็วขึ้น ทุกคนต้องปรับตัว เพราะการแข่งขันในช่องทางนี้ก็มีสูงไม่แพ้ช่องทางดั้งเดิม” แต่ถึงกระนั้นสหพัฒน์ก็ต้อง go online เป็นความจำเป็นของการปรับตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจทำให้สัดส่วนยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นแต่คงไม่มากนัก “สมมติว่าเดิมขายออนไลน์ 10% ในสถานการณ์นี้ก็อาจเพิ่มเป็น 15% ไม่ได้เพิ่มมาก เพราะออนไลน์ก็ไม่ใช่ง่าย การแข่งขันสูงมาก” แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะเทรนด์การบริโภคเดินมาทางนี้ ผู้จำหน่ายสินค้าก็ต้องตามให้ทันตลาด
สหพัฒน์
บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

เพิ่มลงทุนโลจิสติกส์-ดีซี

นอกจากตามตลาดขึ้นไปค้าขายบนออนไลน์แล้ว เทรนด์ที่มาแรงคือเรื่องของการกระจายสินค้า การขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งประธานกรรมการสหพัฒน์บอกว่าเป็นสิ่งที่บริษัทประเมินไว้อยู่แล้วว่าต้องมาหลายปีมานี้สหพัฒน์จึงลงทุนด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างมาก รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ที่แม้จะมีอยู่แล้วหลายแห่งแต่ก็ยังลงทุนดีซีใหญ่แห่งใหม่ที่ศรีราชา พื้นที่เกือบ 50,000 ตารางเมตร ไว้รองรับการสต็อกและกระจายสินค้า เนื่องจากที่ศรีราชาเป็นฐานการผลิตสำคัญของเครือสหพัฒน์มีหลายบริษัทตั้งโรงงานอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชา ชลบุรี เนื้อที่กว่า 1,600 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมถึง 81 โรงงาน การตั้งศูนย์ดีซีขนาดใหญ่ในศรีราชาก็เพื่อรองรับการกระจายสินค้าของโรงงานต่างๆ ให้คล่องตัวขึ้น “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาปัจจุบันคนสั่งซื้อไม่มาที่ร้านแบบปกติ การส่งของจึงจำเป็น เราต้องจัดระบบโลจิสติกส์ซัพพลายเชนให้กระชับขึ้น เร็วขึ้น เราลงทุนโลจิสติกส์เพิ่มเติมในปี 2563-2564 จะมี distribution center ใหม่เสร็จภายในต้นปีหน้าที่ศรีราชา เป็นศูนย์ผลิตใหญ่ ที่นั่นเรามีโรงงานไลอ้อน, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ แวร์เฮ้าส์ที่นั่นใหญ่ ทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ” เป็นอีกก้าวของการลงทุนที่บุญชัยบอกว่า สหพัฒน์มองเรื่องโอกาสและการขยายธุรกิจ เพราะยอดขายสหพัฒน์เติบโตต่อเนื่องทุกปี แม้ในปี 2563 จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่สหพัฒน์คาดว่าจะทำรายได้ปีนี้เติบโตราว 4% จากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะโต 6% จากฐานรายได้ที่ 4 หมื่นล้านบาทสำหรับสหพัฒน์ และกว่าแสนล้านบาทสำหรับทั้งเครือ ซึ่งเชื่อว่ายอดขายยังคงเติบโต แต่อาจจะชะลอตัวไปบ้างตามสถานการณ์และช่องทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร การค้าขายออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน “ตลาดออนไลน์จะโตเร็วขึ้นแต่สนามนี้ก็แข่งขันกันดุเดือด ไม่ใช่ใครจะสำเร็จได้ง่ายๆ” นอกจากช่องทางการตลาดที่เปลี่ยนไปแล้ว บุญชัยบอกว่า อีกสิ่งที่สหพัฒน์ทำมาตลอดคือการพัฒนาด้านไอที ในยุคนี้ยิ่งต้องพัฒนาให้เร็วกว่าปกติ การแข่งขันการค้าเร็วมาก เราจะเห็นว่าบริษัทต่างชาติมาลงทุนในไทย มาทั้งเม็ดเงิน เทคโนโลยีทุกอย่างพร้อม แต่บริษัทคนไทยอย่างสหพัฒน์ก็พยายามปรับตัวให้เท่าทันบางอย่างก็ก้าวหน้ากว่า เช่น สหพัฒน์ลงทุนไอทีมานานแล้ว มีระบบแวร์เฮ้าส์แมเนจเมนต์ที่ทันสมัย เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเอง มีระบบจัดเก็บสินค้า ระบบ picking สินค้า (หยิบสินค้าออก) ที่ทันสมัยมาก  

เพิ่มไลน์สินค้าส่งออก

บุญชัยบอกว่า ยอดขายของสหพัฒน์ส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ แต่ในอนาคตตลาดต่างประเทศคือเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น และคาดหวังการเติบโตถึง 100% เนื่องจากฐานเดิมยังไม่สูงมาก “ถ้าเป็นบริษัทคนไทยแล้วขายในประเทศอย่างเดียวคงโตยาก ตลาดเราคือทั้งโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย” ประธานกรรมการสหพัฒน์ย้ำและว่า รูปแบบการไปเจาะตลาดต่างประเทศจะมีทั้ง ขายผ่านตัวแทนคู่ค้า รวมทั้งมองโอกาสนำสินค้าส่งออกไปจำหน่ายร้านค้าปลีกที่เป็นเครือข่าย ซึ่งมีโอกาสมากพอสมควร “ตอนนี้สินค้าที่ขายในภูมิภาคเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน สินค้าเด็กของไลอ้อน ผงซักฟอก 108 Shop ซื่อสัตย์ บะหมี่สำเร็จรูป และบะหมี่สำเร็จรูป แบรนด์ไอหมี่ ที่ผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะส่งไปขายที่ยุโรปและจีน เป็นตัวอย่างการทำตลาดส่งออกที่บุญชัยบอกว่า ในโลกการค้ายุคใหม่สหพัฒน์จะเน้นส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยวิชั่นที่มองว่า ตลาดของบริษัทคือทั้งโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประธานกรรมการสหพัฒน์บอกว่า อีก 3 ปีข้างหน้ารูปแบบการค้าคงเปลี่ยนแปลงไปมาก อาจจะเห็นสัดส่วนการขายออนไลน์เพิ่มขึ้นมาเป็น 30% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 10% ขณะเดียวกันตลาดส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นช่องทางการขายต่างประเทศพัฒนาไป แต่ก่อนใครๆ ก็รู้ว่าสหพัฒน์เน้นตลาดในประเทศ แต่ในอนาคตการบุกเบิกช่องทางต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น และจะขยายไปทั่วโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป ยุโรปตะวันออกรัสเซีย จีน ส่งสินค้าไปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ตัวเองมากขึ้น “โอกาสตลาดต่างประเทศมีสูง ที่ผ่านมาเราเข้มแข็งในประเทศ สนใจต่างประเทศน้อย แต่ตอนนี้เรามองว่า ตลาดเราคือทั้งโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม Special Report - 7 ผู้นำธุรกิจ 7 เทรนด์เซตเตอร์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine