การบรรจบกันระหว่างเส้นทางธุรกิจของสตาร์ทอัพที่ต้องการทำฝันให้เป็นจริงและผู้ร่วมลงทุน หรือ Venture Capital ที่สามารถสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจใหม่อนาคตไกลสามารถขยับเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นปั้นดินให้เป็นดาวเพื่อให้เกิดดอกผล หรือผลตอบแทนในหลายรูปแบบ
การตัดสินใจนำเงินมาร่วมทุนในธุรกิจใหม่ของธุรกิจร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั่นหมายถึงการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องแบกรับภาระการบริหารเงินทุนผู้ถือหุ้น ส่งผลให้ VC ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาหาธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจ การประเมินทัศนคติหรือฝีมือผู้บริหาร และพิจารณาศักยภาพการพัฒนาต่อยอด รวมทั้งเส้นทางการฝ่าด่านอรหันต์ของแต่ละธุรกิจพร้อมพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจระยะยาวในโลกของการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งทุกคำถามต้องสามารถให้คำตอบได้ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ตลอดเวลา สำหรับในปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก สำหรับ VC ในการเดินหน้าเฟ้นหาแผนธุรกิจที่ใช่เพื่อการลงทุนหรือมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจจากโจทย์โหดหินที่ประเดิมต้นปีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการปิดเมืองเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งต้องเผชิญกับผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่ปิดตัวลงรายวัน ทำให้การลงทุนในสตาร์ทอัพยิ่งมีความเสี่ยงและต้องระมัดระวังมากขึ้นมูนช็อตเปิดโลก VC
นับจากเริ่มต้นก่อตั้ง บริษัท มูนช็อต เวนเจอร์ แคปปิตอล ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2561 ได้ เริ่มดำเนินธุรกิจร่วมลงทุนแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 300-400 ล้านบาทจากเป้าหมายตั้งกองทุนร่วมลงทุน 1 พันล้านบาท โดยให้ความสนใจหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมโลจิสติกส์พลังงานใหม่ พลังงานทดแทนภายใต้การบริหารงานของ ทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มูนช็อต เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด สำหรับสตาร์ทอัพที่บริษัทได้เข้าร่วมลงทุน ได้แก่ บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด พัฒนาระบบ SaaS ซึ่งเป็นอุปกรณ์ก่อสร้าง ใช้สำหรับกลุ่มธุรกิจการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงบริษัทในอิสราเอล 2 แห่ง คือ บริษัท Cyeses ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และบริษัท Blender ทำธุรกิจการเงินเกี่ยวกับการให้กู้ยืม P2P หรือกู้ระหว่างบุคคลที่มีระบบ AI ในการทำ credit scoring ขณะที่หลักเกณฑ์การเลือกลงทุนส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเป็น Deep Tech (มีการคิดค้นและพัฒนาระบบเทคโนโลยีขั้นสูง) หรือ Industrial Tech “ในอิสราเอล เรามองธุรกิจ P2P มานานแล้ว เนื่องจากสนใจระบบหลังบ้าน ทั้งการวิเคราะห์ การมีระบบ AI และการทำ credit scoring ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงผู้ให้กู้ นอกจากนี้ยังมีทีมบริหารมือหนึ่ง เทคโนโลยีของบริษัทที่เราร่วมลงทุนถือว่ายอดเยี่ยม ที่สำคัญ valuation หรือมูลค่ากิจการไม่สูงมาก” ซีอีโอหนุ่มกล่าวถึงสาเหตุการไปร่วมลงทุนในอิสราเอล ซึ่งการร่วมทุนในสตาร์ทอัพที่เป็น Deep Tech ส่วนใหญ่จะมองไปที่ประเทศจีน และอิสราเอล โดยจีนมี fund จำนวนมากอยู่แล้ว ขณะที่อิสราเอลมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ดีและมีนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังสามารถขยายไปยังสหรัฐอเมริกาได้ด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนในสตาร์อัพของมูนช็อต อันดับแรกคือ การพิจารณาถึงสิ่งที่สตาร์ทอัพทำว่าได้แก้ปัญหาอะไรที่เป็น pain point และมีผลกระทบหรือ impact แค่ไหน โดยมูนช็อตจะเน้นความสนใจที่ Deep Tech นวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเก่าๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งการพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ต่อยอดหรือสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ร่วมลงทุน “การจะเข้าไปหรือใส่เงินลงทุน เราจะต้องเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก่อน กรณีเข้าไปร่วมลงทุนเป็นเวลา 3 ปีแล้วจึงผลักดันเข้าตลาดหุ้น หรือถ้าเป็น Early Stage ของสตาร์อัพนั้น เราก็ต้องช่วยให้เขาค่อยๆ ไป จนสามารถเติบโตได้” ทวันทว์กล่าวถึงแผนงานร่วมลงทุนสตาร์ทอัพในปีนี้ประมาณ 2-3 ราย เช่น สตาร์ทอัพไทยประเภทโรโบติก AI IOT (Internet of Things) ซึ่งจะมีกระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้ตัดสินใจ ด้วยการใช้หลักความพร้อมของผู้ก่อตั้ง ความเชี่ยวชาญในโปรเจกต์ที่นำเสนอ รวมทั้งทีมงาน ซึ่งปกติสตาร์ทอัพจะมีทีมงานไม่เกิน 3 คน ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (CFO) และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) “สรุปให้เข้าใจง่ายคือ การพิจารณาสตาร์ทอัพที่มีความเก่งต้องมีความครบทุกองค์ประกอบ เพราะต้องเดินหน้าธุรกิจเพื่อสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด”SAE หนุนสตาร์ทอัพมืออาชีพ
อัคพันธุ์ อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท สยาม อัลฟ่า เอคควิตี้ จำกัด (SAE) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารเงินลงทุน 1 พันล้านบาท ให้กับหน่วยงานภาครัฐเปิดเผยว่า กองทุนดังกล่าวมีอายุ 8 ปี เริ่มบริหารเงินลงทุน ตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมาโดยเลือกลงทุนบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี (SME) ที่มีศักยภาพการเติบโต ซึ่งกองทุนดังกล่าวลงทุนไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท ทั้ง 2 ประเภท รวม 5 บริษัท เฉลี่ยเงินลงทุน 100 ล้านบาทต่อบริษัท กระจายไปในหลากหลายธุรกิจ เช่น อาหาร นวัตกรรมด้านการเงิน บริการ ระบบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำางานและลดแรงงานคนในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับเป้าหมายการลงทุนของกองทุนมุ่งเน้นสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีของไทยเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตในประเทศได้อย่างแข็งแกร่งและพร้อมที่จะขยายไปต่างประเทศได้ โดยกองทุนและ SAE เหมือนเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้เติบโต สนับสนุนเงินทุนความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และเครือข่ายธุรกิจ ขณะที่บริษัทจะใช้ความชำนาญด้านการผลิต เทคโนโลยีและการขายเพื่อช่วยสร้างความเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน “การลงทุนในสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีกองทุนต้องการช่วยให้ธุรกิจเติบโต ไม่ได้คาดหวังเข้าไปเป็นเจ้าของ จึงถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 ถึงจุดหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนด 3-5 ปี กองทุนต้องออกจากการลงทุนเมื่อถึงเวลา เช่น บริษัทมีรายได้ หรือกำไรโตต่อเนื่อง พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทเติบโตดีและมีผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาช่วยให้บริษัทเติบโตและขยายต่อไป ซึ่งทาง SAE มีเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนขั้นต่ำ 2-3 เท่าของเงินที่ได้ลงทุนไป” หลักการเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปคือ การพิจารณาแผนการเติบโตของธุรกิจ (Business Model) แนวทางการเติบโต (Growth) และแนวโน้มการขยายธุรกิจ (Scale Up) การเพิ่มรายได้และการทำกำไรอย่างยั่งยืน รวมถึงโอกาสในการขยายไปต่างประเทศ วิสัยทัศน์ของเจ้าของธุรกิจ ความรู้ความสามารถของทีมงานผลประกอบการย้อนหลัง และความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกองทุนในแบบมืออาชีพ สำหรับเงินลงทุนที่เหลือ 500 ล้านบาท โดยประมาณภายใน 2 ปีข้างหน้าอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกธุรกิจเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรม มีศักยภาพที่จะเติบโตและทำกำไรได้ โดยเฉพาะธุรกิจและเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมและสามารถสร้างการเติบโตได้สูงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เช่น อี-คอมเมิร์ซ ฟินเทค Automation AI เป็นต้นไพร์มสตรีทคัดธุรกิจโฟกัส ESG
บทบาทการลงทุนในสตาร์ทอัพ เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย นำโดย วิฤทธิ์ วิจิตรวาทการ และ ศุภวัฒก์ ชลวรณิช รวมถึง พรสิทธิ์ ภูวนากิจจากร กรรมการบริหาร บริษัท ไพร์มสตรีท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบริหารกองทุนสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจในแวดวงการลงทุน “ปัจจุบัน ไพร์มสตรีทแคปปิตอลมีกองทุนร่วมลงทุนบริหารอยู่จำนวน 500 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยไปแล้ว 6 บริษัท ซึ่งอยู่ในธุรกิจด้านการให้บริการ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสุขภาพ” วิฤทธิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กล่าวถึงความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สำหรับ บริษัท ไพร์มสตรีทแคปปิตอล จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ไพร์ม สตรีทกรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการด้านที่ปรึกษาการเงิน (Financial Advisory) ด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) และด้านที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (Management Consulting) จึงสามารถให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ลงทุนได้ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผ่านกระบวนการควบรวมกิจการได้สำเร็จ ขณะที่เกณฑ์ในการคัดเลือกสตาร์ทอัพเพื่อการลงทุน บริษัทใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปเช่นเดียวกับกองทุนอื่น และให้ความสนใจกับธุรกิจของสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน หลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการลงทุนแล้ว บริษัทและไพร์มสตรีทกรุ๊ปจะให้ คำแนะนำและให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในการแก้ไขจุดบกพร่องและเสริมสร้างจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทยังวางเป้าหมายการลงทุนคือ การนำเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากสตาร์ทอัพในต่างประเทศที่กองทุนนี้ลงทุนมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ผ่านการประสานงานกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจของสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และนำไปสู่การขับเคลื่อนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยในที่สุดเรื่อง: วิไล อักขระสมชีพ / Ray Rhoda
อ่านเพิ่มเติม: วางแผนการลงทุน ผ่านการประกันชีวิตและสุขภาพคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine