การลงทุนใน "ทองคำ" เป็นสินทรัพย์ทางเลือก - Forbes Thailand

การลงทุนใน "ทองคำ" เป็นสินทรัพย์ทางเลือก

ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวในปีนี้ การลงทุนในทองคำเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่จะสร้างผลตอบแทนได้และเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องสูง

นักลงทุนทั่วโลกนิยมลงทุนทองคำนับตั้งแต่ปี 2544 จากการลงทุนของกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) รวมถึงแรงหนุนจากการขยายตัวของชนชั้นกลางในเอเชียวิกฤตการเงินปี 2551-2552 ในสหรัฐฯ และยุโรปทำให้นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนมายังทองคำมากขึ้น นักลงทุนนิยมกระจายการลงทุนมายังทองคำ 5-15% ของพอร์ตการลงทุน โดยมีช่องทางการลงทุนด้วยการซื้อทองคำแท่งหรือเหรียญทองคำ การลงทุนผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ใน Gold Futures และ Gold-D ที่สามารถทำได้ทั้งช่วงราคาทองขาขึ้นและขาลง โดยใช้เงินทุนน้อยและเป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยง การลงทุนในทองคำผ่านระบบออนไลน์ และการลงทุนทองคำผ่าน ETF เช่น กองทุนเอสพีดีอาร์ (SPDR Gold Trust) ที่เป็นการลงทุนในทองคำที่ง่ายและไม่แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น การลงทุนทองคำควรเลือกผู้ค้าและโบรกเกอร์ทองคำที่มีความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตเป็นนายหน้าซื้อขายทองคำที่ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการนำเข้าและส่งออกรวมถึงผู้ซื้อขายทองคำแท่งมากกว่า 10 ราย ในส่วนโบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนซื้อขาย Gold Futures ใน TFEX มีทั้งหมด 40 รายสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ที่ www.tfex.co.th โดยมีโบรกเกอร์ที่เป็นบริษัทค้าทองคำ 5 แห่งคือ บจ.วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส, บจ.เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์, บจ.ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส, บลป.คลาสสิก ออสสิริส และ บจ.จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์

เอ็มทีเอส โกลด์ แนะมือใหม่

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก 1 ใน 3 ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำรายใหญ่สุดของประเทศไทย ประเมินว่าในวงจรของทองคำใหญ่แบบรายปี ราคาทองคำเป็นขาขึ้นจากการที่ภาวะราคาทองคำกลับมาทดสอบจุดต่ำสุดเมื่อปีที่แล้ว และ 2 ปีก่อนที่บริเวณ 1,150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จึงทำให้การที่ราคาดีดกลับขึ้นมานั้นมีทิศทางสดใสในปีต่อไป ปีนี้ภาพรวมทองคำเป็นทิศทางขาขึ้นได้ดีจากสภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น และเริ่มประกาศที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้น้อยลง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง จึงเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ราคาทองคำกลับมายืนเหนือ 1,300 เหรียญได้ โดยที่ในระยะยาว 4-5 ปีมีโอกาสสูงที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นไปจุดสูงสุดเดิม 1,900 เหรียญ ดังนั้นภาพรวมน่าจะลงทุนในทองคำประมาณ 8-15% ในพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของนักลงทุน ถ้ามีความเข้าใจมากก็จะมีน้ำหนักการลงทุนมากพอที่จะทำกำไรได้ 80% สำหรับการลงทุนทองคำปีนี้ จึงเหมาะสำหรับการลงทุนในรอบระยะ 3 เดือน ซึ่งใน 1 รอบนั้นผลตอบแทนทองคำจะอยู่ที่ 5-8% ในหน่วยของดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ขณะที่ทองคำในรูปบาทไทยจะมีผลตอบแทน 2-3% ตามสภาวะการแกว่ง โดยเปอร์เซ็นต์การแกว่งของทองคำนั้น นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง ทั้งนี้สามารถเปิด Short Position (สถานะขาย) ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) อย่าง Gold Futures เป็นต้น และนักลงทุนที่ลงทุนใน TFEX สามารถใช้ Margin (เงินกู้เพื่อลงทุน) เพื่อให้ได้กำไรจากการขึ้นและลงของทองคำได้มากขึ้นจากระดับ 2-3% ดังกล่าวข้างต้น และนักลงทุนสามารถทำ Leverage (ลงทุนด้วยเงินจำนวนมากโดยใช้เงินทุนเล็กน้อย) จาก 2-10 เท่าได้ ถ้าเข้าใจและถูกทาง โอกาสที่ใช้ Leverage ร่วมด้วย อาจทำให้มีกำไรได้มากถึง 30-50% เช่นกัน “Gold Futures ใช้เงินขั้นต่ำหลักหมื่น แต่การลงทุนที่เหมาะสมและควรจะมีคือไม่น้อยไปกว่า 30,000 บาทขึ้นไป เพราะราคาทองคำมีมูลค่าสูง เพราะ 30,000 บาทนักลงทุนรายย่อยจะสามารถลงทุนได้ 2-3 สัญญา แต่นักลงทุนควรใช้เงินลงทุน 100,000-300,000 บาทมากกว่า เพราะการลงทุนมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดบ้าง และนักลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยงด้านการลงทุนตามไปด้วย เพราะการลงทุนอาจจะมีการลงทุนผิดทาง ผิดพลาด หรือขาดทุน ซึ่งเงินที่ใช้ลงทุนควรรองรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง”  

วายแอลจีมองราคาทองแตะ 1,400 เหรียญ

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทผู้นำเข้าและส่งออกทองคำรายใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของไทย (ส่วนแบ่งการตลาด 30%) นำเข้าและส่งออกเท่ากับบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก (2498) จำกัด และบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัซ จำกัด มีมุมมองต่อภาพรวมราคาทองคำในปีนี้ว่า มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ 1,400 เหรียญต่อออนซ์ได้ ถ้าเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ที่เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจชะลอตัว “ปีนี้คาดว่าจะเห็นราคาทองไปที่ 1,400 เหรียญ ทองคำอยู่ในช่วงกลับตัวมาเป็นขาขึ้นและจะเห็นการขึ้นอย่างชัดเจนปีหน้าที่ราคาจะไปแตะ 1,500 เหรียญต่อออนซ์ โดยวงจรราคาของทองมองเป็นรอบ ที่ผ่านมาราคาทองคำลดลงมาตั้งแต่ปี 2555 และราคาถึงจุดต่ำสุดแล้วในปี 2560 โดยขณะนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ปี 2561 ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวลดลง 20.45 เหรียญต่อออนซ์ หรือลดลง 1.6% จากราคาเปิดต้นปีวันที่ 2 มกราคม 2561 มาอยู่ที่ 1,302 เหรียญต่อออนซ์ มาอยู่ที่ 1,282.18 เหรียญต่อออนซ์ ที่นับเป็นการปรับตัวลดลงรายปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 พวรรณ์กล่าวว่า กองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) ควรลงทุนทองคำ 5-20% ของพอร์ต และถ้าเป็นการถือทองคำเพื่อความปลอดภัยของพอร์ตควรอยู่ในระดับ 20-25% เพื่อสร้างความสมดุลสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนทองคำ ควรประเมินตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด โอกาสได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน กรณีขาดทุนจะตัดขาดทุนตรงไหน โดยนักลงทุนทองคำแท่งไม่ควรทุ่มเงินลงทุนเกิน 30% ของเงินทุนที่มี และหากลงทุนในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) จะใช้เงินลงทุนเพียง 10% ของพอร์ต นอกจากนั้นควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในทองคำว่าต้องพิจารณาปัจจัยใดประกอบบ้าง อาทิ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโรของสหภาพยุโรป การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางของสหรัฐฯ และยุโรป ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์เสี่ยง เป็นต้น และควรมีการศึกษาปัจจัยทางเทคนิคเพื่อกำหนดจุดซื้อขาย และเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือตอบโจทย์ความต้องการลงทุนของตัวเอง และพิจารณาเงื่อนไขและข้อกำหนดการลงทุนอย่างละเอียดหลังจากนั้นมีการประเมินผลทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อปรับพอร์ตการลงทุน  

ออสสิริสแนะกระจายการลงทุนในทอง

บุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด กลุ่มค้าทองคำที่เพิ่งได้ใบอนุญาต บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน คลาสสิก ออสสิริส จำกัด สามารถเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าลงทุนอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็น การออมทอง, การซื้อขายทองคำออนไลน์, Gold Futures และเป็นบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด และบริษัท ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด บุญเลิศ มองว่า ราคาทองคำปีนี้มีโอกาสขึ้นไปทดสอบกรอบราคาสุงสุดเดิมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ราคา 1,365-1,390 เหรียญต่อออนซ์ โดยปัจจัยหลักมาจาก Fed ประกาศจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรอเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว และแนวโน้มการซื้อทองคำแท่งเพื่อการลงทุนรวมทั้งการสำรองทองคำของธนาคารประเทศต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้รายงานของ World Gold Council มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับทองคำคือ ทองคำสามารถทำหน้าที่ได้ 4 ประการในพอร์ตการลงทุน คือ ประการแรก สร้างผลตอบแทนระยะยาว โดยในระยะเวลาลงทุน 10 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.2% ต่อปี และ 8.77% ในระยะเวลาลงทุน 20 ปีที่ผ่านมา (ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ) ประการที่ 2 ช่วยกระจายความเสี่ยงที่ลดการขาดทุนของพอร์ตโดยรวมในช่วงที่ตลาดไม่ดี ประการที่ 3 ปลอดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ และมีสภาพคล่องสูง ประการที่ 4 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตโดยรวมยิ่งพอร์ตที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มาก ควรมีสัดส่วนการถือทองคำที่มากขึ้นกว่าพอร์ตที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่น้อย เช่น พอร์ต 60/40 (ลงทุน 60% ในหุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และทองคำ อีก 40% ในเงินสดและพันธบัตร) ควรมีสัดส่วนการถือทองคำที่ 4.9% ขณะที่พอร์ต 80/20 (ลงทุน 80% ในหุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์, REITs และทองคำ อีก 20% ในเงินสดและพันธบัตร) ควรมีสัดส่วนการถือทองคำที่ 9% เป็นต้น ทองคำได้กลายเป็นสินทรัพย์หลักตัวหนึ่งในพอร์ตการลงทุนตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ Lehman Brothers ในปี 2551 ซึ่งก็ครบ 10 ปีไปแล้วในปี 2561 ที่ผ่านมา เหตุการณ์นั้นได้สร้างความต้องการจากภาคการลงทุน และค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางสูงสุดในรอบ 50 ปี โดยมีการถือครองเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 651.5 ตัน และผลสำรวจของ World Gold Council พบว่าเกือบ 1 ใน 5 ของธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณว่าจะเข้าซื้อทองคำอีก 12 เดือนข้างหน้า เรื่อง: เจียรนัย อุตะมะ
คลิกเพื่ออ่านบทความฉบับเต็มของ "คริปโตเคอเรนซี ปีนี้ไม่หวือหวา" ได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูปแบบ e-Magazine

Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้