ในโลก การลงทุนในนาฬิกา ที่มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นหลัก สามารถขยายขอบเขตการลงทุนไปยังสิ่งที่รักหรือชื่นชอบส่วนตัว หากมีความรู้ความเข้าใจมากพอก็ย่อมสามารถทำกำไรจากพอร์ตของรักของหวงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การลงทุนในสิ่งที่รัก หรือ Passion Investment เป็นแนวโน้มที่มหาเศรษฐีในโลกนี้ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ งานศิลปะ การลงทุนในทีมกีฬา ของสะสมประเภทเพชรพลอยและนาฬิกา ของหรูหราที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น เรือยนต์ เรือยอชต์ เรือบิน รวมถึงของสะสมอื่นๆ เช่น ไวน์ เหรียญ หรือของเก่าประเภทโบราณวัตถุ โดยเฉพาะนาฬิกาทียั่งคงเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนยอดนิยมตลอดกาล
“พอร์ตนาฬิกาของผมมีจุดเริ่มต้นจากการรู้ตัวเองว่า ผมไม่อาจรักและมีความสุขกับอะไรได้มากไปกว่านาฬิกา” พชร คุ้มพงษ์ สถาปนิกและเจ้าของร้านนาฬิกา
Pixiu Watch กล่าวถึงความหลงใหลในนาฬิกาตั้งแต่อายุ 23 ปี และเลือกเส้นทางธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนนาฬิกาเต็มตัว ตั้งแต่ระดับกลางถึงไฮเอนด์ ทั้งมือสองและมือหนึ่งของแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แบรนด์ดังจากยุโรป ภายใต้ชื่อแบรนด์ Pixiu หรือผีซิ่ว บางคนออกสำเนียงว่า ผีเซี่ยะ สัตว์มงคลเรียกลาภเรียกทรัพย์ตามคติจีนนั่นเอง
จากการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม และการทำงานด้านดีไซน์มาตลอด ทำให้พชรเกิดความหลงใหลในงานดีไซน์ของนาฬิกาและเริ่มซื้อนาฬิกาแบรนด์ Corum Bubble ของสวิตเซอร์แลนด์จากรุ่นพี่ ซึ่งเป็นนาฬิกาที่มีมูลค่าเรือนแรกในชีวิตตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ชั้นปีสุดท้ายในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมศึกษาและสะสมนาฬิกามาโดยตลอด ด้วยความกระหายในวิทยาการและความปรารถนาครอบครองนาฬิกาแบรนด์เก่าแก่โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลกที่มีระยะเวลาอันยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์ เปรียบเสมือนการยอมรับนับถือในความงามอันเป็นเลิศและเทคนิคกลไกนวัตกรรมที่ก้าวล้ำ
“ช่วงแรกมีงบ 200,000-300,000 บาท เราก็จะเล่นวนได้ 5-6 ตัว พอถึงจุดที่ต้องการเล่น 400,000-500,000 บาท เราไม่สามารถไปต่อได้ จากนั้น จึงเริ่มซื้อลงทุนไว้เพื่อทำกำไร เพื่อให้สามารถเล่นนาฬิกาที่แพงขึ้นได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนในนาฬิกามือสองอย่างแท้จริง”
พชรยังคงระลึกถึงข้อจำกัดของการสะสมนาฬิกาในอดีต ซึ่งจำเป็นต้องขายเรือนเก่าก่อนเปลี่ยนเรือนใหม่ รวมถึงประสบการณ์ชั่วโมงบินน้อย ส่งผลให้ทุกครั้งที่ขายเรือนเก่าต้องยอมเจ็บตัวหรือขายขาดทุน พร้อมยกตัวอย่างนาฬิกาแบรนด์สวิตเซอร์แลนด์ Corum ซึ่งซื้อในราคาหลักแสน แต่ต้องขายขาดทุน 8-9 หมื่นบาท
ดังนั้น พชรจึงเริ่มสนใจตลาดนาฬิกามือสอง ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายหมุนเวียนสูงและความต้องการสูง รวมถึงผลตอบแทนน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ตลาดมือสองถือเป็นตลาดปราบเซียน เพราะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและทำการบ้านเป็นอย่างดี พร้อมทั้งต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเลือกนาฬิกาที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในอนาคต
พชร คุ้มพงษ์ สถาปนิกและเจ้าของร้านนาฬิกา Pixiu Watch
ในปีแรกที่เริ่มโดดเข้ามาในตลาดนาฬิกามือสอง สารภาพว่าเจ็บค่อนข้างมาก ปีแรกขาดทุนเกือบ 1 ล้านบาท เปรียบไปก็เหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้น ผิดเองที่เลือกหุ้นผิดตัว หลังจากผ่านพ้นช่วงเจ็บตัวมา เราต้องเรียนรู้และจดจำประสบการณ์ความเจ็บปวด ทุกบทเรียนคือครูราคาแพง ซึ่งเราผ่านมาเยอะจนถึงจุดที่บอกตัวเองได้ว่าเราแม่นยำเพียงพอและการซื้อขายในราคาที่เหมาะสมเกิดขึ้นยอดนิยมตลอดกาล เช่น Audemars Piguet หรือ AP, Patek Philippe และ Rolex เป็นต้น
ส่วนตลาดนาฬิกาเพื่อการสะสมเป็นตลาดที่มีความพิเศษและคุณสมบัติเฉพาะตัวโดยถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เพราะผู้บริโภคในตลาดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มองการซื้อขายนาฬิกาเหมือนการซื้อขายหุ้นแต่สนใจลงทุนตามความชอบและรสนิยมส่วนตัว ดังนั้น นาฬิกาจึงได้รับการเก็บสะสมในฐานะของงานศิลปะ ด้วยความซับซ้อนของกลไกที่ละเอียดลึกซึ้ง เน้นความซับซ้อนและการใช้งานจริง รวมถึงความเป็นสุดยอดทางนวัตกรรม เช่น กลไก Tourbillon
“Pixiu ดูแลลูกค้าค่อนข้างเฉพาะกลุ่มหรือเรียกว่า กลุ่ม Complicated Watch โดยผมจะบอกกับลูกค้าว่า ถ้าเล่นนาฬิกาอย่ามองเรื่องรสนิยมความชอบอย่างเดียว หรืออย่าเล่นนาฬิกาเพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ให้บาลานซ์ทั้งความชอบและการลงทุนเข้าด้วยกัน ซึ่งยั่งยืนกว่าและจะไปต่อได้ ปีนี้เล่น 5 เรือน แต่อย่างน้อยให้มี 1 เรือน ที่ใช้ขายทำกำไรได้คุ้มขาดทุน โดยในเรื่องนี้ Pixiu ก็รับดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย”

สำหรับวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลก พชรกล่าวว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีลูกค้าที่ปล่อยของบ้าง แต่ส่วนใหญ่เพียงแค่เลือกที่จะเปลี่ยนเรือนหรือแลกลงทุนเรือนใหม่ ซึ่งสถานการณ์หยุดเชื้อเพื่อชาติทำให้ลูกค้ามีเวลาศึกษาข้อมูลได้มากขึ้น และมีความต้องการนาฬิกาเพิ่มขึ้น
“ตลาดนาฬิกามือสองกำลังเป็นตลาดที่ทำกำไร และให้ผลตอบแทนที่ดีมากที่สุดปีหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” พชรกล่าวถึงความต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสูงขึ้นในตลาดมือสอง
ขณะที่นักเล่นนาฬิกาหน้าใหม่ควรเริ่มจากการพิจารณางบประมาณส่วนตัวก่อน การลงทุนในนาฬิกา ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง แต่เน้นไม่ให้เป็นการลงทุนที่เกินตัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้และสะสมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจนเกิดวินัยในตัวเอง พร้อมทั้งการมีที่ปรึกษาการลงทุนที่ดี
“ลงทุนไว้แต่ไม่มีที่ปล่อยต่อก็เท่ากับศูนย์ถ้าคุณคิดจะไปยาวๆ คุณต้องมีที่ปล่อยของที่สำคัญควรซื้อกับผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น สามารถการันตีราคารับซื้อที่เป็นมาตรฐาน ทำกำไรได้เมื่อต้องการ”

สุดท้าย นักธุรกิจหนุ่มแห่ง Pixiu ให้ความเห็นถึงการลงทุนในพอร์ตนาฬิกาหรูว่า เป็นการลงทุนในสิ่งที่รัก กำไรจึงไม่ได้วัดจากตัวเงินหรือผลกำไรเท่านั้น แต่เป็นความสุขส่วนตัวที่ได้สัมผัสหรือครอบครองเรือนเวลาในฝัน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าตั้งแต่การได้สวมใส่ใช้งานจนถึงผลกำไรจากการลงทุน
“เทคนิคในการจัดพอร์ตคือ การจัดบาลานซ์ระหว่างความรู้ (ข้อมูล) กับความรัก (แพสชั่น) ซึ่งต้องรักจริง ถ้าวันไหน “ติด” หรือขายไม่ออก ต้องอยู่กับมันให้ได้ ไม่รู้สึกว่าต้องทนหรือแบกของหนักอยู่บนดอย”
เรื่องโดย: นิธิวดี สัมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม:
ปรับกลยุทธ์ “ลงทุนทอง” ภูมิคุ้มกันจากโควิด-19
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine