ปรับกลยุทธ์ "ลงทุนทอง" ภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 - Forbes Thailand

ปรับกลยุทธ์ "ลงทุนทอง" ภูมิคุ้มกันจากโควิด-19

กระแสตื่นทองยุควิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี และทำให้การ ลงทุนทอง กลายเป็นพระเอกในพอร์ตการลงทุนอีกครั้งในสภาวการณ์เศรษฐกิจติดลบทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนอาจต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางของราคาทองและส่วนต่างระหว่าง Gold Futures ตลาด COMAX กับ Gold Spot ที่เพิ่มมากขึ้น

ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะ 1,747 เหรียญต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 7 ปี ตลาดทองคำเกิดปรากฏการณ์คนแห่ขาย หรือที่เรียกว่าตลาดทองแตก คนแห่เข้าคิวหน้าร้านทองยาวเหยียดเพื่อขายทองคำในมือ ราคาทองคำวิ่งทะลุ 26,000 บาทไปเรียบร้อยตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2563 พร้อมกับส่วนต่างระหว่าง Gold Futures ตลาด COMAX กับ Gold Spot ซึ่งห่างออกจากกันมากขึ้น ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์การลงทุนทางเลือกตามหลักการจัดพอร์ตที่ปรึกษาการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงปีนี้ ที่เกิดสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลกจนเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2563 โดยนักวิเคราะห์และที่ปรึกษาการลงทุนแนะนำให้เพิ่มการลงทุนในทองคำจากร้อยละ 5 ในช่วงเวลาปกติเป็นร้อยละ 10 ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำของนักลงทุนทั่วโลกสะท้อนจาก SPDR กองทุนอีทีเอฟที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้ที่ซื้อทองคำเข้าพอร์ตต่อเนื่องส่งผลให้ถือครองทองคำทะลุ 1,000 ตันแล้ว   ขาขึ้นราคาทองคำ กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือเอ็มทีเอสโกลด์ แม่ทองสุก มองแนวโน้มราคาทองคำในปีนี้ยังเป็นขาขึ้นเนื่องจากทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) แม้ในรอบ 3 เดือนเศษ (ณ 14 เมษายน 2563) ราคาได้ปรับขึ้นแล้วกว่า 13% เท่ากับปี 2562 ทั้งปี โดยราคาทองคำในปีนี้น่าจะสามารถปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 หรืออยู่ที่ 1,836 เหรียญต่อออนซ์ จากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งการระบาดของ COVID-19 อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลกที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า “จะเห็นได้ว่ากองทุน SPDR ได้ถือครองทองคำทะลุ 1,000 ตันแล้ว ซึ่งกองทุนนี้เคยถือครองทองคำจำนวนมากช่วงวิกฤต Lehman Brothers หรือวิกฤตการเงินสหรัฐในปี 2551” นอกจากนี้ การปรับตัวของราคายังเกิดจากความต้องการซื้อ (demand) และกำลังผลิต (supply) ที่ไม่สอดคล้องกัน โดยในภาวะวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เหมืองทองคำปิดทำการ จึงทำให้กำลังผลิตลดลง ขณะที่มีความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนสูง จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้น โดยปีนี้เศรษฐกิจแย่กว่าช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปทดสอบที่จุดสูงสุดเดิมเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 1,930 เหรียญต่อออนซ์ หรือประมาณ 27,200 บาทต่อบาททอง
ลงทุนทอง
กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือเอ็มทีเอสโกลด์ แม่ทองสุก
ขณะเดียวกัน นายแพทย์กฤชรัตน์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนว่า แม้ในระยะยาวราคาทองคำจะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นแต่ตลาดทองคำยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในระยะสั้นโดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยเทคนิค กราฟราคาทองคำอยู่กลางเวฟ 3 ซึ่งภายใต้ความสูงชันนั้นก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนสูงเช่นกัน ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนควรเน้นเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น เข้าเร็ว-ออกเร็ว และอย่าทุ่มหมดตัว โดยให้แนวรับที่ 1,700 เหรียญต่อออนซ์ หรือประมาณ 25,600-27,000 บาทต่อบาททอง พร้อมย้ำว่าการลงทุนทองคำเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเวลาติดตามสถานการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนไม่ควรใช้เงินกู้ หรือมาร์จิ้นในสัดส่วนที่มากเกินไป โดยควรใช้มาร์จิ้นไม่เกิน 3 เท่าจะปลอดภัย เช่น เงินจำนวน 100,000 บาท ควรลงทุนในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ที่อ้างอิงราคาทองคำ (Gold Futures) ใช้มาร์จิ้นไม่เกิน 3 เท่า หรือ 300,000 บาท โดยราคาทองคำในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศให้แนวต้านระยะสั้น 1,750 เหรียญต่อออนซ์ และแนวต้านระยะกลาง 1,800 เหรียญต่อออนซ์   ทองคำ...ปลอดภัยในทุกวิกฤต ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากมองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง เนื่องจากทองคำมีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ และทองคำเป็นสินทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ในปริมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด (Tangible Asset) รวมทั้งทองคำไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ผ่านการดำาเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (expansionary monetary policies) โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน ดังนั้น นักลงทุนบางส่วนจึงใช้ทองคำเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่งคั่ง (Store of Wealth) และป้องกันความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินซึ่งการถือครองทองคำจึงช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk Adjusted Return) ของพอร์ตการลงทุน และช่วยเพิ่มผลตอบแทนพร้อมกับลดผลขาดทุนได้ โดยยังคงมีสภาพคล่องท่ามกลางความตึงเครียดในตลาด สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้เป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งในปีนี้มากถึงร้อยละ 1.5 สู่ระดับร้อยละ 0-0.25 โดยสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำถึงติดลบช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้ประกาศมาตรการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัด รวมถึงประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในวงเงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านเหรียญ เพื่อเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด
นอกจากนี้ การอัดฉีดเงินปริมาณมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยังกดดันการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และเกิดแรงซื้อเข้าสู่ตลาดทองคำ ไม่นับห่วงโซ่อุปทานทองคำที่ระบบโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การขนส่งทองคำทั้งทางบกและเที่ยวบินต่างๆ หยุดชะงัก สภาวะไม่ปกติของห่วงโซ่ที่ทำให้คนในวงการทองคำต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือความท้าทายที่สุดของอุตสาหกรรมทองคำทั่วโลก สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ราคาทองปรับตัวขึ้นมากแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้ถือครองทองคำควรรอจังหวะราคาอ่อนตัวลงและทยอยเข้าซื้อ หากราคาทองคำไม่หลุด 1,681-1,663 เหรียญต่อออนซ์ และควรเผื่อไม้ไว้สำหรับสะสมทองคำเพิ่มในระดับแนวรับที่ต่ำกว่า เพื่อรอขายทำกำไรหากราคาทองคำไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านที่บริเวณ 1,744-1,747 เหรียญต่อออนซ์ “ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าราคาทองคือวินัยในการลงทุน และนักลงทุนต้องจัดสรรเงินทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเงินทุนของตนเอง” ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์รวม 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ราคาทองคำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.92 เมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง S&P 500 ปรับตัวลดลงเฉลี่ยร้อยละ 22.01 ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 แต่ยังน้อยกว่าราคาทองคำ อ่านเพิ่มเติม: “ตลาดหมี” กองทุนฮีโร่ช่วยพ้น โควิด-19
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  

TAGGED ON