หุ้นไอพีโอ ระดับ “แม่เหล็ก" ความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย - Forbes Thailand

หุ้นไอพีโอ ระดับ “แม่เหล็ก" ความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

เมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกหุ้นดีราคาถูกเกลื่อนกระดาน จนอาจต้องชั่งใจระหว่างการช้อนเก็บหุ้นเดิมที่ราคากำลังปรับลงต่ำสุดหรือ หุ้นไอพีโอ ที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงรอบด้านทำให้หลายบริษัทต้องพับแผนการระดมทุน แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ยังมีหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ระดับ “แม่เหล็ก” ที่มีความมั่นใจแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นไทยในปีนี้

เมื่อ หุ้นไอพีโอ (Initial Public Offering หรือ IPO) เป็นเหมือน “ปรอท” วัดความร้อนแรงของตลาดหุ้นได้อีกช่องทางหนึ่ง หากช่วงไหนคึกคัก ก็จะได้เห็นบริษัทต่างๆ แห่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเม็ดเงินไปขยายกิจการ ซึ่งหลังจากหุ้นเข้าเทรดและราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในอดีต หุ้นไอพีโอได้รับความสนใจอย่างมาก หุ้นหลายตัวที่เข้ามาแล้ว วันแรกราคาปรับตัวขึ้นมาในระดับกว่า 100-200% ถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูอย่างมาก หลายบริษัทแห่เข้ามาจดทะเบียน จนมีบางวันมีหุ้นใหม่เข้าเทรดพร้อมกัน 2 บริษัท แต่ความร้อนแรงดังกล่าวก็ลดลง เป็นไปตามภาวะการซื้อขายหุ้นโดยรวม อย่างไรก็ตามในช่วงตลาดหุ้นซบเซาเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน อาจส่งผลให้หุ้นไอพีโอเหล่านี้ลดจำนวนลง โดยบริษัทต่างๆ อาจชะลอแผนกการระดมทุนก่อน ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ก็อาจจะต้องจำใจขายหุ้น ไอพีโอในราคาไม่สูง และเมื่อหุ้นเข้าเทรดก็ต้องไปลุ้นว่าราคาหน้ากระดานจะเป็นอย่างไร รวมถึงบริษัทที่มั่นใจในการเติบโตของบริษัท ที่จะสามารถเรียกความสนใจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนได้ ย้อนรอยหุ้นไอพีโอ “YGG-CRC” ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 มีบริษัทที่เสนอขายไอพีโอเพียง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ที่เปิดประเดิมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่ม Service เมื่อวันที่ 7 มกราคม ซึ่งได้เปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอจำนวน 45 ล้านหุ้น ในราคา 5 บาทต่อหุ้นรวมเป็นเงิน 225 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2562 เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและงานใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการลงทุนขยายอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ และลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยที่แคนาดา พร้อมขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาเหนือ ภายใต้เป้าหมายการเป็นดิสนีย์เมืองไทยและด้วยจุดแข็งในการเป็นผู้นำธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นงานด้านโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชันงานคอมพิวเตอร์กราฟิก และเกมคุณภาพมาตรฐานสากล ทำให้ YGG สามารถเปิดเทรดได้ที่ 5.35 บาท หรือเหนือราคาจอง 7% และปิดการซื้อขายที่ 6.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRC ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอันดับ 3 ของเวียดนาม รวมถึงผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี ได้ถือฤกษ์ 20-02-2020 เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็นบิ๊กดีลไอพีโอที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นหุ้นไอพีโอกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 2.53 แสนล้านบาท (รวมมูลค่าหุ้นที่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นของ ROBINS ที่ตอบคำเสนอซื้อหลักทรัพย์) โดยเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนี SET50 รวมถึง MSCI Global Standard Indexes ตามเกณฑ์ Fast-Track แต่ด้วยภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายด้านเข้ามารุมเร้า ทั้งสงครามการค้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และของไทย ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าจองจากราคาไอพีโอที่กำหนดไว้ที่ 42 บาทต่อหุ้น ปิดเทรดวันแรกลดลง 0.25 บาท หรือต่ำจองเพียงร้อยละ 0.60 อยู่ที่ 41.75 บาท ซึ่งมีราคาสูงสุด 42.25 บาท และต่ำสุด 41.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 7.64 พันล้านบาท โบรกฯ แนะรอประเมินสถานการณ์ จากสภาวการณ์การลงทุนโดยรวมที่อาจส่งผลกระทบต่อหุ้นไอพีโอ ทั้งนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้ โดยมุมมองของ เล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ให้ความเห็นว่า ตลาดไอพีโอในครึ่งปีหลังไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนยังกังวลต่อปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีโอกาสที่จะได้เห็นบริษัทเลื่อนการขายหุ้นไอพีโอออกไปก่อน โดยแต่ละบริษัทก็ต้องมีการปรับแผนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงชะลอการลงทุน และควบคุมรายจ่ายต่างๆ ซึ่งอาจจะเห็นบางบริษัทระดมทุนโดยการกู้เงินจากสถาบันไปก่อน “ในความเห็นส่วนตัวมองว่า หุ้นไอพีโอช่วงครึ่งปีหลังไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ คงจะเห็นการดีเลย์การเข้าตลาดหุ้นออกไปก่อน ดังนั้นแต่ละบริษัทจำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์” สำหรับลูกค้าของบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส ที่มีแผนจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นขณะนี้มีอยู่หลายบริษัท แต่ที่ยื่นไฟลิ่งไปแล้วมีหนึ่งบริษัท ได้แก่ บริษัท ไมโคร ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก ก.ล.ต. และหากได้รับอนุมัติก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ก่อน ด้าน ประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะว่าบริษัทที่จะขายหุ้นไอพีโอ นอกจากจะพิจารณาภาวะการซื้อขายของตลาดหุ้นโดยรวมแล้ว ยังต้องมองถึงราคาหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้ หุ้นในตลาดปรับตัวลงมามากทำให้มีหุ้นดีราคาถูกให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นในกระดาน หรือลงทุนในหุ้นไอพีโอได้ ซึ่งพิจารณาจากผลประกอบการของแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในปัจจุบันเมย์แบงก์ กิมเอ็งได้ชะลอแผนการนำลูกค้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM และ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึง บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ พร้อมทั้งเตรียมยื่นคำขอนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 4 บริษัท ซึ่งยังต้องรอประเมินสถานการณ์ของตลาดอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง หุ้นไอพีโอพับแผนระดมทุน จากการที่มีปัจจัยลบยังกดดันตลาดทำให้หลักทรัพย์บางตัวเลื่อนการขายออกไปก่อนนำโดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท หรือ CPNREIT ซึ่งมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ โครงการอาคารสำนักงานเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส โครงการอาคารสำนักงานยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ โครงการเซ็นทรัลมารีน่า โครงการเซ็นทรัลพลาซา สุราษฎร์ธานี โครงการเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี โครงการเซ็นทรัลพลาซา ลำปาง และโครงการเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 (ช่วงต่ออายุ) ด้วยสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงในปัจจุบันทำให้ผู้จัดการกองทรัสต์ตัดสินใจเลื่อนระยะเวลาการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มเติมอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมจะขายหน่วยทรัสต์ในวันที่ 13 และ 16-18 มีนาคม 2563 โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา CPNREIT ได้มีการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมบางส่วนแล้ว ได้แก่ โครงการอาคารสำนักงานเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส และโครงการอาคารสำนักงานยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ รวมถึงจะต่ออายุสิทธิการเช่าสำหรับโครงการเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 (ช่วงต่ออายุ) ตามกำหนดการเดิม นอกจากนี้ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB ยังประกาศชะลอการนำบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เลเท็กซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และการขายไอพีโอจำนวน 132.43 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 29.43% ของจำนวนหุ้นสามารถที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอเพื่อนำเงินไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนซื้อโรงงานในจังหวัดระยอง เพื่อขยายกำลังการผลิตหมอน การลงทุนก่อสร้างโชว์รูม และเงินทุนหมุนเวียนในกิจการสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต วรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB เปิดเผยถึงการชะลอการนำบริษัทย่อยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ว่า บริษัทได้พิจารณาถึงเศรษฐกิจโดยรวม และภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ล่าสุด ซึ่งในเบื้องต้น น่าจะสามารถนำหุ้นเลเท็กซ์ ซิสเทมส์ เข้าจดทะเบียนได้ประมาณปี 2564 อย่างไรก็ตาม การเลื่อนแผนการระดมทุนดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือผลประกอบการทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่เพียงพอสามารถรองรับได้ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย บริษัทจึงได้ชะลอแผนการขยายธุรกิจออกไปก่อนเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวจึงเริ่มดำเนินการขยายธุรกิจใหม่ หุ้นน้องใหม่จ่อคิวครึ่งปีหลัง จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า มีหลายบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เป็นโฮลดิ้งคอมพานีที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับจราจรทางอากาศ ซึ่งได้มีการลงทุนในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) บริษัทสัญชาติกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศผ่านธุรกิจแบบเครือข่าย บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ดำเนินธุรกิจผลิตจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว เช่น เยลลี่พร้อมดื่ม เครื่องดื่ม ปลาหมึก ปลาเส้น ขนมปังขาไก่ บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เช่น เสาเข็ม และให้บริการรับเหมาก่อสร้างเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท หรืองานก่อสร้างที่บริษัทมีผลงานและประสบการณ์ ได้แก่ งานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และงานออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง ขณะเดียวกัน บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร และธุรกิจให้เช่าหรือบริการ เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยประเภทโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรรทาวน์โฮม และโฮมออฟฟิศ และให้บริการบริหารงานนิติบุคคลให้กับโครงการต่างๆ ของบริษัท ส่วนหุ้นไอพีโอกลุ่มธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ มี 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองและสินเชื่อประเภทอื่นที่มีรถบรรทุกมือสองเป็นหลักประกันในเขตพื้นที่ภาคกลางและทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงบริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SA ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันและสินเชื่ออื่น ด้วยสาขากระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ด้านตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ มีบริษัทที่พร้อมขายหุ้นไอพีโอ แต่อาจจะรอสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย และตลาดหุ้นฟื้นประกอบด้วย บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ KK บริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT และบริษัท ศิรกร จำกัด (มหาชน) หรือ SK อ่านเพิ่มเติม: ‘กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล’ K&K สู้เพื่อธุรกิจค้าปลีกที่รัก   จับตา หุ้นไอพีโอ แม่เหล็กเขย่าตลาด ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หากสถานการณ์ตลาดทุนคลี่คลาย และบริษัทจดทะเบียนสามารถเดินหน้าตามแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากข้อมูลหุ้นเตรียมไอพีโอยังมีหลายบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็น “แม่เหล็ก” ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ประกอบธุรกิจบริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 21.9 กิโลเมตร ซึ่งยื่นไฟลิ่งไอพีโอจำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท ด้วยกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอจากผลประกอบการที่มีอัตรากำไรสุทธิสูง และเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคง นอกจากนี้ กลุ่มเอสซีจียังเตรียมส่งบริษัทย่อยอนาคตไกลอย่าง บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ได้แก่ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยความน่าสนใจอยู่ที่กำลังการผลิตของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 8.9 หมื่นล้านบาทในปี 2562 อ่านเพิ่มเติม: วิชาญ จิตร์ภักดี นำทัพ SCGP ครองบัลลังก์บรรจุภัณฑ์อาเซียน “ที่ผ่านมาเราเติบโตค่อนข้างสูง ถ้าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคตเราต้องบาลานซ์หนี้ไม่ให้มากเกินไป” วิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยชูศักยภาพธุรกิจการเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์และบริการที่หลากหลายด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่มุ่งตอบโจทย์การใช้งานให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกันยังมีหุ้นไอพีโอที่เล็งจังหวะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ COVID-19 โดย บริษัท ศรีตรัง โกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ มีความพร้อมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้ เพื่อระดมทุนขยายกำลังการผลิตและปรับปรุง ประสิทธิภาพการผลิตถุงมือยาง ด้วยการลงทุนติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ “เราคาดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้นรวมถึงความต้องการการใช้ถุงมือยางอีกด้วย” จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าว อ่านเพิ่มเติม: จริญญา จิโรจน์กุล พา “ศรีตรังโกลฟส์” ไต่ระดับความยั่งยืน สำหรับจุดเด่นของบริษัทอยู่ที่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในไทย และรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 2.72 หมื่นล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี และตรัง รวม 132 สายการผลิต และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นประมาณ 3.2 หมื่นล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2563 รวมทั้งยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของการผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ปิดท้ายที่หุ้นไอพีโอขนาดใหญ่น่าจับตาตัวสุดท้าย ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมธุรกิจค้าปลีกสินค้า และบริการอื่นๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้รองรับการใช้เงินในช่วงปี 2564-2567 และการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทย การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของ หุ้นไอพีโอ น้องใหม่ยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะมาสร้างตำนานการระดมทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตัวใหม่อยู่ที่การทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและจังหวะในการเข้าระดมทุน ซึ่งคำตอบทั้งหมดอยู่ที่ PTT ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ OR และที่ปรึกษาทางการเงินว่า จะเดินหน้าขายหุ้นไอพีโอในช่วงไหน อย่างไร ที่จะไม่ให้นักลงทุนที่ซื้อหุ้นไอพีโอเจ็บตัวจากพิษไวรัส…วายร้าย โควิด-19 เรื่องโดย: Ray Rhoda
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย