ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย มีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศหรือสูงกว่าเล็กน้อย เพราะสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นสำหรับชีวิต ทั้งเป็นอาชีพให้แม่ค้ารายย่อยได้ดำรงชีวิต ที่เป็นฐานธุรกิจที่แข็งแรงให้กับ บมจ. เคแอนด์เค K&K
บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) K&K หรือเดิม บริษัท เค. แอนด์ เค. ซุปเปอร์ค้าส่ง จำกัด มีพัฒนาการมาจากธุรกิจครอบครัวของสี่พี่น้องตระกูล “สิริธนนนท์สกุล” ภายใต้ชื่อบริษัท หาดใหญ่โก่วย่งฮั้ว จำกัด ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภครายใหญ่ของประเทศไทย ที่เติบโตมาจากการขายสินค้าเร่ในตลาดนัด ของคุณพ่อเว้ง แซ่โกว่ คุณแม่เฮียง แซ่ซึ้ง ในปี 2535 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เริ่มรุกคืบเข้าสู่ประเทศไทย กิตติพล สิริธนวงศ์สกุล (พี่ใหญ่) และพี่น้องได้ปรึกษาหารือกันว่าธุรกิจค้าส่งที่ดำเนินการอยู่นั้น มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสเติบโตน้อย จึงตัดสินใจกันว่าจะปรับรูปแบบธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจค้าปลีกในราคาส่ง และใช้ชื่อว่า เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง โดยนำอักษรย่อของพี่ชายทั้งสองคนของตระกูล คือ กิตติพล และ กวิศพงษ์ มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ “การขยายตัวของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง ช่วงแรกที่ห้างขนาดใหญ่เริ่มเข้ามามีแมคโครรายเดียว เราก็แยกกลุ่มลูกค้าระหว่างแมคโครกับเรา หลังจากนั้นบิ๊กซี โลตัส ก็ทยอยเข้ามา เค้กก็ถูกแบ่งไปเรื่อยๆ จากที่เคยเติบโตปีละ 20% กลับมาลดลงปีละ 20% เราก็ต้องมาคิด มาแก้เกม ขยายสาขาเพิ่มจุดขายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น” กวิศพงษ์ เล่าย้อนอดีตที่เริ่มต้นเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีก ปรับโมเดลใหม่เจาะแม่ค้ารายเล็ก ด้วยประสบการณ์ของผู้อยู่ในธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกมาเกือบ 30 ปี เมื่อเจอมรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็ต้องหาทางออก กวิศพงษ์ และพี่น้อง จึงมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับยอดขายที่ลดลงเรื่อยๆ “ตัดสินใจเลิกดีไหม?” เหมือนร้านค้าปลีกดั้งเดิมรายอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ คำตอบ คือ “เลิกแล้วจะทำอะไร?” ในเมื่อเกือบทั้งชีวิตของตระกูลสิริธนนนท์สกุลทำธุรกิจนี้มาตลอด เป็นธุรกิจที่รัก และรู้จักดีที่สุด ดังนั้นหากบริหารให้ดี คุมค่าใช้จ่ายได้ ธุรกิจน่าจะเดินต่อได้ เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะเดินหน้าลุยธุรกิจต่อ กวิศพงษ์ และพี่น้อง จึงมองหาทางออก และโอกาสธุรกิจของเค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง โดยอยู่ภายใต้คอนเซปท์ร้านค้าปลีก ในราคาขายส่ง ด้วยสโลแกน “ซื้อของครบ พบของถูก ถูกทุกวัน ที่ K&K ใกล้บ้านคุณ” เพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังอีกกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ซื้อสินค้าเพื่อไปจำหน่ายต่อ เจาะกลุ่มแม่ค้ารายเล็กๆ ที่ซื้อสินค้าไปขายต่อในปริมาณที่ไม่มาก ไม่ต้องซื้อยกแพค แม้โมเดลธุรกิจดังกล่าวจะได้กำไรไม่มาก แต่เป็นช่องว่างของตลาดที่ทำให้ เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง ยังมีที่ยืนในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งในจังหวัดสงขลาต่อไป แทนที่จะตั้งรับ เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง ขยายแนวรุก ด้วยการเปิดสาขาเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องการเดินทางของลูกค้า เนื่องจากเห็นพฤติกรรมของลูกค้า ที่นิยมซื้อของใกล้บ้าน ด้วยปัญหาการจราจร จึงขยายสาขาเข้าถึงชุมชนต่างๆ จากจังหวัดสงขลา ขยายไปพัทลุง และสตูล ปัจจุบันมี 26 สาขา ขณะเดียวกัน เป็นการตอบโจทย์คู่ค้า ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สินค้าอุปโภค-บริโภคหลายใหญ่ เพราะการขยายสาขาเข้าถึงชุมชน ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และหมุนเวียนเร็ว “ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นธรกิจที่เราเชี่ยวชาญ เป็นธุรกิจที่เรารัก ก็ต้องปรับตัว พัฒนาโมเดลธุรกิจเราต้องไม่ใหญ่มาก เพราะถ้าใหญ่เราไม่สามารถไปชนกับโมเดิร์นเทรดได้ เราต้องหาจุดเด่นของเรา เข้าถึงลูกค้า ให้ลูกค้าซื้อของใกล้บ้าน ซื้อไม่ต้องมาก แต่ซื้อได้ทุกวัน แม้จะมีมาร์จิ้นต่ำ แต่เราใช้การบริหาร การสั่งซื้อสินค้าให้หมุนเร็ว แข่งกับเวลา” กวิศพงษ์กล่าว ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ปี 2559 – 2561 บริษัทมีรายได้รวม จำนวน 953.37 ล้านบาท 951.82 ล้านบาท และ 962.33 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิจำนวน 16.91 ล้านบาท 17.90 ล้านบาท และ 16.26 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 935.98 ล้านบาท มีกำไร 11.53 ล้านบาท แนวโน้มผลการดำเนินงานที่ลดลงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เตรียมแผนรับ New Normal เดิม K&K เตรียมแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงต้นปี 2563 หลังจากยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยต้องการนำเงินจากการระดมทุนไปขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 สาขาในปีนี้ โดย ปี 2564 จะเริ่มขยายสาขาไปจังหวัดที่ 4 ในพื้นที่ภาคใต้ คือ จังหวัดตรัง ปี 2565 ขยายจังหวัดนครศรีธรรมราช และแผน 10 ปี คือขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ และชุมพร แต่ด้วยวิกฤตโควิด ทำให้แผนดังกล่าวต้องชะลอออกไป กวิศพงษ์ กล่าวว่า วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ K&K ช้ากว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น แต่บริษัทได้เตรียมแผนรับมือกับวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ใช้เวลาในการช้อปปิ้งน้อยลง ทางร้านต้องเตรียมจัดแพคเกจสินค้า หรือรับบริการสั่งของทางโทรศัพท์ เตรียมสินค้าให้พร้อมให้ลูกค้าสามารถขับรถมารับได้ทันที หรือ ไดรฟ์ ทรู รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ K&K เตรียมแผนบริหารจัดการภายในองค์กรให้พร้อม เพราะยังไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ โดยเฉพาะการบริหารกระแสเงินสด การบริหารสต็อก คุมค่าใช้จ่าย และการเพิ่มประสิทธิภาพทีมงาน โดยที่ผ่านมาไม่มีการลดค่าใช้จ่ายพนักงาน โดยเฉพาะในส่วนของเงินเดือนแต่อย่างใด มีปรับลดสวัสดิการเล็กน้อย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าอาหารกลางวันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโควิดอยู่แล้ว หวังเพียงประคับประคองให้บริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เกือบ 30 ปี ของการดำเนินธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าอุปโภค-บริโภค สำหรับ กวิศพงษ์ และพี่น้องตระกูล สิริธนนนท์สกุล ยึดชัยภูมิของธุรกิจอยู่ที่ภาคใต้เป็นหลัก โดยมีศูนย์กลางธุรกิจที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่สำหรับเจเนอเรชั่นต่อไปจะขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่มากกว่านี้ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องดูกันต่อไป สำหรับ กวิศพงษ์ แล้ว เขามองว่า อย่างไรธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าจำเป็นยังอยู่ได้ และไม่มีวันตาย อยู่ที่ตัวเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรมากกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้จักว่าลูกค้าคือใคร อยู่ที่ไหน พยายามเข้าถึงกล่มลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด และนี่คือสิ่งที่ทำให้ K&K อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้อ่านเพิ่มเติม: TVD ผนึก ‘โมโม่ ดอทคอม’ จากไต้หวันเสริมแกร่งการขาย อี-คอมเมิร์ซ
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine