จับชีพจรเศรษฐกิจไทย หุ้นไทยร่วงแต่แพง ไร้เสน่ห์ดึงดูด - Forbes Thailand

จับชีพจรเศรษฐกิจไทย หุ้นไทยร่วงแต่แพง ไร้เสน่ห์ดึงดูด

“เศรษฐกิจไทยกำลังจะเกิดวิกฤตจริงหรือ” เป็นคำถามที่ถกเถียงกัน เพราะทุกคนต่างก็รู้สึกว่าหลังโควิด 19 ทำไมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่ำ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาแล้วยังไม่มีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนเข้าตลาด ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกยากคาดเดาล่วงหน้าได้ ที่สำคัญปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาลง ตลาดการลงทุนในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร


    มุมมองของนักการเงินไทยมือหนึ่งระดับประเทศ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผ่านสมรภูมิโลกการเงินมาหลายทศวรรษ เป็นผู้นำ “ฝ่ายบุ๋น” ในบทบาทอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตนายแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย

    “ระยะหลังมีคนสนใจอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะรู้สึกว่าการเติบโตอยู่ระดับต่ำกว่าที่เราคุ้นเคยในอดีต นั่นก็เพราะว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยรุมล้อมอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างถ่วงอยู่ไม่น้อยจากกระแสโลกเมกะเทรนด์” ดร.ประสารชี้จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตมาจากการขับเคลื่อนการใช้จ่ายต่างๆ ในภาคอุปโภคบริโภคและการลงทุนของเอกชน

    สำหรับเศรษฐกิจภาคต่างประเทศจะมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งวันนี้การท่องเที่ยวเป็นภาคกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าขึ้นมาแล้ว ทั้ง 2 ภาคส่วนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วและมีนัยสำคัญ

    สำหรับภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่มองเห็นมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากคือจำนวนประชากรเกิดน้อยลง ทำให้คนไทยเข้าตลาดแรงงานลดลง เมื่อเชื่อมโยงการจ้างงานและรายได้ต่างๆ ก็จะส่งผลให้การอุปโภคบริโภคในระยะข้างหน้าอาจจะไม่ได้เติบโตมาก

    ขณะที่มูลค่าของการอุปโภคบริโภคมีขนาดใหญ่เกิน 50% หรือเกินครึ่งของ GDP ไทย ถือเป็นตัวหลักที่เคยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอดีต ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็ลดลงมีสัดส่วนเพียง 10% ต้นๆ จากที่เคยอยู่ระดับ 20% ของ GDP

    หากมองไปข้างหน้า ภาคเศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตได้แค่ไหนยังเป็นโจทย์ที่น่าคิด รัฐจะหาทางทำให้รายได้ต่อหัวดีขึ้นอย่างไร ก็จะโยงกับทักษะแรงงาน โยงกับผลิตภาพ (productivity) ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีมูลค่าสูงขึ้นในตลาด

    ส่วนเศรษฐกิจในภาคต่างประเทศของไทยเวลานี้กำลังได้รับผลกระทบจาก 2 เมกะเทรนด์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกระแสโลกที่กำลังปรับสมดุลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ESG และสภาวะ climate change

    แม้ในความเป็นจริงเมกะเทรนด์ดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในด้านดังกล่าวอย่างเต็มที่ และความสามารถในการปรับตัวรับเมกะเทรนด์ที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็น information technology (IT) ซึ่งพัฒนารวดเร็วหลายรูปแบบ และมีบทบาทในเชิงพาณิชย์ เชิงการแพทย์ และอื่นๆ

    นอกจากนั้นในอนาคตข้างหน้ายังมีแนวโน้มความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมกะเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความต้องการทั่วโลก ซึ่งเทคโนโลยีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคส่งออกไทยเติบโตแค่หลักเดียว และอยู่ระดับต่ำในช่วง 2-3% บางทีก็ติดลบด้วยซ้ำไป

    ส่วนภาครัฐจะมีข้อจำกัดติดอยู่ด้านวินัยการคลังด้วยภาระหนี้สาธารณะ เมื่อเน้นการออกมาตรการระยะสั้นๆ เช่น มาตรการเยียวยาเงินช่วยเหลือต่างๆ ถือเป็นผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อใส่เม็ดเงินเหล่านี้เข้าไปก็จะระเหยหายไปและไม่ได้ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ เพราะรัฐยังไม่มีนโยบายที่จะออกมาจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่อ่อนแอ หรือมีแผนที่จะจัดการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

    สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่เห็นวิกฤตเพราะยังคงมีการฟื้นตัวและเติบโตได้ 3% บวกลบ เพียงแต่เป็นการเติบโตที่ไม่สูง และมีความเหลื่อมล้ำต่างกันในการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยบางภาคธุรกิจยังคงไปได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก ที่ฟื้นตัวได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่อุตสาหกรรมการผลิตอาจจะฟื้นตัวช้า ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในวัฏจักรช่วงขาลง เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรักษาเสถียรภาพด้านสำคัญ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นประเด็นในกลุ่มเปราะบาง และเสถียรภาพด้านทุนสำรองระหว่างประเทศ ควรระมัดระวังไม่ให้พลาดพลั้งขาดความเชื่อมั่นหรือมีการลดระดับลง รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่กระทบวินัยการคลัง ซึ่งการใช้นโยบายการคลังควรใช้ให้ฉลาด ให้คุ้มเหมาะกับสถานการณ์ และปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดจนภาวะการลงทุนในตลาดทุน

    สำหรับมุมมองการลงทุน wealth management ถือเป็นโอกาสดีที่ควรกระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนหุ้นคุณภาพดี แต่หากลงทุนในหุ้นไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านข้อมูลสำหรับศึกษามากกว่า โดยควรพิจารณาแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุน

    ส่วนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากปีนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ ซึ่งน่าจะหลุดจากความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยแล้ว หากเป็นนักลงทุนที่ conservative ก็จะเห็นออกไปลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ดูเหมือนจะได้เปรียบกว่าไทย เนื่องจากความแตกต่างของนโยบายดอกเบี้ยระหว่างไทยที่อยู่ 2.5% กับสหรัฐฯ ที่อยู่ 5% บวกลบ ซึ่งฝากเงินในสหรัฐฯ ก็จะได้ดอกเบี้ยสูงราว 4% แล้ว แต่ก็ต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ด้วย



เรื่อง: วิิไล อักขระสมชีีพ ภาพ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.5% เหตุ ‘ส่งออกแผ่ว - สินค้าจีนตีตลาด - ครัวเรือนเปราะบาง’

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567