ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ จัดพอร์ตแกร่งรับเทรนด์โลก - Forbes Thailand

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ จัดพอร์ตแกร่งรับเทรนด์โลก

นักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศแนะปัจจัยต้องติดตามในปีที่โลกยังต้องเผชิญกับความผันผวนสูงและสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ด้วยการวางแผนการลงทุนเลือกสินทรัพย์คุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ลงทุนเมกะเทรนด์อนาคตไกล และกระจายความเสี่ยงสร้างพลังการเติบโตฝ่าความท้าทาย


    ภาพรวมการลงทุนในปีนี้ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกและสภาวะเศรษฐกิจไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งการจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงการลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสินทรัพย์ทางเลือกที่สามารถช่วยพยุงพอร์ตให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

    “ปัจจัยที่ต้องติดตามจากสถานการณ์โลกมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ จุดเปลี่ยนดอกเบี้ยสหรัฐขาลง ซึ่งแม้ผลประชุมล่าสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% แต่ตลาดยังรอดูการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยเมื่อไร ลดอย่างไร และลดกี่ครั้ง แม้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นไปได้ ถ้าเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาเล็กน้อย และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวเล็กน้อย ดอกเบี้ยขณะนี้ก็จะปรับลงมาได้” ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร (KKP) และในฐานะประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้มุมมองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน

    ขณะที่ทิศทางการลดดอกเบี้ยในอนาคตอาจจะคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากยังมีปัจจัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่แทน Joe Biden ที่หมดวาระในปีนี้ (ผลการเลือกตั้งสหรัฐวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567) โดยหากได้ประธานาธิบดีคนเดิมนั่งเก้าอี้ต่อไปก็อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดไว้ แต่หากเป็น Donald Trump ที่มีโอกาสกลับมาได้อีกครั้งก็จะสร้างความน่ากังวลจากนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นบุคคลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน

    “ขณะที่หุ้น (สหรัฐฯ) แข็งกว่าที่คิด bitcoin ร้อนแรง ล้วนเป็นตัวชี้นำความฮึกเหิมของตลาด ทองคำก็ร้อนแรง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นอาจตอบรับได้ดีอีกตอนดอกเบี้ยขาลงแน่นอนเมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งเฟดส่งสัญญาณมีแผนปรับลด 3 ครั้งในปีนี้”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร (KKP)


    นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจจีนที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ปีที่แล้วเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และปล่อยให้สถานการณ์ไหลลง เพราะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นตลาดหุ้นจีน ขณะที่เศรษฐกิจจีนบางส่วนยังไม่ฟื้น และมีปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทำให้เป้าหมาย GDP โต 5% ยังค่อนข้างยาก

    สำหรับปัจจัยสุดท้าย คือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้าเนื่องจากปัญหาการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวในช่วงปีก่อนหน้านี้ แต่เชื่อว่านโยบายการคลังที่อัดแน่นขึ้นในครึ่งปีหลังก็น่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นกว่านี้ ภายใต้เงื่อนไขการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet

    “โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังร้อนแรง และเศรษฐกิจจีนเติบโตแบบนิ่ง ๆ”

    ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง ดร.ศุภวุฒิชี้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตได้แค่ไหน เพราะปัจจุบันไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ศักยภาพการเติบโตอยู่ระดับต่ำ เพราะฉะนั้นนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาไทยหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าไทยทำตัวให้เป็นที่น่าลงทุนหรือไม่

    “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยไม่ perform (ทำผลตอบแทนไม่ค่อยดี) สวนทางกับหุ้นในต่างประเทศที่ตลาดมี perform ดีกว่าไทย” ดร.ศุภวุฒิเปรียบเทียบความน่าสนใจระหว่างหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ซึ่งในปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยแล้ว 1.92 แสนล้านบาท โดยย้อนหลังในช่วง 10 ปี (ปี 2566-2556) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 7.8 แสนล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม การลงทุนมองว่าควรเลือกกลุ่มเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสการเติบโตระยะยาว เช่น
    - กระแสเทคโนโลยี AI ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2) กลุ่มทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 3) เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เช่น Amazon ที่เป็นรายใหญ่ใน e-commerce
    - health care ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ 2) กลุ่มโรงพยาบาลผู้ให้บริการ 3) กลุ่มผู้ผลิตยา
    - green energy หรือพลังงานสะอาดเป็นกระแสที่ตอบโจทย์โลกสีเขียว แต่ยังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ยังต้องติดตามกระแสอย่างใกล้ชิดด้วย

    ดร.ศุภวุฒิให้คำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนว่า “นอกจากกระจายในตราสารหนี้ หุ้นที่เป็นกลุ่ม sector อิงกับเมกะเทรนด์แล้ว อาจจัดสรรเงินลงทุน 3-5% ในการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกองทุน REIT ที่มีลงทุนในโรงไฟฟ้า ศูนย์การค้า สินค้าคงคลัง ซึ่งจะมีรายได้ค่าเช่า ทองคำ หากเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งอาจจะยังมีสินทรัพย์อื่นที่ทำผลงานได้ดีสวนทางตลาดสินทรัพย์ขาลง เพราะฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงลงทุนจะช่วยให้พอร์ตสามารถฝ่าภาวะโลกผันผวนสูงได้ และช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาว”



เรื่อง: วิไล อักขระสมชีพ ภาพ: กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธนาคารแห่งประเทศไทยไขปมร้อน ดอกเบี้ย VS เศรษฐกิจเสี่ยง

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567