แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2560 - Forbes Thailand

แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2560

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองทิศทางเศรษฐกิจโลกว่าเป็นปีแห่งความผันผวน แม้เศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เติบโตดี หนุนด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและภาคการผลิตที่ขยายตัว นำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้ต่อเนื่อง

กระนั้น สหรัฐฯ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Donald Trump ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่สภาคองเกรสว่าจะเห็นชอบให้ทำได้ในขอบเขตแค่ไหน ด้านยูโรโซน เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังถูกกดดันด้วยความเสี่ยงทางการเมือง ส่วนเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของ Trump ในปีนี้ เศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวขับเคลื่อนโดยภาคการผลิต ส่งผลให้การส่งออกในภูมิภาคเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น ในช่วงนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณดีวันดีคืนมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เข้าสู่ปี 2560 โดยความแตกต่างที่สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือสัญญาณการฟื้นตัวที่มาจากภาคการผลิต แตกต่างจากการฟื้นตัวในอดีตซึ่งขับเคลื่อนด้วยภาคบริการเป็นหลัก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ หรือ Purchasing Managers Index (PMI) ของภาคการผลิตได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปี 2559 ในทั้ง 4 เศรษฐกิจใหญ่ของโลก ได้แก่
  • สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 57.2 ปรับขึ้นมาจากระดับที่ 54.5 เมื่อเดือนธันวาคม 2559
  • สหภาพยุโรป ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 56.2 จากที่ 54.9
  • ญี่ปุ่นและจีน ปรับขึ้นมาที่ 52.4 และ 51.2 ตามลำดับ ซึ่งแม้จะทรงตัวจากสิ้นปี 2559 แต่ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าขยายตัวได้
คาดการณ์ เศรษฐกิจไทย จะรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวในระดับปานกลาง โดยขยายตัวได้ 3.3% ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นถึง 15% หลักๆ ที่เพิ่มเป็นการลงทุนเมกะโปรเจกต์ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมจากงบพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด วงเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยฟื้นการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดการก่อสร้าง แต่โดยรวมการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาด การส่งออก เติบโตได้ 2% เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากเกือบทุกตลาด อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกจากเศรษฐกิจหลักๆ ที่ดีขึ้น อาจส่งผลให้การส่งออกไทยได้อานิสงส์เติบโตมากขึ้นในปีนี้
การท่องเที่ยวไทยเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ (Photo Credit: Bangkok Post)
นอกจากนี้ สินเชื่อ มีแนวโน้มสดใสมากขึ้นกว่าปีที่แล้วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 นำโดยธุรกิจก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจการค้าซึ่งได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค จะเติบโตดีจากการปลดล็อกโครงการรถยนต์คันแรกและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อ ด้าน เงินฝาก มีแนวโน้มขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นตามความต้องการสินเชื่อซึ่งคาดว่าจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวมากขึ้นจากอดีต อย่างไรก็ดี สภาพคล่องโดยรวมของประเทศค่อนข้างสูงกว่า 11 ล้านล้านบาท หากเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว จะสร้างแรงกดดันให้ ธปท. อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตาม พร้อมเตือนรับจุดสิ้นสุดของดอกเบี้ยขาลงและค่าเงินผันผวนในปีนี้ โดย ผลกระทบต่อตลาดการเงิน ถ้าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว มีดังนี้ 1. อัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ของพันธบัตรทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และภาพของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงติดต่อกัน 35 ปีจะหมดไปทันที 2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปีหน้า จากเดิมที่มีแนวโน้มทรงตัวที่ 1.50% ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นรวดเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2% ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.5% ตลอดปีและมีแนวโน้มปรับขึ้นในปีหน้า 3. ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าได้ถึง 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าแต่ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แม้ข่าวดีของแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ คือเศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ตลาดยังมีความกังวลอยู่กับความไม่แน่นอนบนประเด็นทางการเมืองในต่างประเทศ สิ่งที่นักลงทุนไม่อาจมองข้ามในปีนี้คือ ความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงทางการเมือง (political risk) ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) หรือความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ในสหรัฐฯ ความไม่ชัดเจนกับความเป็นไปได้ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald Trump ยังคงสร้างความกังขาให้แก่มุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการคลังของสหรัฐฯ จะได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดของการปฏิรูปภาษี อย่างไรก็ตาม การชี้แจงดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักวิเคราะห์และนักลงทุนได้ สถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้แก่แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนล่าสุด คือประเด็น ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งร้อนแรงขึ้นมาหลังกองทัพสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธจากเรือพิฆาตเข้าใส่ฐานทัพซีเรีย ที่สงสัยว่าเป็นสถานที่ปล่อยอาวุธเคมีเข้าใส่พลเรือนเมื่อวันที่ 7 เมษายน เป็นผลให้เกาหลีเหนือใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลในการเดินหน้าพัฒนาอาวุธต่อ โดยล่าสุดสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มผลักดันการเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อลดความตึงเครียดดังกล่าว
เกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธต่อไป สร้างความตึงเครียดในประเด็นความเสี่ยงเข้าสู่สงคราม (Photo Credit: Nikkei)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมิน หากสถานการณ์การเมืองโลกบานปลายจนนำไปสู่ภาวะสงคราม ย่อมจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยในช่วงก่อนเกิดสงครามนักลงทุนมีแนวโน้มลดความเสี่ยงลง โดยลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และเมื่อเข้าสู่ช่วงสงคราม นักลงทุนจะเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบของภัยสงครามและวิกฤตเศรษฐกิจต่อราคาสินทรัพย์ ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าทั้ง 2 เหตุการณ์จะก่อให้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนเหมือนกัน ทว่า พฤติกรรมของราคาสินทรัพย์กลับแตกต่างกัน จากการศึกษาข้อมูลระหว่างภาวะสงครามและวิกฤตการเงินในอดีตนับตั้งแต่ปี 1990-2014 ศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่านักลงทุนมีพฤติกรรมที่ต่างกันเมื่อเผชิญความเสี่ยงที่ต่างกัน โดยก่อนสงครามปะทุ ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลง ในขณะที่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น โดยค่าเงินแข็งค่าขึ้น และบอนด์ยีลด์ลดต่ำ (ราคาบอนด์สูงขึ้น) แต่เมื่อสงครามปะทุแล้ว พบว่าสินทรัพย์เสี่ยงกลับให้ผลตอบแทนมากขึ้นโดยหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่า และบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลับพบว่าก่อนจะเกิดวิกฤตการเงินหรือวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงนั้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นเป็นบวก และเมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้น พบว่านักลงทุนปิดรับความเสี่ยงโดยหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และบอนด์ยีลด์ลดต่ำลง สำหรับปี 2560 นักลงทุนไทยจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น   เรื่อง: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
คลิกอ่าน "แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2560" ฉบับเต็ม ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine