นอกจากอังกฤษที่ถือได้ว่าเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก หลายประเทศในโซนอาเซียน แม้จะไม่ใช่ตลาดระดับโลก แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกไม่แพ้กัน
โดยการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังเริ่มพัฒนาอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งถูกจัดให้เป็นกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ และยังมีอัตราค่าจ้างแรงงานไม่สูงมาก เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ
สุรเชษฐ กองชีพ นักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า กลุ่มประเทศ CLMV ในภูมิภาคอาเซียน เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนมองหาประเทศหรือพื้นที่ที่ยังอยู่ในช่วงของการขยายตัว ทั้งในเรื่องของจำนวนประชากรวัยทำงาน และฐานรายได้ที่เริ่มมากขึ้นๆ เพราะจะมีส่วนช่วยในการทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่อง
ซึ่งหากลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราการเกิดต่ำและฐานรายได้ที่ค่อนข้างคงที่ เช่น ประเทศไทย หรือในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการพัฒนาจนเต็มพื้นที่แล้ว กลุ่มประเทศ CLMV อาจมีช่องว่างในการเติบโตที่มากกว่า
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการ นักลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ เข้าไปลงทุนในหลายประเทศรอบๆ ประเทศไทย เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยรูปแบบการลงทุนจะคล้ายๆ กัน คือ สร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเพื่อผลิตสินค้าขายในประเทศนั้นๆ และส่งออกไปในอาเซียนและที่อื่นๆ
ในขณะที่ผู้ประกอบการอีกกลุ่มจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน โครงการที่อยู่อาศัย โครงการพื้นที่ค้าปลีก โดยรูปแบบการพัฒนานั้นอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจลงทุน กลุ่มทุนต่างชาติจะเลือกลงทุนในประเทศที่มีความพร้อมในปัจจุบัน มองเห็นศักยภาพและเลือกลงทุนในทำเลที่มีศักยภาพแล้วเป็นหลัก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า แม้นักลงทุนทั่วโลกจะสนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศ CLMV เพราะมีโอกาสที่จะทำกำไรจากราคาที่จะปรับขึ้นในอนาคต แต่ประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็ยังมีความพร้อมที่จะรองรับการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติได้มากกว่า
เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติจะยังทุ่มการลงทุนส่วนใหญ่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในเมือง ศูนย์กลางธุรกิจ หรือเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาจจะมีบ้างที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในอินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่รูปแบบโครงการจะแตกต่างจากโครงการในประเทศไทย เช่น ราคาขายจะต่ำกว่า ขนาดของโครงการจะใหญ่กว่ามาก เป็นต้น
ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ กลุ่มทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า เพราะต้องการรายได้จากการเช่าในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง แต่ปัจจุบันการหาที่ดินที่มีราคาขายเหมาะสมในการพัฒนาอาคารสำนักงานยากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีเลย ทำให้การพัฒนาอาคารสำนักงานในระยะหลังต้องเช่าที่ดินในระยะยาวเท่านั้น หรือต้องซื้อที่ดินที่ไกลออกไปจากศูนย์กลางธุรกิจ
ขณะที่การลงทุนโครงการพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันสูงและซัพพลายทั้งแบบศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีอยู่มากเกินความต้องการ ส่วนโครงการพื้นที่ค้าปลีกในประเทศอื่นๆ ทั้งในเมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งยังเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของประชากรและฐานรายได้ที่กำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทย ประกอบกับราคาที่ดินยังคงมีความเหมาะสมและมีโอกาสเติบโตในอนาคต จึงมีโอกาสที่กลุ่มทุนต่างชาติจะเข้าไปลงทุนโครงการค้าปลีกในประเทศเหล่านี้มากกว่า
อ่านเพิ่มเติม เรื่อง: กัญสุชญา สุวรรณคร และฐิตาภา ญาณพัฒน์คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Life แถมฟรีมาในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 ในรูป e-Magazine