ปรับพอร์ตการลงทุนรับมือวิกฤต สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ - Forbes Thailand

ปรับพอร์ตการลงทุนรับมือวิกฤต สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เมือง OSAKA ประเทศญี่ปุ่น ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามอง โดยเฉพาะการพบกันของ ประธานาธิบดีทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ท่ามกลาง สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

ในการเจรจาหาบทสรุปข้อพิพาททางการค้าจีนสหรัฐฯ สู่ "สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ" ที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากว่า 1 ปี และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกให้ชะลอลงต่อเนื่อง จนธนาคารกลางต่างๆ ต้องทยอยกันออกมาเปลี่ยนท่าทีจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวเป็นแบบผ่อนคลายโดยประกาศพร้อมลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งและหลีกเลี่ยงการเช้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสรุป ผลการประชุมไม่ได้คลาดเคลื่อนไปจากที่ตลาดคาด ประเด็นสำคัญจากการประชุม มีดังนี้
  1. ตกลงที่จะเริ่มการเจรจาการค้ารอบใหม่ แต่ยังไม่กำหนดกรอบระยะเวลา และเส้นตาย
  2. แถลงการณ์ของทั้ง 2 ประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกัน สะท้อนความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเจรจา
  3. ปธน.ทรัมป์ยุติแผนการที่จะขึ้นภาษีบนสินค้ามูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เหลือจากจีน
  4. แต่ภาษีนำเข้า 25% บนสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่บังคับใช้ไปแล้วยังคงอยู่
  5. ยินยอมให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถขายสินค้าให้กับบริษัทหัวเว่ยได้ต่อไป แต่หัวเว่ยยังคงอยู่ในบัญชีดำสหรัฐฯ แปลว่ายังไม่สามารถขายสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้
หลังการประชุม G20 เสร็จสิ้นลง ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นราว 2% และค่าเงินหยวนก็ปรับแข็งค่าขึ้น แต่ก็กลับชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงต่อมา เพราะนักลงทุนยังคงมีความกังวลกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่บ่งชี้เรื่องการชะลอตัวลง ในขณะที่ทิศทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนยังไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนตลาดหุ้นโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการปรับตัวรับการคาดการณ์ผลการเจรจาไปก่อนหน้าการประชุมแล้ว อีกทั้งนักลงทุนบางส่วนกลับมีความกังวลว่า ผลการเจรจาที่มีมุมบวกนี้ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการพิจารณาการปรับลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การคาดการณ์ถึงผลความสำเร็จในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในช่วงต่อจากนี้จนถึงช่วงกลางปีหน้าแบ่งออกเป็นสองค่าย ที่ด้านหนึ่งเชื่อว่าการเจราจาจะยืดเยื้อและไม่สามารถจบลงได้โดยง่ายเนื่องจากความขัดแย้งไม่ได้มีเพียงในระดับการค้า แต่เป็นความขัดแย้งหรือเป็นการทำสงครามเย็นต่อเนื่องไปถึงเรื่องเทคโนโลยี (Tech Cold War) รวมไปถึงสงครามเย็นด้านความมั่นคงและสถานะความเป็นผู้นำโลกของทั้งสองประเทศ ส่วนอีกค่ายหนึ่งเชื่อว่าการเจรจาการค้าน่าจะจบลงได้ระดับหนึ่งในช่วงปลายปีนี้หรือการปีหน้าก่อนช่างเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทั้งสองประเทศเริ่มรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายการเมืองเริ่มได้รับแรงกดดันจากภายในประเทศให้แสวงหาข้อตกลงให้ได้ โดยเฉพาะ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการผลสำเร็จการเจรจาการค้าไปเป็นแรงสนับสนุนชัยชนะในการเลือกตั้งสมัยที่สองอีกทั้งยังไม่ต้องการเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงก่อนการเลือกตั้งอีกด้วย
US President Donald Trump speaks during a press conference on the sidelines of the G20 Summit on June 29, 2019. (Photo by Jacquelyn Martin / POOL / AFP)
ประธานาธิบดีทรัมป์ บทเวทีแห่งสุดยอดการประชุม G20
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลาดยังเชื่อว่ายังมีโอกาสปรับลดอีก 1-2 ครั้ง หรือเท่ากับลดลงได้ 0.25-0.5% แม้ในช่วงหลังทราบผลการประชุม G20 เนื่องจากยังเชื่อว่าการเจรจาการค้ายังมีความเสี่ยงอีกพอสมควร อีกทั้งยังเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพยายามดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรืออย่างน้อยก็ให้เป็นไปแบบ Soft Landing โดยในปัจจุบันนักวิเคราะห์ทางการเงินเชื่อว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีราว 25-30% แต่หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นจากจุดนี้ ภาวะการถดถอยก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้แม้ ธนาคารกลางปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงเวลาการเติบโตของโลกที่ชะลอตัวลง หรือช่วงท้ายของวัฏจักรเศรษฐกิจก่อนปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เรียกกันว่า Late Cycle นักลงทุนควรมีการปรับพอร์ตลงทุนให้มีความระมัดระวังและมีวินัยมากขึ้น (Humble and Discipline) เช่น
  1. เน้นการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตหลัก โดยให้มีการลงทุนในตราสารหนี้อย่างน้อยเท่ากับหรือมากกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ยังคงต้องรักษาสัดส่วนของหุ้นไว้บ้างเผื่อกรณีที่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
  2. การลงทุนในหุ้น อาจใช้กองทุนหรือเครื่องมือที่มีกลไกการควบคุมความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสความเสียหายแต่ยังคงได้รับผลตอบแทนในช่วงตลาดขาขึ้น
  3. เน้นตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ระยะยาวขึ้น ที่ยังมีผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล (พันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนน้อยลงเมื่อดอกเบี้ยลดลง) โดยหุ้นกู้ระยะยาวจะมีราคาปรับสูงขึ้นอีกด้วยเมื่อดอกเบี้ยลดต่ำลง
  4. กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น เช่น ทองคำ ที่จะปรับตัวได้ดีในช่วงดอกเบี้ยลดลงและค่าเงินสหรัฐฯอ่อนตัว หุ้นนอกตลาด ที่ไม่ผันผวนไปตามตลาดและหวังผลตอบแทนจากการถือครองระยะยาว หรือการลงทุนในหุ้นที่ใช้กลยุทธ์แบบซื้อและขาย (Long Short Strategy) ที่สามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาของหุ้นที่มีลักษณะเป็นผู้ชนะกับผู้แพ้ โดยไม่ขึ้นกับการขึ้นลงของตลาดด้วยเช่นกัน