พบกันกับตอน 2 ของการเปิดเผยพอร์ตลงทุนและแนวคิดเบื้องหลัง จาก 5 ผู้แข่งขัน สุดยอดกูรูด้านการลงทุนครั้งที่ 3 สำหรับเม็ดเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งจัดแข่งระหว่างเดือนเม.ย.60-61 ยังเหลืออีก 2 กูรูที่จะมาเปิดพอร์ต คือ บริษัท เซ็นจูรี อาร์ จำกัด และ ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ หรือ หยง เทรดเดอร์มืออาชีพ
อ่านย้อนหลัง:คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท ตอนที่ 1
พล อินทเสนี
ประธานบริหาร บริษัท เซ็นจูรี อาร์ จำกัด (Century R)
กระจายความเสี่ยงรับมือความผันผวน
ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจมวลรวมของโลกจะดูเหมือนมีการพัฒนาขึ้นเล็กน้อย แต่นับว่ายังมีความกังวลและมีความไม่แน่นอนในตลาดการลงทุนทั่วโลกอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญหลักในปีนี้สืบเนื่องจากนโยบายทางการเมืองที่ยากจะคาดเดาได้จากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ได้ผู้นำอย่าง Donald Trump ขึ้นมากุมบังเหียน ทั้งความวุ่นวายของ Brexit และการเลือกตั้งในยุโรป รวมถึงการที่ Fed มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญให้การลงทุนมีเสถียรภาพ
พอร์ตโฟลิโอในการกระจายความเสี่ยงของ พล อินทเสนี ประธานบริหาร บริษัท เซ็นจูรี อาร์ จำกัด (Century R) ในปี 2017 หลักๆ จะประกอบด้วย equities, bonds, credits และ challenged stock ซึ่ง 50% คือ broad equities (ยุโรป 15%, ญี่ปุ่น 15%, สหรัฐฯ 10%, ตลาดเกิดใหม่ หรือ emerging markets 10%) อยู่ใน bonds 5% อีก 20% เป็น credits และสุดท้าย 25% ที่เหลือเป็น challenged stock
โดยปีนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นอีกเช่นเคย เนื่องจากมีการพัฒนาและปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน การผ่อนปรนเรื่องนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หรือตัวเลขการบริโภค
แต่เนื่องจากปัจจุบัน มูลค่าหุ้นในตลาดอาจดูค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อได้อีก Fed ก็ทำหน้าที่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ภาพรวมของตลาดยังคงไปในทางบวก พลจึงชอบ “earlier-cycle” ของภูมิภาคที่จะได้รับผลพลอยได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นบวกนี้ ดังนั้นจึงให้น้ำหนักของการลงทุนไปที่ภูมิภาคยุโรปและญี่ปุ่น แต่ยังคงไม่ทิ้งตลาดสหรัฐฯ และตลาดเกิดใหม่ที่ จึงกระจายการลงทุน 15% ไปที่ภูมิภาคยุโรปและญี่ปุ่น และ 10% ที่สหรัฐฯ และตลาดเกิดใหม่
5% Bonds ควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในพันธบัตรด้วยเช่นกัน เนื่องจากมี low correlation กับการลงทุนในหุ้น และมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ ถือว่าเป็นเครื่องมือทางการลงทุนที่ดีในการรักษาเงินต้นและลดปัญหาของการขาดสภาพคล่อง
20% Credits เลือกการลงทุนใน Credits ที่สัดส่วน 20% และเลือกการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ชื่อว่า AGPI Fund (Absolute German Property Investment Fund) ซึ่งเป็นกองทุนทางเลือกที่ลงทุนใน heritage buildings ในประเทศเยอรมนี ซึ่งระบุผลตอบแทนที่แน่ชัดอยู่ที่ 7.5% ต่อปี
25% Medical Marijuana Stocks อาจจะเป็นการมองการลงทุนทางเลือกที่แหวกแนวออกไป และน้อยคนยังไม่เคยคิด แต่พลมองเห็นถึงโอกาสอันมหาศาลในการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ผลิตกัญชา (ยาเสพติดที่ถูกกฎหมายในสหรัฐฯ และแคนาดา) ซึ่งนับว่าเป็นที่ต้องการมากในการนำกัญชามาใช้รักษามนุษย์ ตั้งแต่โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน และอีกหลายโรคที่นักวิทยาศาสตร์กำลังคิดค้น โดยผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้เป็นที่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงเลือก 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยาและมีกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ AbbVie Inc, GW Pharmaceuticals, Insys Therapeutics และ Cara Therapeutics
ธำรงชัย เอกอมรวงศ์
หรือ หยง เทรดเดอร์มืออาชีพ
วางใจในหุ้นไทยเน้นผลตอบแทนระยะยาว
อีกหนึ่งกูรูหน้าใหม่ที่มาร่วมท้าทายจัดพอร์ต 100 ล้านบาทในครั้งนี้ ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ หรือ หยง เทรดเดอร์มืออาชีพ (เจ้าของฉายา Freedom Trader ต้นฉบับเทรดเดอร์) เขาออกตัวก่อนว่า วิธีการจัดพอร์ตลงทุนของแต่ละคนมีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงในพอร์ตไม่เหมือนกัน ดังนั้นมีเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนเลยคือ พื้นฐานของเขาเองคือ ไม่สามารถทนขาดทุนได้นาน
ด้วยเหตุนี้ ธำรงชัยจึงเลือกจัดพอร์ต 100 ล้านบาท โดยเก็งกำไรในหุ้นและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยใช้เทคนิคคอลเป็นหลัก ซึ่งตอนที่ฐานทุนไม่ใหญ่ไม่มีปัญหา แต่พอฐานทุนเริ่มโตขึ้นการเก็งกำไรด้วยเทคนิคคอลก็มีข้อจำกัด ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องสภาพคล่องในหุ้น ถ้าโฟกัสแต่กับหุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องไม่ใช่ปัญหา แต่ส่วนต่างราคาที่เก็งกำไรได้ก็จะน้อย หากเป็นหุ้นขนาดเล็กมีโอกาสที่ส่วนต่างเก็งกำไรจะสูงกว่า แต่เพราะสภาพคล่องที่น้อยทำให้เทรดมากไม่ได้จะกลายเป็นอันตรายไป เรียกว่า “พอทำกำไรได้ แต่ไปต่อไม่ได้”
เพราะทนขาดทุนลึกๆ นานๆ ไม่ไหว และเทรดเก็งกำไรด้วยหน้าตักที่ใหญ่กว่าเดิมไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีพัฒนาหลักการเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ตัวเอง ส่วนที่เทรดเก็งกำไรก็ยังทำเหมือนเดิม เพราะการเทรดระยะสั้นมี stop loss (จุดตัดขาดทุน) คุมการขาดทุนได้ดีอยู่แล้ว แต่จะไม่นำกำไรมาทบต้นดึงกำไรที่รับรู้แล้วออกทั้งหมดนำมาซื้อหุ้นแบบไม่คิดเก็งส่วนต่าง ตั้งใจถือยาวเก็บปันผลบนเงื่อนไขที่ตัวเงินปันผลที่เป็นบาทต่อหุ้น (ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ถ้าตัวเงินปันผลลดลงค่อยทำการบ้านอีกครั้งว่าควรขายหุ้นออกดีหรือไม่
อีกกลยุทธ์ที่ธำรงชัยใช้คือ หากราคาหุ้นขึ้นไปจากต้นทุน 100% แล้ว จะขายออกครึ่งหนึ่ง เรียก “พร่องหุ้น” หรือเอาทุนออก แม้จะเรียกว่านำกำไรมาลงทุนแล้วก็ตาม ทำแบบนี้ก็จะช่วยแยกความรู้สึกทนขาดทุนไม่ได้ออกไปอีกเรียกว่าต่อไปถ้าหุ้นลง และเงินปันผลยังเท่าเดิม ก็ไม่ต้องวิตกอะไร หนำซ้ำยังมีเงินสดซื้อหุ้นเพิ่มเข้าได้อีกถ้าต้นทุนซื้อน่าสนใจ และซ้ำขั้นตอนนี้ปั้นพอร์ตไปเรื่อยๆ
ความจริงแล้วไม่มีกฎตายตัวว่าพอร์ต 100 ล้านบาทควรจัดสรรอย่างไร เพราะสำหรับธำรงชัยจะไม่ได้อยู่ในหุ้น 100% อยู่แล้ว แต่จะพยายามรักษาอัตราส่วนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น) กับเงินสด ที่ระดับประมาณ 75:25 เสมอ
นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่เมื่อหุ้นขึ้นมามากแล้ว ก็จะพร่องหุ้นออก ดึงออกเป็นเงินสดมารอซื้อหุ้นรอบใหม่หรือเก็บไว้ในรูปทองคำ ในสินทรัพย์เสี่ยงก็จะโฟกัสที่การเก็งกำไร และเมื่อรับรู้กำไรก็จะวางเป็นเงินสดรอซื้อหุ้นที่เล็งไว้ เน้นธุรกิจที่ทำความเข้าใจได้ ปันผลแข็งๆ ไม่ว่าหุ้นจะถูกและน่าซื้อแค่ไหนก็ไม่ควรซื้อจนพอร์ตไม่เหลือเงินสด
ดังนั้น ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของธำรงชัยจึงถูกแยกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน โดยทุนส่วนแรก ประมาณ 70% วางเป็นประกันในการเทรดเก็งกำไรในฟิวเจอร์ส และออพชั่น อีก 25% วางไว้ที่หุ้นไทยที่เน้นเงินปันผลและส่วนต่างราคาหุ้นในระยะยาวผสมกับหุ้นเพื่อเก็งกำไรบางส่วน ส่วนอีก 5% จะพร่องทุนของการลงทุนในหุ้นออกมาเก็บออมเป็นทองคำและเงินสดเล็กน้อย
คลิกอ่าน "คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท" ฉบับเต็ม ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine