คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท ตอนที่ 1

หนึ่งในกิจกรรมที่สร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องสำหรับนิตยสารฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing โดย Forbes Thailand คือการเปิดเวทีให้ยอดฝีมือด้านการลงทุนจากทั้งสถาบันการเงินต่างๆ และนักลงทุนอิสระนำเสนอฝีไม้ลายมือ วางแผนการลงทุนสำหรับเงิน 100 ล้านบาท (A ฿ 100 MLN PORTFOLIO) ในรอบ 1 ปี

ซึ่งครั้งล่าสุดคือระหว่างเมษายนปี 2559 ถึง 2560 โดยผู้ที่สามารถคว้าชัยในภารกิจล่าสุด คือ ทีม TISCO Wealth Investment Strategists ธนาคารทิสโก้ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทน ในรอบ 12 เดือน อยู่ที่ 13.5% โดยไม่มีสินทรัพย์ใดที่เลือกลงทุนมีผลตอบแทนเติบโตติดลบเลย ทั้งนี้ คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ได้เปิดใจกับ Forbes Thailand ว่า ในปีที่ผ่านมาได้แบ่งพอร์ตการลงทุนครึ่งหนึ่งไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ส่วนอีกครึ่งหนึ่งลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย พอร์ตการลงทุนให้ผลตอบแทนค่อนข้างน่าพอใจที่ประมาณ 15% สูงกว่า SET index ที่ปรับตัวขึ้นมาราว 10% ในขณะที่ความเสี่ยงของพอร์ตก็ต่ำกว่าโดยผลขาดทุนมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (maximum drawdown) อยู่ที่ 7% ในขณะที่ของ SET index อยู่ที่ 9% จึงทำให้เกิดผลสำเร็จในครั้งนี้ เฉกเช่นที่ผ่านมา ธนาคารทิสโก้ยังคงรับคำท้าเพื่อเฟ้นหาสุดยอดกูรูด้านการลงทุนเป็นครั้งที่ 3 สำหรับเม็ดเงินจำนวน 100 ล้านบาทในช่วงเมษายน 2560 ถึง 2561 ซึ่งได้นำเสนอให้ผู้อ่านติดตามกลยุทธ์ตีโจทย์ด้านการลงทุนและจัดสรรเม็ดเงินทั้งหมด 5 ท่าน คือ ธนาคารทิสโก้, บล. ภัทร, บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล, บริษัท เซ็นจูรี อาร์ จำกัด และ ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ หรือ หยง เทรดเดอร์มืออาชีพ ติดตามกลยุทธ์การลงทุนของ 5 ผู้แข่งขันสุดยอดกูรูด้านการลงทุนครั้งที่ 3 กับเม็ดเงิน 100 ล้านบาทได้ที่นี่!   TISCO เศรษฐกิจดีกำไรฟื้นเลือกลงตลาดหุ้น ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2560 จะแตกต่างจากปี 2559 มาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว กอปรกับค่าจ้างซึ่งเริ่มไต่ขึ้นตามตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นด้านการเงิน เช่น การทำ QE และการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ดังเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยรวม 3 ครั้งในปีนี้ และประกาศลดขนาดงบดุล โดยการปล่อยให้สินทรัพย์ที่ Fed ซื้อเข้ามาในช่วงที่มีการทำ QE (ปี 2551-2557) ทยอยหมดอายุลงไป นอกจากนั้นธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะประกาศลด QE อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แนวโน้มการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางรวมถึงเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น น่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะถูกชดเชยจากการกระตุ้นในด้านการคลังด้วยการลดภาษีและการเพิ่มการใช้จ่าย ทั้งในสหรัฐฯและประเทศญี่ปุ่น ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ขยายตัว 3.0% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 แต่ในปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 3.4% ตามการฟื้นตัวของการลงทุนและการค้าโลก ประกอบกับแรงส่งจากนโยบายการคลังเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ไม่ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2558 สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยอุตสาหกรรมหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตของกำไรในปี 2559 ได้แก่ กลุ่มธนาคาร (-3.2%) และกลุ่มพลังงาน (-52.8%) ในปี 2560 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กลับเป็นขาขึ้น และการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะช่วยให้กำไรใน 2 อุตสาหกรรมนี้ฟื้นตัว ซึ่งน่าจะทำให้ปี 2560 เป็นอีกปีที่ดีของตลาดหุ้น โดยเรายังคงคำแนะนำ overweight ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีปัจจัยบวกจากค่าเงินเยนที่น่าจะกลับมาอ่อนค่าตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ประกอบกับ valuation ที่ยังถูก และการเติบโตของกำไรที่ต่อเนื่อง ส่วนตลาดหุ้นอินเดียที่ปรับฐานจากผลกระทบของการยกเลิกการใช้ธนบัตรในช่วงปลายปี 2559 น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพียงระยะสั้นแต่ในระยะยาวอินเดียยังมีศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก   พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล. ภัทร ทิ้งน้ำหนักลงทุนหุ้นกระจายทั้งไทยและเทศ สำหรับมุมมองของ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล. ภัทร ต่อการลงทุน 100 ล้านบาทนั้น ระบุว่า การลงทุนในหุ้นน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว แต่ผลตอบแทนย่อมมาพร้อมกับความผันผวนในระยะสั้น จึงเชื่อว่าการจัดพอร์ตระยะยาวควรมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมเพื่อลดความผันผวนของเงินลงทุน เมื่อมองไปข้างหน้า ภาพการลงทุนยังอยู่ในภาวะค่อนข้างดี ภาพเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัว กำไรของบริษัทในหลายประเทศยังคงเติบโตได้ดี อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ราคาบ้านและตลาดแรงงานในหลายประเทศกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มทรงตัว ในภาวะเช่นนี้ จากมุมมองของการกระจายสินทรัพย์ในการลงทุน (asset allocation) ยังคงมีเหตุผลในการลงทุนในหุ้น และด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของหุ้นไทยยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงและเปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดี มุมมองต่อหุ้นต่างประเทศ
  • ตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ มีความน่าสนใจ พื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น เริ่มเห็นกำไรของบริษัทจดทะเบียน
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีพื้นฐานที่ดี เศรษฐกิจมีศักยภาพสูง มีโอกาสได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ วงจรเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ราคาบ้านเป็นขาขึ้น นโยบายลดภาษีเงินได้เป็นผลดีต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน แต่บางกลุ่มธุรกิจอาจมีผลลบ
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีความน่าสนใจจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ปัจจัยพื้นฐานดูดีขึ้น
ความเสี่ยงต่อการลงทุน 12 เดือนข้างหน้า
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • การปรับลดการกระตุ้นนโยบายการเงินในหลายประเทศ อาจนำไปสู่ความผันผวนของราคาสินทรัพย์
  • ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
  • ความเสี่ยงจากการเมืองระหว่างประเทศ
บล.ภัทรจึงเลือกให้พอร์ตการลงทุนมีสัดส่วนของหุ้นประมาณ 60% ของพอร์ต มีสัดส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นโลกประมาณ 2 ใน 3 ของเงินลงทุนในหุ้น โดยลงทุนผ่านกองทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนระดับโลก 2 กองเพื่อกระจายความเสี่ยง และมีสัดส่วนของหุ้นไทย 1 ใน 3 ของเงินลงทุนในหุ้น โดยลงทุนผ่านทั้งกองทุน passive ที่น่าจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี SET50 และกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนดูแล อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับสูงขึ้นในอีก 12 ปีข้างหน้า แต่ยังเลือกลงทุนในกองทุนพันธบัตรประมาณ 1 ใน 4 ของเงินลงทุน และมีสัดส่วนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง   วิน พรหมแพทย์ CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เกาะติดโครงสร้างพื้นฐานอสังหาฯ ฉายแววสดใส คำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุน 100 ล้านบาทสำหรับปี 2560 โดย วิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เน้นย้ำที่ 2 ธีม ดังนี้ 1. โครงสร้างพื้นฐานนำหน้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้บูมเฉพาะในสหรัฐฯ จากนโยบายหาเสียงของ Donald Trump เท่านั้น แต่เป็นแนวโน้มกระแสหลักที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก จึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 2. อสังหาฯ สร้างรายได้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นในการขึ้นดอกเบี้ย แต่เชื่อว่า ในภาพรวมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยต่ำการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จึงยังมีความน่าสนใจมาก โดยตัวเลขอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนในกองรีททั่วโลก (Implied IRR of Global REITs) อยู่ที่ 6.0-7.0% ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่าเช่าก็จะเพิ่มขึ้นด้วย การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองรีท จึงมีความน่าสนใจมาก “ผมและทีมงานลงทุนของ CIMB-Principal ได้จัดทำพอร์ตแนะนำสำหรับนักลงทุนทั้งหมด 5 รูปแบบ ตั้งแต่เสี่ยงน้อยไปถึงเสี่ยงมาก ในชื่อว่า iChoice Menu โดยพอร์ตที่นำมาแนะนำให้กับ Forbes Thailand คือ Growth Portfolio มีสัดส่วน ตราสารหนี้ 20%, หุ้นไทย 30%, หุ้นต่างประเทศ 20% และสินทรัพย์ทางเลือก 30% ผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาว คือ 6.63% ต่อปี (กรณีปกติ) ในกรณีดีอาจจะมากถึง +21.79% และในกรณีแย่อาจจะ -8.53% พอร์ตแบบนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง มีระยะเวลาลงทุนตั้งแต่ 5-10 ปีขึ้นไป” ตราสารหนี้ 20% การลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ที่ได้ investment grade ยังคงเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงสุดและมีความผันผวนของราคาต่ำที่สุด แต่ด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำจึงแนะนำสัดส่วนเพียง 20% โดยแนะนำกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL Core Fixed Income (iFIXED) หุ้นไทย 30% ในภาพรวมตลาดหุ้นไทยนับว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตดี แรงขายต่างชาติน้อยลง ประกอบกับดอกเบี้ยต่ำทำให้นักลงทุนยังชอบหุ้นไทยเพราะให้ปันผล 3-4% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ขอแนะนำกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL Equity Dividend Income (iDIV) เป็นกองทุนหุ้นที่เน้นเลือกหุ้นรายตัวและการมีวินัยลงทุนอย่างเคร่งครัด หุ้นต่างประเทศ 20% แนะนำให้เลือกลงทุนในธีมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ทางด่วน สนามบิน เสาโทรคมนาคม ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โครงการเหล่านี้มีรายได้มั่นคงและมีกระแสเงินสดต่อเนื่อง ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ขอแนะนำกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL Global Infrastructure Equity (GIF) เลือกลงทุนในธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 25-30 บริษัทในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก สินทรัพย์ทางเลือก 30% ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะช่วยสร้างรายได้จากค่าเช่าในระดับ 5-6% ต่อปีสูงกว่าดอกเบี้ยหลายเท่า ขอแนะนำกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL Property Income Fund (iPROP) 20% เป็นกองทุนประเภท fund of property fund ที่ลงทุนใน property fund และ REIT ทั้งภูมิภาคเอเชีย เน้นลงทุนในกองรีทของไทยกับสิงคโปร์ในสัดส่วนอย่างละ 50% เน้น sector ที่มีอัตราการเช่าสูง ได้แก่ ค้าปลีก ออฟฟิศ และ business park และกองทุนเปิด CIMB-PRINCIPAL Global REITs (GREITs) 10% บริหารจัดการโดย Principal Global Real Estate เป็นทีมจัดการกองทุนมืออาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก   อ่านต่อ:คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท ตอนที่ 2
คลิกอ่าน "คัดสรรสุดยอดกลยุทธ์บริหารเงินทุน 100 ล้านบาท" ฉบับเต็ม ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine