การทยอยฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก นำไปสู่การเปิดเศรษฐกิจได้ในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิด พฤติกรรมผู้บริโภค หลังเศรษฐกิจเปิดใหม่อีกครั้งในรูปแบบใดบ้าง
ซึ่งล่าสุดรายงานการเดินทางผ่านการบินภายในประเทศสหรัฐฯ มีการเดินทางสูงกว่า 2 ล้านคน (ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2020) คิดเป็นจำนวนร้อย 74 ของการเดินทางของวันเดียวกันเมื่อปี 2019 นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ยังได้ตั้งเป้าหมายว่าอย่างน้อยร้อยละ 70 ของผู้ใหญ่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ก่อนวันชาติสหรัฐฯ ทำให้ตอนนี้ประเทศขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ จีน และในอนาคตอันใกล้คาดจะเป็นกลุ่มประเทศยุโรป จะกลับเข้าสู่โหมดการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากขึ้น ทั้งนี้ เราพบว่ามีพฤติกรรมและกิจกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วง Lockdown ได้กลับกลายเป็นสิ่งที่อาจจะยังคงอยู่และอาจจะไม่ได้ลดลงอีกต่อไป ซึ่งจะมีพฤติกรรมและกิจกรรมอะไรบ้างที่น่าจับตามอง ติดตามได้จากบทความนี้ครับ ภายหลังเปิดเศรษฐกิจ มีกิจกรรมบางอย่างยังเติบโตได้ดี การทำงาน ที่อาจไม่จำเป็นต้องเข้า Office 100 เปอร์เซ็นต์ ดูได้จากตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่ถือว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเปิดประเทศมากที่สุด เริ่มมีกระแสจากพนักงานถึงความต้องการให้มีจำนวนวันทำงานที่ไม่ต้องเข้า Office และกลุ่มธุรกิจการเงินอย่าง Citigroup ที่ล่าสุดยังไม่ได้มีการประกาศให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่สำนักงาน New York ซึ่งเร็วสุดน่าจะเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป อีกทั้งยังอาจให้บางหน่วยงานสามารถทำงานได้ทั้งจากที่บ้าน และ Office ได้ในระยะยาว ส่งผลให้มีการพูดถึง “Hybrid Workplace” มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นหลายๆ บริษัทอาจจะอนุญาติให้มีการทำงาน 4/1 คือ สามารถเลือกจะทำงานนอก Office ได้ 1 วันต่อสัปดาห์ ส่วนด้าน ข้อดี - ข้อเสีย เชื่อว่าในช่วง Lockdown น่าจะทำให้ผู้บริหารพอจะประเมินได้ โดยเฉพาะ Operating Cost ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนด้าน Productivity มีทั้งรายงานด้านบวก และ ลบ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ แผนภาพที่ 1: ผลสำรวจผู้บริหารมีแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการทำงาน “Hybrid Workplace” ที่มา: Globalx "Key Themes for The New Normal Economy" การหาหมอทางไกล ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอาจเริ่มเห็นบริการหาหมอระบบออนไลน์มากขึ้น หรือ ที่ชัดเจนคือ ปริมาณการซื้อยาทานเองในร้ายขายยาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในสหรัฐฯ และหลายประเทศพัฒนาแล้ว ไม่สามารถซื้อยาหลายชนิดได้ง่าย ในช่วงโรคระบาดทำให้การหาหมอทางไกล “Telehealth” มีปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีรายงานว่าการใช้บริการดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลสำรวจประชาชนสหรัฐฯ จำนวนกว่า 2,000 คน พบว่า ก่อน มีนาคม 2020 มีการใช้บริการเพียงร้อยละ 19.5 แต่ภายหลังโรคระบาด 1 ปี (มีนาคม 2021) กลับพบว่า มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงถึงร้อยละ 61 ของผู้สำรวจ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ก่อนหน้าการระบาด ผู้ทำแบบสำรวจร้อยละ 65 รู้สึกไม่สบายใจในคุณภาพของ Telehealth และร้อยละ 56 ไม่เชื่อว่าการหาหมอทางไกลจะได้รับบริการเทียบเท่ากับการพบโดยตรง แต่ล่าสุด พบว่าร้อยละ 88 ต้องการกลับไปใช้บริการต่อ ดังนั้น เทรนด์การใช้บริการน่าจะเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แผนภาพที่ 2: แบบสำรวจสะท้อนการยอมรับบริการ Telehealth มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่มา: www.skyes.com การซื้อของออนลไน์ แนวโน้มยังเติบโตได้ดี และ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม E-commerce ในเอเชีย ที่มีการเติบโตรวดเร็วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พิจารณาจากงบการเงินบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น Lazada (ภายใต้ บริษัท Alibaba) Shopee (ภายใต้บริษัท Sea Limited) และจากตัวอย่างด้านล่าง จะเห็นได้ว่าธุรกิจของ Shopee ในรอบ 1 ปี ยังเติบโตได้ในทุกๆ ไตรมาส ซึ่งแนวโน้มน่าจะยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะฐานของลูกค้าที่อยู่ในเอเชียี ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้อีก แผนภาพที่ 3: Gross Merchandise Value (Shopee) ที่มา: Investor Relation Sea Limited การลงทุนภายหลังโรคระบาด ....ในรอบ 6 เดือนเป็นอย่างไรบ้าง? การลงทุนในรอบเกือบครึ่งปี (ณ วันเขียน 15 มิ.ย. 2021) จะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการ Re-opening Economy สร้างผลตอบแทนได้ดี (ผู้เขียนใช้ ETF ในสหรัฐฯ เป็นตัวแทนการลงทุน) อาทิ ธุรกิจพลังงาน ค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่กลุ่มที่เคยเป็นผู้นำในปีที่แล้วในช่วงโรคระบาด เช่น Internet, Software และ Biotechnology กลับอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย หรือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด กลับสร้างผลตอบแทนติดลบ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากกลุ่มทั้ง 2 ในปี 2020 สร้างผลตอบแทนที่ดี จึงถูกขายทำกำไรออกมา และ มีการกลับเข้าเก็งกำไรกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการ Re-opening Economy ในช่วงครึ่งปี 2021 แผนภาพที่ 4: ผลตอบแทน ETF ราย Sector นับจากต้นปี 2021 (%) ที่มา: Koyfin (ข้อมูล ETF ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2021) อย่างไรก็ดี จาก 3 ตัวอย่างที่กล่าวไปในช่วงต้น แม้ว่าการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มเป็นปกติมากขึ้น แต่พฤติกรรมที่เราเคยปฏิบัติในช่วงล็อกดาวน์ กลับสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้สิ่งที่เราเคยคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้วมาเกิดเร็วขึ้นภายในเวลาไม่ถึงปี ดังนั้น การลงทุนหากยังคงมองแนวโน้มในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า เชื่อว่าการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี การแพทย์ และพลังงานสะอาด จะยังคงน่าสนใจ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสมากกว่าที่จะกลับเข้าลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนในก่อนหน้า หรือ ผู้ที่ลงทุนไปแล้วแต่ราคาปรับลดลงน่าจะคลายความกังวลลงได้ บทความโดย กันติพัฒน์ วงศ์สุคนธ์ Head of Wealth Advisory บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ Source: https://www.healthcarefinancenews.com/news/most-consumers-want-keep-telehealth-after-covid-19-pandemic https://www.sykes.com/resources/reports/how-americans-feel-about-telehealth-now/ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine