ราคาทองคำจะปรับตัวแกร่งขึ้นเนื่องจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการทองของบรรดาธนาคารกลาง และการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย นับตั้งแต่ปลายปี 2566 ราคาทองคำปรับตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ และไม่เคยปรับตัวลดลงเลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้การปิดสถานะ Carry Trade ด้วยสกุลเงินเยนจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดโลก แต่นักลงทุนยังคงมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ราคาทองคำไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับประมาณ 2,500 เหรียญต่อออนซ์ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากราคา 2,000 เหรียญในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทิศทางราคาทองคำยังคงดูสดใส โดยคาดว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,700 เหรียญต่อออนซ์ภายในกลางปี 2568 และเป็นไปได้ว่าอาจปรับตัวต่อเนื่องแตะระดับ 3,000 เหรียญต่อออนซ์ในระยะยาว
ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ได้แก่ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางหลายประเทศ ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ การคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สินทรัพย์ปลอดภัย
ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทางภูมิรัฐศาสตร์โลกถือเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำประการแรก จากความขัดแย้งในทวีปยุโรปและภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ภาคอุตสาหกรรมรายงานว่า นักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อทองคำแท่งจำนวนมากเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ 2 คือ การที่ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่และเอเชียหันมาถือครองทองคำเป็นทุนสำรองเงินตรามากขึ้น
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ถือครองทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากสภาทองคำโลก ณ เดือนพฤษภาคม ปี 2567 ระบุว่า จีนถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,300 ตัน หรือร้อยละ 5 ของทุนสำรองทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นการถือครองที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 จากปริมาณ 1,900 ตันในปี 2565
รายงานข่าวล่าสุดบางแห่งระบุว่า ธนาคารกลางจีนได้หยุดซื้อทองคำในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารกลางจีนได้รายงานการซื้อทองคำเป็นตัวเลขสะสมหลังผ่านไปหลายเดือน และเป็นที่น่าสนใจว่าธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่และเอเชียถือครองทองคำในสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของงบดุล ขณะที่ธนาคารกลางในตลาดพัฒนาแล้วและยุโรปถือครองทองคำโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 หรือสูงกว่าของงบดุล ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ถือครองทองคำ สำรองประมาณ 8,100 เมตริกตัน หรือประมาณ 6.25 แสนล้านเหรียญ เมื่อคำนวณจากราคาตลาดปัจจุบันที่ประมาณ 2,400 เหรียญต่อออนซ์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของงบดุลทั้งหมดมูลค่า 7.2 ล้านล้านเหรียญ
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าและการคว่ำบาตรทั่วโลกอาจส่งผลให้ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่และเอเชียมีแรงจูงใจในการเพิ่มการถือครองทองคำให้เทียบเท่ากับธนาคารกลางในตลาดพัฒนาแล้ว และหันมาจัดสรรทุนสำรองไปยังทองคำมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจธนาคารกลางทั่วโลกโดยสภาทองคำโลกเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่หันมาถือครองทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้นก็คือ การที่ทองคำสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการชำระเงินด้วยเหรียญสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากการคว่ำบาตร
ยังมีปัจจัยที่ 3 ที่คาดว่าจะเพิ่มความต้องการทองคำในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์เงินเฟ้อและตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะเริ่มต้นวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้
ในปี 2567 คาดว่า Fed น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในการประชุมเดือนกันยายนและธันวาคม และคาดว่าจะตามด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 100 bps ในปี 2568 โดยลดลงไตรมาสละ 25 bps จากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาตลาดคาดหวังว่า Fed น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีลดลงจาก 4.5% ในไตรมาสที่ 2 ลงสู่ระดับต่ำกว่า 4% ในเดือนสิงหาคม
ก่อนหน้านี้การเข้าซื้อทองคำและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องจากนักลงทุนสถาบันค่อนข้างซบเซาเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทองคำต่างจากตราสารหนี้หรือการลงทุนในหุ้นอื่นๆ ตรงที่ทองคำไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลสม่ำเสมอ ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยเคยสูงถึงร้อยละ 5 ทำให้การลงทุนในทองคำมีต้นทุนค่าเสียโอกาสอย่างมี
นัยสำคัญ อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าเสียโอกาสนี้เริ่มปรับลดลงจากการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed จึงคาดว่านักลงทุนสถาบันจะหันกลับมาลงทุนในทองคำอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เครื่องมือหลักที่นักลงทุนสถาบันใช้ในการซื้อทองคำคือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม ETF ทองคำ คาดว่าปริมาณการถือครองกองทุนรวมประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อนักลงทุนสถาบันกลับมาซื้อทองคำอีกครั้ง
เครื่องมือกระจายความเสี่ยง
หนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำในระยะยาวคือ การที่ทองคำเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่งซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนต่างมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัยในช่วงที่ความผันผวนในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดจากการปิดสถานะ Carry Trade ของสกุลเงินเยน
แม้จะเกิดความผันผวนในวงกว้างและความผันผวนระหว่างวันของตลาดโลกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม แต่ราคาทองคำยังคงมีเสถียรภาพที่ระดับ 2,400 เหรียญต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 2,500 เหรียญต่อออนซ์เมื่อไม่นานมานี้
ท่ามกลางความผันผวนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาราคาทองคำช่วง 3 เดือนได้สะท้อนถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 16 แม้ว่าดัชนี S&P VIX ซึ่งเป็น “มาตรวัดความกลัว” ของตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 ก็ตาม จึงคาดว่าราคาทองคำน่าจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2,700 เหรียญได้ภายในกลางปี 2568
แม้ว่าอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะมองไกลขนาดนั้น แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำไปแตะระดับ 3,000 เหรียญในระยะยาวก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เรื่อง: Gidon Jerome Kessel ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ภาพ: ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย, Adobe Firefly
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ดีมานด์ 'ทองคำ' ทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไทยต้องการทองมากสุดในอาเซียนติดต่อกัน 2 ไตรมาส