แม้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจการใช้งาน AI และไม่สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ รวมทั้งยังกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานของตัวเองในอนาคต แต่ในความเป็นจริง AI สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคู่คิดที่มีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้งานดีขึ้นได้หากมีความรู้และเข้าใจการนำมาใช้งานอย่างถูกวิธี
AI เป็นผู้ช่วยไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
การนำ AI มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพควรต้องเข้าใจการทำงานของ AI ก่อนเป็นอันดับแรก โดยคำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ถูกตั้งชื่อครั้งแรกในปี 2499 และตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานของการคำนวณ สถิติ เพื่อการวิเคราะห์ทำนาย และประเมินผลในวงการเฉพาะด้านต่างๆ เช่น วิศวกรรม การซื้อขายหุ้น และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกว่า Predictive AI
จนกระทั่งในปลายปี 2565 Generative AI เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากความสามารถในการสร้างภาษาที่มนุษย์เข้าใจได้ง่ายทำให้ AI มีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่า Generative AI เป็นเสมือนผู้ช่วยที่พูดเก่ง เล่าเรื่องเก่ง เก่งในการหาไอเดียใหม่ๆ หากไม่ชอบก็สั่งให้ทำใหม่ได้ทันทีและทำงานได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจนำข้อมูลไม่ถูกต้องมาเล่าก็เป็นไปได้ ดังนั้น การใช้งานต้องตระหนักว่า “AI เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ” แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถสั่งการให้ทำงานได้ตามต้องการ โดยมนุษย์ต้องเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจว่าผลลัพธ์ที่ AI สร้างขึ้นมานั้นดีพอหรือยัง และต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยหลัก AI Draft Human Craft
ขณะที่การเรียนรู้การใช้ AI ไม่ใช่เรื่องยาก โดยสามารถเริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อยด้วยการลองใช้เครื่องมือ AI ที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น Gemini, ChatGPT, Copilot ฯลฯ หรือเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ่านหลักสูตรออนไลน์และเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับ AI ที่มีอยู่มากมายทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ AI ทำอะไรได้บ้าง แต่สำคัญว่าจะนำ AI มาใช้ทำอะไร เมื่อต้องเริ่มนำ AI มาใช้ลองหา use case ในหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ หรือเกิดปัญหาบางอย่างและเสาะหาวิธีนำ AI มาช่วยงานบางส่วน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การตอบอีเมลอัตโนมัติ การสร้างเอกสาร การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์การเงินการบัญชี ยอดขาย หรือการประมวลผลสต็อกสินค้า หากยังนึกไม่ออกว่าจะเอามาใช้อะไรก็ให้ถาม AI เช่น ในงานที่รับผิดชอบอยู่สามารถใช้ use case อะไรได้บ้าง ให้ยกตัวอย่างมา 10 ข้อ
เปลี่ยนแปลงธุรกิจและการศึกษา
AI กำลังปฏิวัติวงการธุรกิจในหลายด้าน เช่น การทำนายความต้องการของลูกค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ การยกระดับการบริการลูกค้า และการปรับปรุงการตัดสินใจทางธุรกิจ การนำ AI มาใช้ไม่เพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังช่วยให้การตัดสินใจในธุรกิจเป็นไปอย่างชาญฉลาดและแม่นยำยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ AI สามารถประมวลผลความต้องการของลูกค้าและสามารถเสนอไอเดียกลยุทธ์การเสนอสินค้าได้อย่างน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้ข้อมูลการเรียนรู้เชิงลึกและการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจสามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็ว สะดวก ตลอดจนวิเคราะห์ผลประกอบการ งบการเงิน รายงานการขาย เพื่อวิเคราะห์อินไซต์สุขภาพของธุรกิจ
สำหรับงานด้านบุคลากรอาจใช้ AI วิเคราะห์ผู้สมัครแต่ละคนว่ามีความเหมาะสมต่องานที่ประกาศหรือไม่ ทั้งด้านความสามารถหรือแม้แต่โหวงเฮ้งของผู้สมัคร โดยมีการกล่าวว่า “AI อาจไม่ได้มาแทนที่คน และคนที่ใช้ AI จะมาแทนที่คนที่ไม่ใช้มัน” ในทางธุรกิจและวงการอื่นๆ ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน
นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจ AI ยังมีบทบาทสำคัญในแวดวงการศึกษาอีกด้วย การใช้ AI ช่วย tailor made การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้มากขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามจังหวะของตัวเองและมีการประเมินผลแบบส่วนบุคคล
รวมถึง AI ยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการสอน โดยเป็นผู้ช่วยสอนอัจฉริยะในการเตรียมบทเรียน การเป็นผู้ช่วยสอน (teacher assistant) การสร้างแบบฝึกหัด และการตอบคำถามเพื่อการเรียนรู้ ทำให้ครูสามารถมุ่งเน้นไปที่การสอนและการให้คำแนะนำกับนักเรียนได้อย่างเต็มที่
ในปัจจุบันแวดวงการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการใช้ AI มากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุมที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ยุค AI University โดยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนแรกๆ ที่ทรานส์ฟอร์มการทำงานด้วย AI ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่สอดคล้องกับยุค AI ด้วยการจัดอบรมการใช้ AI สำหรับผู้บริหารและบุคลากรระดับปฏิบัติการ รวมถึงจัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสำหรับภาคธุรกิจภายใต้สถาบัน Academy of Business Intelligence (ABI) ผ่านหลักสูตร AI for Business และหลักสูตรอื่นๆ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนทั้งการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ยุค AI Transformation ได้รวดเร็วที่สุด
ขณะเดียวกันยังมอง AI เป็นผู้ช่วยหรือ “AI Helper” ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนการสอนได้ โดยสร้าง “AI Habit” หรือนิสัยการใช้ AI ให้กับบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักศึกษา รวมถึงเปิด AI Solution Clinic ให้บริการปรึกษา วิเคราะห์ และไขปัญหาการนำ AI มาประยุกต์ใช้ พร้อมเปิดกลุ่ม AI Forum ศูนย์กลางรวบรวมกรณีตัวอย่างและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการใช้ AI ทั้งยังมี AI Mission Community of Practice สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ AI ใน use cases ต่างๆ
สิ่งสำคัญในการนำ AI มาใช้ด้านการศึกษาอยู่ที่การอบรมพัฒนาอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถรู้จักและเข้าใจการใช้งาน AI พื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจารย์สามารถใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทาง Outcome Based Learning (OBL) และให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้จากเครื่องมือ AI ที่จะช่วยเปิดโลกวิชาชีพนอกห้องเรียน เกิด Deep Thinking และ Deep Learning ได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตงานส่ง แต่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้การเข้าใจและนำ AI มาใช้ในธุรกิจและการศึกษาไม่ใช่เรื่องยาก หากมอง AI เป็นผู้ช่วยที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและเปิดโอกาสใหม่ๆ ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง
บทความโดย ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ม.ศรีปทุม
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การปรับตัว-เตรียมพร้อมธุรกิจในยุค GenAI