ในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของโลก อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นหนึ่งในรากฐานที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศไทย โดยเทรนด์โลจิสติกส์ที่มาแรงในปีนี้ต้องยกให้กับ digital supply chain และ sustainable supply chain รวมถึงเทคโนโลยี AI และ IoT ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมและยกระดับศักยภาพของไทยสู่การแข่งขันระดับโลก
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไม่ได้เป็นเพียงส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เป็นปัจจัยหลักที่เชื่อมโยงการผลิต การกระจายสินค้า และการส่งออกในตลาดโลก การจัดการที่มีประสิทธิภาพช่วยลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการส่งมอบ และยกระดับคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูงกว่า 1.8 ล้านล้านบาทในปี 2565
ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ เช่น การแข่งขันในตลาดโลก ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงและความคาดหวังในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและการปรับตัวสู่เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับเทรนด์สำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย ได้แก่ digital supply chain คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น การใช้ AI วางแผนการผลิต ระบบอัตโนมัติ (automation) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
นอกจากนี้ IoT ยังมีบทบาทสำคัญในการติดตามสถานะสินค้าและควบคุมคุณภาพ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการขนส่งและการจัดการสินค้าคงคลัง
ในปัจจุบันศักยภาพโลจิสติกส์ของไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีเป้าหมายพัฒนาประสิทธิภาพให้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 25 ภายในปี 2570 การขับเคลื่อนด้วย digital supply chain จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค
ขณะเดียวกันเทรนด์ sustainable supply chain ซึ่งมีความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน การพัฒนาโซ่อุปทานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยคาร์บอนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเป้าหมายหลักของทุกภาคส่วน การทำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI และ IoT มาช่วยในการวางแผนและติดตามกระบวนการต่างๆ จะช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรรวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน
ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ พ.ศ. 2566 - 2570 ของไทยได้มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก
ปรับตัวรับความท้าทายรอบด้าน
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านราคา และการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง โดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ข้อมูลผู้บริโภค และเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ยากขึ้น
ขณะที่ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง โดยหนึ่งในวิธีการแก้ไขคือ การใช้การขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ (Less than Container Load: LCL) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในซัพพลายเชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ผู้ประกอบการไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้ ทำให้การปรับตัวและการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นไปได้ยากลำบาก
นอกจากนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งฝ่ายของประเทศมหาอำนาจอาจนำไปสู่การกีดกันทางการค้า ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการสร้างความไม่แน่นอนในธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ยังเผชิญกับความท้าทายในการจัดการข้อมูลในโซ่อุปทาน การหาพันธมิตรซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม และการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยี
สำหรับการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในภาคโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
ขณะเดียวกันการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและประเทศมีความสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยต้องสอดคล้องกับนโยบายของประเทศเพื่อนำไปสู่ปลายทางการยกระดับคุณภาพบุคลากร ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI และ IoT มาใช้ในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน
นอกจากนั้น การพัฒนาหลักสูตรควรเน้นไปที่การจัดการอย่างยั่งยืนซึ่งครอบคลุมการจัดการโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการออกแบบหลักสูตรและฝึกอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรที่จบการศึกษามีทักษะและความรู้ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ตัวอย่างเช่น หลักสูตร Digital Supply Chain & AI ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPI) ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การจัดการโซ่อุปทานดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลโซ่อุปทาน และการจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายสู่การเป็น “Hub of Logistics High Competency” ภายในปี 2570 พร้อมตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
บทความโดย ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU)
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จับตา “AI” เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก