การเกษียณอายุในมุมมองของคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องในระยะยาวทำให้มักจะละเลยการวางแผนเพื่อการเกษียณ แต่ในความเป็นจริงการวางแผนการเกษียณยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไรยิ่งดี
การเริ่มออมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ จะใช้เงินน้อยกว่า เพราะมีพลังของ “เวลา” เป็นตัวช่วยทำให้เงินงอกเงยได้มากกว่า สมมติว่าคนที่ต้องการมีเงินตอนเกษียณ 4 ล้านบาท ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 25 ปี แค่ออมเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น แต่ถ้ามาเริ่มออมที่อายุ 45 ปี ต้องออมถึงเดือนละ 15,000 บาท เพื่อให้ได้จำนวนเงินที่เท่ากัน (บนสมมติฐานผลตอบแทน 6% ต่อปี) ตามคำกล่าวที่ว่า “พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาลคือ พลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น”
จำนวนเงินต้นที่สูงขึ้นเปรียบเสมือนการกลิ้งลูกบอลบนหิมะ ยิ่งกลิ้งไปไกลก็ยิ่งใหญ่ขึ้น เงินที่ลงทุนไว้ยิ่งนานและออมอย่างต่อเนื่องเงินก็ยิ่งงอกเงยมากขึ้น แต่หากเริ่มออมเงินเมื่ออายุมากหรือใกล้เกษียณอาจไม่ทันการณ์
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association: TFPA) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งมากว่า 16 ปี และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงินหรือ FPSB (Financial Planning Standards Board Ltd.) หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินและเริ่มลงมือวางแผนการเงินอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงทางการเงิน
สมาคมมีคำแนะนำเพื่อวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณที่ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอาชีพแบบใด พนักงานประจำ ข้าราชการ หรืออาชีพอิสระ สามารถทำตาม 7 ขั้นตอนนี้ได้
ขั้นตอนแรก เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้เห็นข้อมูลการใช้จ่ายและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้เกิดความสมดุลกัน หลังจากนั้นจึงตั้งเป้าหมายการออมและเก็บออมอย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัย ถัดมาเป็นขั้นตอนการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยขั้นตอนต่อมาเป็นการวางแผนประกันภัยเพื่อปกป้องความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
นอกจากนั้น การวางแผนการเงินที่ดีต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว และหากมีหนี้เกินตัวต้องรีบแก้ไขและไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยต้องแยกหนี้ที่ดีซึ่งเป็นหนี้ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้บ้าน ออกจากหนี้ที่ไม่ดี หนี้ที่ทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลง เช่น หนี้จากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือมีความจำเป็นน้อย พร้อมทั้งเริ่มต้นวางแผนเกษียณให้เร็วที่สุด โดยจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะมและหมั่นหาความรู้ในการลงทุนอยู่เสมอๆ เพื่อที่จะได้ปรับรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุนและรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป
ขณะที่การลงทุนควรเริ่มต้นจาก “กองทุนที่ให้ประโยชน์ 2 ต่อ” คือ กองทุนที่มีเป้าหมายเพื่อการเกษียณและได้ลดหย่อนภาษีด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานประจำ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่พนักงานประจำส่วนใหญ่ได้รับจากบริษัท โดยสามารถออมเงินได้ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน
ส่วน “ข้าราชการ” แน่นอนว่าต้องออมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก่อน ซึ่งลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินเดือน ส่วน “อาชีพอิสระ” ที่ไม่มีประกันสังคมสามารถออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. และ กอช. ควรออมให้เต็มอัตราเท่าที่สามารถทำได้ สามารถทยอยแจ้งปรับการหักเงินเพิ่มขึ้นตามความสามารถการออมที่มากขึ้นได้ เพื่อสะสมเงินออมเพื่อการเกษียณให้เพียงพอตามหลักยิ่งออมมากยิ่งมีเงินมาก
ต่อมาควรออมเพิ่มด้วยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ ช่วยลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้นำมาลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อลงทุนกองทุนที่ออมเพื่อการเกษียณแล้วยังมีเงินออมเหลือควรลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 300,000 บาทเพิ่มได้อีก
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มอาชีพพนักงานประจำซึ่งมีความเชื่อว่า การทำงานแบบพนักงานบริษัทมีความมั่นคง เพราะมีเงินเดือนสม่ำเสมอ มีสวัสดิการ มีประกันสุขภาพ แต่อาจลืมนึกถึงความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจ การมีโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่คาดฝัน การเกิดอุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยที่อาจทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้
ดังนั้น หากทำได้ควรหาช่องทางสร้างให้เกิดเป็นรายได้ทางที่ 2 โดยวางแผนการค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพทั้งจากสวัสดิการภาครัฐและจากการทำประกันสุขภาพ หรือมีประกันกรณีทุพพลภาพ เพื่อคนรอบข้างจะไม่ต้องเดือดร้อนจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน
เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพข้าราชการซึ่งเชื่อว่ามีความมั่นคงสูงสุด มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และเมื่อเกษียณยังมีบำนาญกินรายเดือนตลอดชีวิต แต่ลืมนึกถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ยาบางรายการอาจไม่อยู่ในรายการที่เบิกได้ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุที่อาจทำให้ทุพพลภาพไม่สามารถทำงานได้ หรือหากเสียชีวิตจะทำอย่างไรไม่ให้คนในครอบครัวได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้
ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรระวังของอาชีพข้าราชการคือ การค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้อื่น เพราะระบบข้าราชการจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ค้ำประกันเงินกู้ยืมแบบพลัดกันยืมพลัดกันค้ำซึ่งอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนค้ำประกันเงินกู้ยืมให้ใครต้องอ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็นค้ำประกัน และต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน การเซ็นสัญญาที่เขียนว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้” เป็นสิ่งที่อันตรายมาก อาจทำให้ต้องไปร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่คนอื่นก่อขึ้นมา
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่มีรายจ่ายถาวร ยิ่งจำเป็นต้องวางแผนการเงิน โดยควรเริ่มต้นทำรายรับ รายจ่าย ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี และพยายามกำหนดเงินเดือนตนเองเสมือนพนักงานประจำเพื่อให้มีวินัยการเงินมากขึ้น รวมถึงการสร้างแผนสำรองเงินสดยามฉุกเฉินระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และออมเงินให้ได้ 20-40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี สามารถออมเงินได้ตามความสมัครใจกับกองทุนเงินออมแห่งชาติ ขั้นต่ำตั้งแต่ 50 บาทต่อปี สูงสุด 30,000 บาทต่อปี และรัฐสมทบสูงสุด 100% แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ไม่จำเป็นต้องออมเป็นประจำเท่ากันทุกเดือน และสามารถออมกับ กอช. ตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเข้าระบบการทำงานยังได้รับสิทธิออมเงินต่อเนื่อง จนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และยังออมคู่ขนานได้ เป็นกองทุนที่มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนในอัตราไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร และยังสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อปี นับว่าเป็นทางเลือกการออมที่คุ้มค่าสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ
หากทำได้ตามนี้เชื่อว่าใครที่เป็นพนักงานประจำ ข้าราชการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะมีการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ และมีความพร้อมด้านการเงินก่อนวันเกษียณได้อย่างแน่นอน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ประเทศไทยควรจะจริงจังกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือไม่?