“Think like a CEO” ไอบีเอ็ม เผยโอกาสผ่านเลนส์ผู้บริหาร 3,000 คนทั่วโลก - Forbes Thailand

“Think like a CEO” ไอบีเอ็ม เผยโอกาสผ่านเลนส์ผู้บริหาร 3,000 คนทั่วโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Apr 2021 | 08:07 AM
READ 2550

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมักพบโอกาสท่ามกลางวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ Google ในช่วงที่ dotcom กำลังย่ำแย่ การเติบโตของ Facebook ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ "ไอบีเอ็ม" เองที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี

หากวันนี้จะมีองค์กรที่กล้าเดินหน้าสร้างธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาด คำถามน่าคิดคือ มีโอกาสแฝงอยู่ตรงไหนบ้าง สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) จึงได้ตั้งคำถามเรียบง่ายตรงประเด็นกับ CEO กว่า 3,000 คนทั่วโลก ว่าหากจะเริ่มธุรกิจใหม่ในวันนี้ ประเทศไหนควรจะเป็นเป้าหมายตลาดอันดับต้นๆ ควรโฟกัสที่อุตสาหกรรมใด และเทคโนโลยีใดที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ 5 ประเทศจุดหมายสำหรับธุรกิจใหม่ ผลการสำรวจพบว่า อินเดียคือจุดหมายสำหรับการสร้างธุรกิจใหม่ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด (ร้อยละ 12) ตามมาติดๆ ด้วยจีน (ร้อยละ 11) ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และมีกำลังซื้อในประเทศมหาศาล ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีหากต้องการสเกลธุรกิจ แม้อิตาลี (ร้อยละ 8) มักจะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การที่อิตาลีโดนโควิด-19 กระทบอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาด ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจโดยต่อยอดจากเส้นทางที่ผู้เล่นรายใหญ่เคยได้กรุยทางไว้แล้ว ขณะที่แม้สหรัฐอเมริกาจะได้รับการจัดอันดับธุรกิจค่อนข้างสูง แต่ CEO ที่กำลังทำธุรกิจที่สหรัฐฯ​ กลับมองเห็นโอกาสที่สดใสกว่าในภูมิภาคอื่นของโลก ขณะที่สิงค์โปร์ (น้อยกว่าร้อยละ 3) แม้จะอยู่ในอันดับที่ 5 แต่ก็นำหน้าประเทศอย่างเยอรมัน บราซิล และญี่ปุ่น 5 อุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยโอกาส อุตสาหกรรมบริการทางการเงินคือเป้าหมายสูงสุดของ CEO ที่สำรวจ (ร้อยละ 12) เพราะมาร์จินสูงแต่ต้นทุนคงที่ต่ำ ซึ่งหมายถึงระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่น่าดึงดูด ขณะที่ค้าปลีกรั้งอันดับสอง (ร้อยละ 9) เนื่องจาก CEO ยังเห็นโอกาสจากการจับจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค รวมถึงโอกาสใหม่ๆ จากอีคอมเมิร์ซ ที่น่าแปลกใจคือการที่อุตสาหกรรมการผลิตรั้งอันดับ 3 (ร้อยละ 9) ทั้งที่การผลิตคือเรื่องของต้นทุนคงที่ที่สูง ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน อีกทั้งยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักในปีที่ผ่านมา กระนั้น CEO กลับมองเห็นโอกาสที่จับต้องได้จากอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม และสร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเติบโตขึ้น อันดับที่สี่คือสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 9) เพราะ CEO มองว่าพฤติกรรมใหม่ๆ ในยุคใหม่ ถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับแบรนด์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคได้ ขณะที่อันดับห้าคืออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (ร้อยละ 5) จากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงการที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 5 เทคโนโลยีนำพาธุรกิจสู่จุดหมาย Artificial Intelligence (AI) รั้งอันดับหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ตามมาด้วย Robotics และ Internet of Things (IoT) ที่ถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับงานที่ต้องทำซ้ำๆ หรือเป็นแพทเทิร์น อันจะนำสู่การลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน อันดับต่อมาคือ Augmented Reality/Virtual Reality (AR/VR) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนอันดับที่ห้าคือ Cloud Computing ซึ่งถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางที่ช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่นๆ การที่ทั้งห้าเทคโนโลยีนี้ต้องทำงานร่วมกันหรือพึ่งพากัน ยังสะท้อนมุมมองของ CEO ที่มองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นตัวกำหนดอนาคตของธุรกิจต่อไป ปี 2021 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและความเปิดกว้างพร้อมขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์กรที่จะรอดพ้นจากวิกฤติและกลับมาเฉิดฉายอย่างเต็มภาคภูมิ หรือธุรกิจใหม่ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ย่อมไม่ใช่ผู้ที่พร้อมที่สุด เร็วที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุด แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปได้มากที่สุด   บทความโดย ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine