“One Belt, One Road” กับ Invisible Digital Line - Forbes Thailand

“One Belt, One Road” กับ Invisible Digital Line

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Oct 2017 | 06:41 PM
READ 9447

ยุทธศาสตร์พญามังกรแห่งบูรพาภิวัตน์ “The greatest Chinese dream is the great revival of the Chinese nation” คือวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดี Xi Jinping ได้กล่าวไว้ในฐานะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปลายปี 2012

วิสัยทัศน์นี้มุ่งไปสู่การฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองเป็นสังคมที่มั่งคั่งมีความเจริญรอบด้าน (moderately well-off society) ภายในปี 2021 และยกระดับจีนให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ในปี 2049 ที่ประเมินว่า GDP per capita จะสูงถึง 30,000 เหรียญสหรัฐฯ และ GDP ของจีนจะครองสัดส่วนมากกว่า 30% ของ GDP ทั้งโลก ซึ่งโตเป็นสองเท่าของปัจจุบัน หนึ่งในความพยายามพัฒนาประเทศจีนไปสู่ความฝันอันสูงสุดดังกล่าวคือ การสร้างให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก โดยผ่านแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 3 คือ 1. China’s Five-Year Plan 2. China’s Belt and Road Initiative หรือ “One Belt, One Road (OBOR)” และ 3. Made in China 2025 OBOR จะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบกับไทยเรามากที่สุด จากเส้นทางสายไหมดั้งเดิมในอดีตสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ พัฒนามาสู่ OBOR ในศตวรรษที่ 21 ที่ตั้งใจเชื่อมเศรษฐกิจทั้งทางบก (Silk Road Economic Belt) และทางทะเล (Maritime Silk Road) โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างเครือข่ายการค้าเชื่อมโยงระหว่างกันใน 3 ทวีป เพื่อพัฒนาให้เป็น economic platform ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 4.5 พันล้านคนใน 65 ประเทศของทวีปเอเชีย ยุโรป และ แอฟริกา หรือกว่า 60% ของประชากรโลกมี GDP มูลค่ารวมทั้งสิ้น 23 ล้านล้านเหรียญ (30% ของปริมาณเศรษฐกิจโลก) ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้มีการจัดตั้ง Silk Road Fund (กองทุนเส้นทางสายไหม) และ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB - ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง) เพื่อช่วยขับเคลื่อน OBOR อย่างเป็นรูปธรรม ถ้า OBOR สำเร็จตามแผนจะส่งผลให้จีนสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องกำลังการผลิตในประเทศจีนที่ล้นตลาดได้ด้วยตลาดใหม่แม้จะไม่เกิดขึ้นทันที แต่มีทิศทางที่ชัดเจนและเมื่อจีนมีการลงทุนใน OBOR กฎเกณฑ์การค้าใน OBOR ก็จะเอื้อจีนมากขึ้น สกุลเงินหยวนก็จะมีการยอมรับในเวทีสากลมากขึ้นเรื่อยๆ OBOR จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทางนโยบาย ทั้งภายในและต่างประเทศของจีนสำหรับภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของจีน รวมถึงเป็นตลาดหลักบนเส้นทางสายไหมใหม่ฝั่งเอเชีย ดังนั้นประเทศไทยจะได้เปรียบมหาศาลจากทำเลที่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน โดยสามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศ “อาเซียนทางบก” และประเทศ “อาเซียนทางทะเล” หากเทียบกับประเทศไทยจะเปรียบได้กับเส้นทางรถไฟเพื่อค้าขายเดิมที่มีเส้นทางรถไฟใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปที่ใหม่ได้ง่ายขึ้นภายใต้กติกาและผู้คุมเกมที่ต่างจากเส้นทางเดิม แม้สถานีใหม่จะอยู่ใกล้หรือได้รับว่าจ้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสถานี แต่มูลค่าที่แท้จริงยังเป็นเพียงโอกาสให้ได้ค้าขายเพิ่มโดยเฉพาะประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างไร ผู้บริโภคยังคงไม่รับประทานอาหารสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อทั้งทางบกและทางทะเลในเส้นทางดังกล่าว จีนจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่เข้ามาลงทุนในไทย แข่งกับแชมป์เก่าอย่างญี่ปุ่น ในปีล่าสุดปริมาณเงินลงทุนของจีนสูงมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” ของภาครัฐจีน OBOR และ EEC จะช่วยวางรากฐานและตอกย้ำาความได้เปรียบของไทยที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน นักธุรกิจสามารถใช้ EEC เป็นฐานการผลิตตั้งต้นขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อกระจายสินค้าไปสู่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ “One Belt, One Road” พาดผ่านเมื่อ OBOR เปิดทางสิ่งที่จะตามมาคือการรุกด้วยแผน Internet + Economy ของจีน ซึ่งทุกสินค้ามาพร้อมกับ IoT (Internet of Things) ของจีน โดยควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่นของจีน (นำทีมโดย WeChat) บนสมาร์ทโฟนของจีน (ไม่ว่าจะแบรนด์จีนเช่น Oppo หรือ Huawei หรือแบรนด์ต่างชาติผลิตในจีนอย่างApple) ที่จะเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีน ซึ่งทำงานด้วยอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ของจีน (นำทีมโดย Huawei) สรุปคือ ใช้ชีวิตดิจิทัลบนโครงสร้างพื้นฐานของจีน แม้จะฟังดูน่าวิตกกังวล แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ก็ไม่ต่างจากการทำการค้ากับเหล่าบริษัทอเมริกันที่มาเป็นกองทัพ ทั้ง Microsoft, Cisco, Google หรือ Facebook ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้กับประเทศที่ไม่มีขนาดใหญ่เพียงพอในการสร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเองเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่การมองหาโอกาสในจังหวะที่ความมั่งคั่งหลั่งไหลเข้าสู่อาเซียนและประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์เส้นทางสายไหม และความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร รวมถึงจุดแข็งในแง่ภูมิศาสตร์ สร้างความเก่งฉกาจทางการค้า เร่งพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ เน้นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพการผลิต และลงทุนให้เท่าทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับห่วงโซ่การผลิตการค้าจีนให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโอกาสย่อมมีความท้าทาย โดยเฉพาะด้านภาษาและข้อจำกัดในการทำธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน ตลอดจนการเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง พร้อมปรับกลยุทธ์ตลอดเวลาตามผู้บริโภคในตลาดใหม่และให้ทันความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ทั้งยังต้องเตรียมความพร้อมในด้าน Human Capital ที่มีทักษะใหม่และการจัดการที่ดี ภายใต้กติกาของเกมใหม่ จึงจะสามารถเจาะตลาดในเส้นทางนี้ได้สำเร็จหมดยุค “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” และเข้าสู่ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” ยุคที่ธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็โตข้ามประเทศได้ถ้าหากรวดเร็วและทันเกม! พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับสิงหาคม 2560 ได้ในรูปแบบ e-Magazine