ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหาร โดยเฉพาะต่อเกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณหนึ่งในหกของประชากรทั้งประเทศ
ปัญหาเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ฉบับแรก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังค่านิยมด้านความยั่งยืนและส่งเสริมการปรับตัวของภาคธุรกิจในประเทศไทย
ร่าง พ.ร.บ. Climate Change คาดว่าจะได้รับการพิจารณาและอนุมัติภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ได้ภายในปี พ.ศ. 2593 และต่อยอดสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net zero ได้ภายในปี พ.ศ. 2608 ร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการมีกลไกกำหนดราคาคาร์บอนและการจัดเก็บภาษีคาร์บอนซึ่งคาดว่าเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2567 นี้
จากกระแสที่ตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น หากธุรกิจไทยสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อกำหนดของร่าง พ.ร.บ. Climate Change ได้ ธุรกิจไทยจะสามารถคงความได้เปรียบในตลาดการแข่งขันระดับโลก อีกทั้งประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนสีเขียว หรือ Green Investment ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาวต่อผู้ประกอบการในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ขยายใหญ่ขึ้นนี้อาจตกไปอยู่กับภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น ภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิกว่า 13.7 พันล้านตันต่อปี คิดเป็นหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
การสนับสนุนไม่ว่าจากภาครัฐหรือภาคเอกชนมีความสำคัญมากในช่วงที่ธุรกิจต่างๆ กำลังปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ธุรกิจเหล่านี้ต้องลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้น อีกทั้งพวกเขายังต้องการความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจและปรับใช้นโยบายใหม่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว
ความท้าทายสำหรับธุรกิจไทยที่รออยู่ข้างหน้า
การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. Climate Change อาจนำมาซึ่งการปรับตัวครั้งใหญ่สำหรับผู้ประกอบการไทยหลายราย เพราะร่างกฎหมายนี้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการเก็บภาษีคาร์บอนในฝั่งผู้ผลิต ที่ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องจ่ายค่าปล่อยมลพิษในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด นี่ยังไม่รวมถึงการที่ธุรกิจต้องลงทุนในอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เข้ากับกฎระเบียบใหม่ให้ได้ทันท่วงที
ทั้งสองประเด็นนี้อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่กระทบต่อสถานะทางการเงินของธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งนี้ทางรัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหานี้และกำลังวางแผนสนับสนุนทางการเงินแก่ SMEs ในรูปแบบเงินกู้และกองทุนเพื่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีสีเขียว
อย่างไรก็ดี ธุรกิจเองก็สามารถเตรียมพร้อมสำหรับร่าง พ.ร.บ. Climate Change โดยการบรรจุเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสามารถติดตามความคืบหน้าในด้านนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ
กลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ พ.ร.บ. Climate Change
ภาคธุรกิจไทยสามารถเตรียมความพร้อมกับพ.ร.บ. Climate Change ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ด้วย 3 แนวทางสำคัญต่อไปนี้
1.เริ่มตรวจสอบการปล่อยคาร์บอน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ การเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาจะกลายเป็นมาตรฐานการรายงานที่จำเป็น ธุรกิจที่ริเริ่มตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนก่อนจะได้เปรียบคู่แข่งมากกว่า เนื่องจากลูกค้าและนักลงทุนให้ความสำคัญกับบริษัทที่แสดงความโปร่งใสและพิสูจน์ความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม
2.ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม การตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนของธุรกิจควรมีความเฉพาะเจาะจงและวัดผลได้จริง โดยเฉพาะในประเด็นการลดการปล่อยคาร์บอน การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน การตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามความคืบหน้าเทียบกับตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนระดับชาติได้ นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่โดดเด่นยังสามารถกระตุ้นให้ธุรกิจยกระดับความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนให้สูงขึ้นไปอีก
3.พัฒนาแผนปฏิบัติการ ธุรกิจควรผนวกแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนเข้ากับแผนปฏิบัติการล่วงหน้า หรือ Action Plan โดยกำหนดแผนให้สอดคล้องกับข้อบังคับของร่างกฎหมายซึ่งรวมถึงการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้โซลูชันดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร หรือการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวทางชัดเจนในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมของตน
มุ่งสู่สังคมสีเขียว: ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืน
องค์กรชั้นนำของไทยอย่าง มาลีกรุ๊ป (Malee Group) และมหาวิทยาลัยรังสิตได้ริเริ่มนำนวัตกรรมพลังงานสะอาดมาประยุกต์ใช้ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผู้บุกเบิกในการใช้พลังงานยั่งยืนในประเทศ
ผู้ผลิตรายสำคัญอย่าง Malee Group ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงงานในจังหวัดนครปฐม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดต้นทุนการผลิต ระบบโฟโตโวลเทอิก (PV) บนหลังคาสามารถผลิตพลังงานสะอาด ครอบคลุมความต้องการพลังงานของโรงงานได้ 15% และลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 700 ตันต่อปี
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำระบบพลังงานยั่งยืนแบบบูรณาการมาใช้ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดและปล่อยคาร์บอนต่ำ การบูรณาการนี้ประกอบด้วยระบบโซลาร์เซลล์ PV บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ ระบบจัดการและกักเก็บพลังงานแบบรวมศูนย์ และระบบอัจฉริยะสำหรับอาคารที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้อาคาร
นอกจากนี้ สำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยยังหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบ 100% นับเป็นอาคารแห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทยที่บรรลุสถานะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปีนี้ คาดว่าพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็น 21% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัยรังสิต ส่งผลให้ลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 1,400 ตันต่อปี
หลังจากการผ่านร่าง พ.ร.บ. Climate Change คาดว่าความต้องการในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเพิ่มขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มแสวงหาบริการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน อาทิ การทำบัญชีคาร์บอน (Carbon Accounting) การวางแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero roadmap) การนำแผนไปปฏิบัติและติดตามผล ตลอดจนการจัดทำรายงานแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่สามารถจัดการการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ด้วยตนเอง ธุรกิจส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน ความร่วมมือของ SP Group กับ Malee Group และกับมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามร่วมกันในการใช้โซลูชันสีเขียวในการขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ
ร่างกฎหมายด้านความยั่งยืนที่กำลังจะประกาศใช้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วน มาตรการนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) ภายในปี 2608 และด้วยความร่วมมือที่เหมาะสม ภาคธุรกิจสามารถผนวกแนวคิดความยั่งยืนเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงาน เพื่อนำพาประเทศไทยสู่อนาคตที่สดใสและยั่งยืนยิ่งขึ้น
บทความโดย Brandon Chia กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของ SP Group
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine