การทำ Complex PCI คืนหัวใจแก่คนไข้ - Forbes Thailand

การทำ Complex PCI คืนหัวใจแก่คนไข้

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Aug 2024 | 09:01 AM
READ 760

หมอหัวใจ หนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอาชีพหนึ่ง เพราะหัวใจเท่ากับชีวิต หากหัวใจเจ็บป่วยนั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิต งานด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือดเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในงานที่ช่วยชีวิตผู้คนและกุมชะตาชีวิตของผู้ป่วยก็ไม่ผิด


    สำหรับบทบาทแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค การได้ช่วยชีวิตเพียง 1 ชีวิตนั้นมีค่ามากกว่าที่เห็น 


'หลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน' หนึ่งในความท้าทายของแพทย์

    มีการสำรวจพบว่า คนไข้ 1 ใน 3 หรือ 30% ของเคสที่มารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน และคนไข้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบปกติ 

    ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนคือ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตันที่ทำให้การรักษามีความซับซ้อนกว่าปกติ เราสามารถแบ่งความซับซ้อนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นความซับซ้อนจากลักษณะของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดมีหินปูนเกาะมาก เส้นเลือดตัน 100% เรียกว่า chronic total occlusion เส้นเลือดที่มีแขนงรอยตีบยาว ซึ่งเป็นการตีบที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก รวมไปถึงจุดที่มีการตีบ เช่น ตีบหลายเส้น ตีบตรงตำแหน่งสำคัญ

    อีกกลุ่มเป็นความซับซ้อนจากสุขภาพของคนไข้คือ มีโรคร่วมหลายโรค เช่น โรคไต โรคเบาหวาน เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน หรือคนไข้อายุเยอะ สุขภาพไม่แข็งแรง ในกลุ่มคนไข้เหล่านี้ถ้าเป็นโรคหัวใจขึ้นมาแล้ว การรักษาในอดีตมักเป็นการผ่าตัดบายพาส แต่การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูง มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ และต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น


ทางเลือกการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ 

    แต่เดิมหากมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนคนไข้จะถูกส่งตัวเพื่อผ่าตัดทำบายพาส ซึ่งเป็นการรักษาหลักของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เหมาะกับคนไข้ที่มีอายุไม่มากจนเกินไป ไม่มีโรคร่วมเยอะ ไม่เช่นนั้นการฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะใช้เวลานาน และอาจเกิดผลข้างเคียงเยอะและอาจรักษายากขึ้น

    ในปัจจุบันคนไข้สามารถเลี่ยงการผ่าตัดบายพาสด้วยการทำบอลลูน หรือวิธีขยายหลอดเลือดผ่านสายสวน (Percutaneous Coronary Intervention : PCI) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับคนไข้ทุกเพศทุกวัย มีความเสี่ยงต่ำ คนไข้ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก แน่นอนว่าการรักษาจะยากกว่าและยังต้องใช้ความชำนาญพิเศษ จึงไม่ใช่แพทย์โรคหัวใจทุกคนที่จะสามารถรักษาได้ ต้องเป็นแพทย์ที่มีความสนใจด้านนี้และฝึกฝนการรักษาจนชำนาญมากพอ

    ที่ผมเคยเจอคือ คนไข้ไม่อยากทำบายพาสเพราะอายุมาก กลัวทำไม่ไหว เขาก็หอบประวัติทั้งหมดและผลการฉีดสีมานั่งปรึกษาว่าผมพอจะทำ Complex PCI หรือทำการขยายหลอดเลือดผ่านสายสวนให้ได้ไหม ซึ่งผมก็จะประเมินความเป็นไปได้พร้อมกับวางแผนว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง เตรียมบรีฟบุคลากร เตรียมอุปกรณ์ ซึ่งการรักษาเคสแบบนี้จะต่างจากเคสปกติที่มักมีสูตรสำเร็จไว้แล้ว

    ระหว่างการรักษาจะมีรายละเอียดยุ่งยากซับซ้อนมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล หากคนไข้มีภาวะตีบที่เส้นเลือดหลักที่เลี้ยงกล้ามเนื้อจำนวนมากก็จะเกิดอันตรายได้ง่าย ต้องทำหัตถการอย่างรวดเร็ว ระมัดระวังอย่าให้มีการอุดตันที่บริเวณนี้ หรือในกรณีที่มีหินปูนเกาะหนามากไม่สามารถทำบอลลูนได้ก็จำเป็นต้องใช้ Rotablator (การขยายหลอดเลือดด้วยการกรอหินปูน) 

    ในบางครั้งนอกจากบุคลากรที่ต้องมีความชำนาญพิเศษ อุปกรณ์ที่ใช้ก็อาจจะมีมากกว่า มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า เช่น ต้องรู้จักการทำหัตถการที่เรียกว่า Rotablator ซึ่งก็คือ การขยายหลอดเลือดด้วยวิธีการกรอหินปูน ซึ่งในเคสตีบซับซ้อนหลายเคสจำเป็นต้องใช้ แต่ในเคสปกติไม่ต้องใช้ 

    ทั้งนี้ หากมีการตีบตันของหลอดเลือด 100% แพทย์จะไม่สามารถรู้ได้ว่าเส้นเลือดวิ่งทางไหน แพทย์จึงต้องใช้ความชำนาญในการหารอยต่อส่วนต้นและส่วนปลายของเส้นเลือดให้ได้ จึงทำให้หมอหัวใจที่จะรักษาภาวะที่ซับซ้อนต้องเรียนรู้การทำหัตถการเพิ่มขึ้น เข้าใจการใช้อุปกรณ์ และยังมีการทำ bifurcation ที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะของหมอแต่ละคนเอง 


Complex PCI ช่วยลดโอกาสเป็นซ้ำ

   ปัจจุบันจากสถิติการรักษาด้วยวิธี Complex PCI มีอัตราของเส้นเลือดกลับมาตีบซ้ำเพียง 5% เท่านั้น ผมอยากให้เทคโนโลยีรวมไปถึงวิธีการมีความก้าวหน้าหรือมีประสิทธิภาพ จนสามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำให้เหลือเพียง 0% ซึ่งจะดีต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้มากๆ 

    ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้กลับมาเป็นซ้ำพบว่า 5% ที่ว่าอาจมาจากคนไข้เป็นกลุ่มที่ตอบสนองไม่ดีกับการทำบอลลูน หรืออาจเป็นคนไข้ที่หลังทำบอลลูนไปแล้วไม่ดูแลเรื่องความเสี่ยง เช่น ไม่คุมความดัน ไม่คุมเบาหวาน ไม่คุมไขมัน แถมยังสูบบุหรี่อีก ก็อาจจะทำให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำได้ง่าย อีกสาเหตุหนึ่งาอาจมาจากการทำหัตถการที่ยังไม่ดีพอของแพทย์ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละคน 

    นอกเหนือจากนั้นแม้แพทย์จะเก่งแค่ไหน คนไข้จะปฏิบัติตัวตามอย่างเคร่งครัดอย่างไรก็อาจมีโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบซ้ำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์การแพทย์พยายามพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกลบจุดด้อยตรงนี้ให้ได้ และผมก็เชื่อมั่นว่าจะต้องทำได้ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอาจส่งผลให้สามารถสร้างวัสดุใหม่ๆ ที่ทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมได้


ส่งคืนสุขภาพดี ชีวิตดี

    การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ว่าจะซับซ้อนหรือไม่สามารถแจกแจงความสำเร็จได้เป็น 2 กรณีคือ 1. การช่วยชีวิต หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาถึงมือหมอในสภาพที่อาจไม่รอด อาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ แต่การรักษาสามารถช่วยให้รอดและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ นับเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่า 

    ความสำเร็จที่ 2 คือ คืนสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี คนไข้หลายคนที่ก่อนหน้าอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เดินไม่ไหว ใช้ชีวิตลำบาก หลังรับการรักษาเขากลับมาเดินได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ มีความสุข มีแรงใจที่ดีที่จะมีชีวิต 

    ยิ่งในเคสที่ตีบซับซ้อนดูแล้วเส้นเลือดแย่มาก คนไข้หลายคนเกือบสิ้นหวังกับการรักษา แต่มาหายที่เรา มีชีวิตต่อไปได้เพราะเรา นั่นหมายความว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของแพทย์และทีม ประกอบกับความสามารถ ความชำนาญเฉพาะด้าน สามารถช่วยผู้คนได้จริง ถึงมันจะยากแต่การแพทย์กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และมีบทบาทในการรักษาต่อชีวิตคนได้ 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ และ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ซีอีโอดูโอปั้นขายตรงไทยบุกอาเซียน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine