แนวโน้มและดัชนีความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 2024 (Tech-Driven Sustainability Trends and Index 2024) จัดทำโดย Alibaba Cloud ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และหน่วยงานหลักด้าน Intelligence ของ Alibaba Group พบว่า 80% ของธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจจากเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลางระบุว่า ได้มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้ว แต่ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง (53%) ยังคงใช้วิธีการวัดประสิทธิภาพความก้าวหน้าของเป้าหมายดังกล่าวแบบแมนนวล
ธุรกิจไทยก็มีแนวโน้มคล้ายกัน โดยมีธุรกิจถึง 82% ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ 50% ยังคงใช้วิธีวัดประสิทธิภาพแบบแมนนวล
ข้อมูลจากรายงานเผยให้เห็นว่า 92% ของบรรดาธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้แล้ว แต่มีเพียง 1 ใน 3 ขององค์กรเหล่านี้ที่ให้คำมั่นด้าน net zero ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets: SBTs)
ทั้งนี้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีการกำหนดเป้าหมายอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ (SBTs) มากที่สุดอยู่ที่ 39% ตามด้วยยุโรป 35% ตลาดพัฒนาแล้วในเอเชีย 30% และตะวันออกกลาง 22%
ธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนประมาณครึ่งหนึ่งระบุว่า แรงจูงใจสำคัญในการตั้งเป้าหมายต่างๆ มาจากการขับเคลื่อนการเติบโต (56%) การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (54%) และเพื่อความแข็งแกร่งขององค์กร (49%) ในบรรดาตลาดที่ทำการสำรวจทั้งหมดองค์กรธุรกิจในอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจมากที่สุด (70%) ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียเน้นปฏิบัติตามกฎระเบียบ (73%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เน้นเรื่องความแข็งแกร่งขององค์กร (61%)
สำหรับตลาดไทยธุรกิจให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า (45%) การขับเคลื่อนการเติบโต (44%) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (43%)
ธุรกิจ 78% เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโลก โดยตลาดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ลำดับต้นๆ คือ มาเลเซีย (89%) ซาอุดีอาระเบีย (87%) สิงคโปร์ (86%) และฝรั่งเศส (86%)
หากพิจารณากันในระดับภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากที่สุด (86%) โดยมีตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตามติดมาเป็นอันดับ 2 (83%) ในขณะที่ 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์คอมพิวติ้งและ AI มาใช้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้เร็วขึ้น ตลาดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุดคือ ซาอุดีอาระเบีย (90%) ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (84%) และสิงคโปร์ (81%)
ความท้าทายแต่ละตลาด
เมื่อประเมินระดับความมุ่งมั่นของแต่ละตลาดแล้ว สิงคโปร์อยู่ในระดับสูงสุดจากดัชนีความยั่งยืนที่ 91% ตามติดด้วยเยอรมนีที่ 89% และอินโดนีเซียที่ 86%
ทั้งนี้ดัชนีความยั่งยืนหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของธุรกิจต่างๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนจากตลาด 13 แห่งที่ทำการสำรวจธุรกิจต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคหลากหลายบนเส้นทางสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน องค์กรที่ได้ทำการตอบแบบสำรวจ 29% ระบุว่า ข้อจำกัดด้านงบประมาณเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร โดยเฉพาะองค์กรในตะวันออกกลาง (41%) และยุโรป (31%) ซัพพลายเชนที่ซับซ้อนยิ่งทำให้ความพยายามต่างๆ ยุ่งยากมากขึ้น โดย 28% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจได้รับผลกระทบในด้านนี้
หากดูเฉพาะองค์กรในไทยผลสำรวจเผยว่า ได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่สูงกว่า (32%) นอกจากนี้ 23% ของบริษัทต่างๆ พบกับอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยี โดยประเทศแถบตะวันออกกลางพบในอัตราสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 26% ข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทายที่สำคัญมากในทุกภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อ 23% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจ โดยไทยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 34% ส่วนอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ได้แก่ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (32%) และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี (29%)
วัดผลแบบแมนนวล
เครื่องมือดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด การสำรวจครั้งนี้เน้นให้เห็นความจำเป็นที่ธุรกิจต่างต้องทำความเข้าใจเรื่องเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจ 59% ยอมรับว่ายังมีช่องว่างทางความรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างไร ความรู้สึกเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนในสิงคโปร์ (83%) ฮ่องกง (75%) และไทย (70%)
รายงานยังแสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปธุรกิจพึ่งพาแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมซึ่งอาจทำให้เกิดความท้าทายต่อความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน ผลสำรวจบ่งชี้ว่า มากกว่า 50% ขององค์กรธุรกิจยังใช้กระบวนการวัดประสิทธิภาพทางด้านความยั่งยืนแบบแมนนวล เช่น การใช้สเปรดชีต อีเมล และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน
ตลาดที่ทำการสำรวจทุกตลาดยกเว้นฮ่องกง (29%) เกาหลีใต้ (43%) และฝรั่งเศส (49%) อยู่ในเกณฑ์ที่เกิน 50% โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเปอร์เซ็นต์สูงสุด (68%) ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย (61%) และสหราชอาณาจักร (60%) และมีเพียง 1 ใน 3 ขององค์กรที่ใช้เครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์ดิจิทัล รวมถึงคลาวด์แพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับติดตามความคืบหน้าและวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืน
ตลาดที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำโซลูชันที่ทำงานบนคลาวด์ไปใช้มากขึ้นคือ อินโดนีเซีย (59%) สิงคโปร์ (48%) และญี่ปุ่น (43%) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้งานอยู่ที่ 38%
ผลสำรวจเน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต่างๆ ต้องประเมินวิธีการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของตนใหม่ และเปิดรับเทคโนโลยีโซลูชันที่ล้ำหน้า เช่น แพลตฟอร์มที่ทำงานบนคลาวด์และบริการด้าน AI ต่างๆ เครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการวัดผลเท่านั้น แต่ยังมอบข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง ซึ่งสามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำเรามุ่งมั่นมอบนวัตกรรมและโซลูชันที่ขับเคลื่อนการทำงานด้วย AI เช่น Energy Expert เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ วัดและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อก้าวสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร การจัดการอุปสรรคที่มีอยู่และการลงทุนในเครื่องมือที่ล้ำหน้าดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับแนวความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดีขึ้น
เกี่ยวกับการสำรวจ
“Tech-Driven Sustainability Trends and Index 2024” ของ Alibaba Cloud จัดทำอย่างอิสระโดย Yonder Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในสหราชอาณาจักร พร้อมการสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษา การออกแบบ และการวิเคราะห์จาก The Purpose Business ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนตั้งอยู่ในเอเชีย มีสำนักงานในฮ่องกงและสิงคโปร์ การสำรวจนี้ได้รวบรวมคำตอบตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม-19 มิถุนายน ปี 2567 จากผู้นำธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงจำนวน 1,300 ราย จากอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วยเทคโนโลยีและการสื่อสาร การเงิน โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรหมุนเวียน สาธารณสุข ภาคการขนส่ง ค้าปลีก และภาคการผลิต
ผู้ตอบแบบสำรวจมาจากตลาด 13 แห่งคือ ตลาดในภูมิภาคเอเชีย (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) ยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) และตะวันออกกลาง (ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
บทความโดย Selina Yuan ประธานด้านธุรกิจระหว่างประเทศ Alibaba Cloud Intelligence
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ. Climate Change ฉบับใหม่