Bernie Madoff เจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่แห่ง Wall Street - Forbes Thailand

Bernie Madoff เจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่แห่ง Wall Street

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Apr 2023 | 12:48 PM
READ 2772

โลกการเงินต้องอาศัยความน่าเชื่อถือหรือ Trust เป็นหลักในการทำธุรกิจ แต่ในความเป็นจริง เราได้เห็นการโกหกในโลกการเงินอยู่เสมอ เช่น การปั่นหุ้น รุนแรงขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นการปลอมแปลงตัวเลขผลประกอบการ ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

และที่ระบาดหนักในไทยเวลานี้ เห็นจะเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่หลอกล่อให้คนลงทุนโดยการ "โกหก" เรื่องผลตอบแทน ซึ่งในต่างประเทศก็มีขบวนการแชร์ลูกโซ่หลอกให้คนลงทุนเหมือนกันครับ

แต่มีอยู่เคสนึงที่ร้ายแรงกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเป็นแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลก และเป็นการตบหน้า Wall Street และหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ กลางสี่แยก

เรื่องราวจะเป็นยังไง ผมจะเล่าให้ฟังครับ

หนุ่มการเงินโปรไฟล์ดี ผู้ก่อตั้งดัชนี NASDAQ

Madoff เริ่มอาชีพสายการเงินด้วยการก่อตั้งบริษัทโบรกเกอร์เล็กๆ ของตัวเองในปี 2503 หรือเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว

ในสมัยนั้นยังไม่มีระบบซื้อขายหุ้นอิเล็กทรอนิกส์แบบทุกวันนี้ครับ การซื้อขายหุ้นทุกตัวต้องทำผ่านกระดาษ โดยมีนายหน้าที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ ทำหน้าที่จับแพะชนแกะ หาคนซื้อกับคนขายมาเจอกันให้ได้

ซึ่งก็แน่นอนว่าบริษัทเล็กๆ ย่อมจ้างนายหน้าเยอะๆ มาสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้ Madoff จึงใช้กลยุทธ์จับคู่ซื้อขายหุ้นตัวเล็กๆ ในตลาดหรือที่เรียกว่า Penny Stock ซึ่งบริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่ไม่ค่อยสนใจแทน

แต่เนื่องจากสมัยนั้นความรู้เรื่องการลงทุนยังมีน้อย การจับคู่ซื้อขายหุ้นตัวเล็กๆ ช่วยให้บริษัทอยู่รอดก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย จนกระทั่งเขาคิดสิ่งประดิษฐ์นึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนตลาดหุ้นไปตลอดกาลครับ

สิ่งนั้นก็คือ "ระบบการซื้อขายหุ้นแบบอิเลกทรอนิกส์" ที่จะช่วยให้บริษัทของ Madoff จับคู่คนที่อยากซื้อกับคนที่อยากขายหุ้นตัวเดียวกันได้ง่ายขึ้น ดีกับทั้งนักลงทุนและธุรกิจของเขาเองด้วย win-win ทุกฝ่าย

หลังจากนั้นเขาก็ดังเป็นพลุแตกครับ ครั้งนึง Madoff ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “ในช่วงนั้น พวกนายธนาคารใหญ่ๆ พากันเอาอกเอาใจและปรนเปรอผมกันยกใหญ่” ก็พอจะบอกชื่อเสียงของเขาได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้น บริษัทโบรกเกอร์ของ Madoff และบริษัทอื่นๆ ที่ใช้ระบบการซื้อขายหุ้นอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกันก็ร่วมกันก่อตั้งดัชนี NASDAQ ขึ้นในปี 2514

ซึ่งตัว Madoff เองก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของดัชนี NASDAQ ถึง 3 สมัย คือในปี 2533 2534 และปี 2536 ครับ

แถมยังเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการระบบบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเป็น 1 ในกรรมการของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และตลาดการเงินแห่งสหรัฐฯ ด้วย

ถึงตรงนี้ โปรไฟล์ของ Madoff นั้น "สุดหรู" ไปเลยครับ ทำธุรกิจของตัวเองก็ประสบความสำเร็จจนร่ำรวย เป็นหัวหอกหลักในการสร้างระบบซื้อขายหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีตำแหน่งในองค์กรกลางอีกหลายแห่ง

แต่ Madoff กลับใช้เครดิตความน่าเชื่อถือที่เขาสร้างขึ้นไปกับการ "ต้มตุ๋น" คนอื่นจนเปื่อยยุ่ยและกลายเป็นตำนานแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลกครับ


เปิดตำนานเจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่แห่ง Wall Street


จำที่เราบอกว่า Madoff เปิดบริษัทโบรกเกอร์ก่อนหน้านี้ได้ไหมครับ

จริงๆ แล้วบริษัทของเขามีธุรกิจหลักคือการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือ "โบรกเกอร์" แต่มีอีกธุรกิจนึงที่ Madoff พยายามปกปิดเป็นความลับไม่ให้คนทั่วไปรู้ นั่นคือธุรกิจจัดการกองทุนครับ

ซึ่งธุรกิจกองทุนสุดลึกลับของ Madoff อันนี้ คือจุดเริ่มต้นของตำนานขบวนการแชร์ลูกโซ่อันเลื่องชื่อ

ทุกอย่างเริ่มจากการที่ Madoff ใช้ความน่าเชื่อถือของตัวเองหลอกล่อให้คนนำเงินมาลงทุนกับเขา ด้วยการการันตีผลตอบแทนที่สูง ซึ่งคนโปรไฟล์อย่างเขาก็ดูจะทำได้ไม่ยากครับ

จากนั้นก็ให้ลูกน้องทำรายงานการลงทุนปลอมขึ้นมาทุกเดือน โดยเลือกหุ้นที่ทำผลตอบแทนดีที่สุดในแต่ละช่วงมาประกอบกันเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ และ "โกหก" ว่าสามารถซื้อหุ้นที่ราคาต่ำสุดและขายที่จุดสูงสุดได้เสมอ

แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาทำ ก็แค่นำเงินลงทุนจากลูกค้าไปฝากในบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท และเมื่อลูกค้าคนอื่นต้องการถอนเงิน เขาก็สั่งถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เดียวกันนั่นแหละไปจ่ายคืนให้

เมื่อมีคนถามรายละเอียด Madoff จะบอกว่าเขาใช้กลยุทธ์ "Split-Strike Conversion" ในการลงทุน ซึ่งเป็นการซื้อหุ้น Blue Chip ขนาดใหญ่และทำสัญญาอ็อปชันไปพร้อมกันเพื่อควบคุมผลตอบแทน

แต่กลยุทธ์นี้กลับกลายเป็นจุดตายของ Madoff เองครับ

เพราะอ็อปชันนั้นเป็น "สัญญา" แปลว่าต้องมี 2 ฝ่ายเข้ามาตกลงกัน เช่น ถ้ามีคนอยากซื้อสัญญาอ็อปชันจำนวน 10,000 สัญญา ก็ต้องมีคนที่ยินดีขายสัญญาอ็อปชันรวมกันเป็นจำนวน 10,000 สัญญาหรือมากกว่านั้นในตลาด

ถ้ามีคนช่างสังเกต ไปเจาะดูงบการเงินของบริษัท Madoff และลองคำนวณจำนวนสัญญาอ็อปชันที่ต้องใช้ในการลงทุนดู ก็จะรู้ได้ง่ายๆ เลยว่ากลยุทธ์ของ Madoff มันเป็นไปไม่ได้เลย

และในที่สุดก็มีคนเจอความผิดปกตินี้จนได้ จากชายที่ชื่อ Harry Markopolos ครับ

แต่ที่น่าตกตะลึงยิ่งกว่า คือนาย Markopolos แจ้งเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) หลายครั้ง แต่ไม่มีใครเชื่อเขา ทำให้ Madoff ลอยนวลต่อไปได้เรื่อยๆ อีกหลายปี

สุดท้ายเรื่องก็มาแดงในช่วงวิกฤติซับไพรม์ในปี 2551 เพราะตลาดหุ้นตกหนัก นักลงทุนต้องการถอนเงินพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้ Madoff มีเงินในบัญชีไม่พอ และยอมสารภาพกับลูกชายว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก

ลูกชายเขาจึงจำเป็น (และจำใจ) ต้องแจ้งจับ Madoff ต่อผู้ดูแลกฏหมาย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองต่อการทุจริตทั้งหมด ปิดตำนานเจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่แห่ง Wall Street ครับ

ตบหน้าหน่วยงานกำกับดูแลฉาดใหญ่

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า Harry Markopolos คนที่พบความผิดปกติในบัญชีของบริษัท Madoff ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อหน่วยงานกำกับดูแลหรือ SEC ของสหรัฐฯ ถึง 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2544 หรือ 7 ปีก่อนที่ Madoff จะถูกจับกุม

รวมถึงเหล่านักลงทุนและผู้จัดการกองทุนอีกหลายคนที่พบความไม่ชอบมาพากลในกลยุทธ์การลงทุนของ Madoff และแจ้งให้ SEC ทราบ แต่ Madoff ก็รอดจากการสืบสวนได้ทุกครั้งอย่างน่าประหลาด

ซึ่งหลังจากที่ Madoff ถูกจับกุม หน่วยงาน SEC ก็ถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่าไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ เพราะมีคนมอบหลักฐานให้ตั้งหลายครั้ง แต่กลับไม่สามารถเอาผิด Madoff ได้เลย

สุดท้าย SEC ต้องไปว่าจ้างหัวหน้าผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นมาทำหน้าที่แทน และพบว่าจริงๆ แล้ว Madoff สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ SEC หลายคน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เขารอดพ้นจากความผิดได้ตลอด

โดยความเสียหายทั้งหมดจากขบวนการแชร์ลูกโซ่ของ Madoff นั้นอยู่ที่ 64,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตีเป็นเงินไทยก็ตกราวๆ 2 ล้านล้านบาท

ที่น่าเศร้าคือ ขบวนการแชร์ลูกโซ่ของ Madoff ทำให้มูลนิธิและองค์กรการกุศลหลายแห่งต้องปิดตัวลง รวมถึงนักลงทุนและกองทุนอีกหลายแห่งที่ต้องสูญเงินเกือบทั้งหมดไปโดยไม่มีวันได้คืน

และนี่คือคดีฉ้อฉลที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดในโลกการเงินครับ

ในการให้สัมภาษณ์หลังจากที่ถูกจับกุม Madoff ก็ยังออกมายอมรับปนสงสัยเองเลยว่า “มันแปลกมากที่ไม่มีคนสงสัยเลยว่าผมทำผลตอบแทน 15% หรือ 18% ได้ยังไง ในช่วงที่คนอื่นทำผลตอบแทนได้แย่ลง”

การการันตีผลตอบแทนว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้โดยไม่มีความเสี่ยง เป็นสิ่งที่คุณควรตั้งคำถามให้มากๆ ก่อนที่จะตกลงปลงใจ โอนเงินไปลงทุนกับใครสักคนครับ

ในโลกการลงทุนไม่มีอะไรที่ปราศจากความเสี่ยง และไม่มีนักลงทุนคนไหนเก่งพอที่จะกล้าการันตีผลตอบแทนได้ แม้แต่นักลงทุนระดับตำนานที่ยังมีชีวิตอย่าง Warren Buffett หรือ Jim Simon ก็ไม่มีใครกล้ารับประกันครับ

ดังนั้นหมั่นเตือนตัวเองนะครับ ว่าอย่าไปหลงเชื่อคำโกหกทางการเงินจากเหล่ามิจฉาชีพที่กำลังระบาดหนักช่วงนี้

การลงทุนของแท้ ต้องมีทั้งกำไรและขาดทุน มีขายหมู มีติดดอย มี "รู้งี้" มีความเสี่ยง เป็นเรื่องปกติครับ

ขอให้มีความสุขกับการลงทุนครับ


บทความโดย
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
ซีอีโอ Jitta Wealth


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine