100 เทรนด์ต้องติดตามในทศวรรษ 2020 - Forbes Thailand

100 เทรนด์ต้องติดตามในทศวรรษ 2020

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Jun 2020 | 09:30 AM
READ 5698

รายงาน “The Future 100” ประจำปี มองไปข้างหน้าหาเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค และนวัตกรรมที่จะกำหนดชะตาในปี 2020 ตั้งแต่เทรนด์ของการมองอนาคตในแง่บวก จนถึงการเปิดกว้าง และทัศนคติที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นที่เคยเป็นสิ่งต้องห้ามในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ Wunderman Thompson Intelligence มองถึง 100 เทรนด์แห่งอนาคตและนำเสนอผ่านรายงาน “The Future 100”

“The Future 100” จะช่วยให้ทุกองค์กรได้เตรียมปรับตัวรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคกับ 100 เทรนด์ที่ The Innovation Group คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 10 หมวด และแต่ละเทรนด์ให้ภาพรวมของกระแสที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันไว้อย่างกระชับ เข้าใจง่าย พร้อมอธิบายอย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดแบรนด์และนักการตลาดจึงควรให้ความสนใจกับเทรนด์นั้นๆ

จากเทรนด์ที่หลากหลายตั้งแต่เครื่องดื่มค็อกเทลอันแสนซับซ้อน สปาดิจิทัล ไปจนถึงประกันภัยแบบบอกรับเป็นสมาชิก และการเดินทางสำรวจทางวิทยาศาสตร์ “The Future 100” คาดว่าปี 2020 จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่อยู่กับความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งจินตนาการสร้างสรรค์ด้วยพลังของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และประสบการณ์ที่ถูกนิยามขึ้นใหม่เพื่อนักช็อปสายไฮสตรีต ดังนั้นรายงาน “The Future 100” จึงอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเชิงลึก และมุมมองที่สดใหม่เกี่ยวกับปีนี้และปีต่อๆ ไป

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่แท้จริงได้เกิดขึ้นแล้ว โดยทั้งเจตนารมณ์และความโปร่งใสจะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดี ในขณะที่จินตนาการจะมีบทบาทเหนือข้อมูลในเรื่องการดึงดูดผู้บริโภค “The Future 100” คือวิธีหนึ่งในการเกาะติดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และแนวโน้มย่อยที่ขยับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้นักการตลาดได้พาตัวเองขึ้นนำหน้า

รายงานนี้ได้จัดแบ่งเทรนด์ต่างๆ ออกเป็น 10 หมวดหมู่ ได้แก่ วัฒนธรรม (culture) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (tech & innovation) การเดินทางและภาคบริการ (travel & hospitality) แบรนด์และการตลาด (brands & marketing) อาหารและเครื่องดื่ม (food & drink) ความงาม (beauty) ค้าปลีก (retail) สินค้าและบริการระดับหรูหรา (luxury) สุขภาพ (health) และการเงิน (finance)

ไฮไลต์แห่งปี 2020

ถ้าเรามองอนาคตในแง่บวก (optimistic futures) ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจะทำให้ผู้บริโภคตกอยู่กับความวิตกกังวลแต่บริษัทที่คิดการณ์ไกลหลายรายกำลังทำให้บรรยากาศที่หมองหม่นกลับสดใสขึ้นด้วยภาพอนาคตที่เป็นไปได้จริงและมองโลกในแง่บวก ไม่ว่าจะด้วยสีแพนโทนในเฉดแดง flame scarlet สุดร้อนแรงสำหรับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2020 หรือแคมเปญ “Rebuild the World” ของเลโก้

-ยุคแห่งความเป็นส่วนตัว (the privacy era)

ครั้งหนึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยผู้บริโภค แต่ในปัจจุบันมันกลับถูกตราหน้าว่ามีวาระซ่อนเร้น และไร้ซึ่งจริยธรรม ผู้บริโภคได้มาถึงจุดแตกหักแล้ว ท่ามกลางสภาวะที่มีการล้ำเส้นในเรื่องข้อมูลอยู่บ่อยครั้งและรุนแรง โครงการต่างๆ ที่บางแบรนด์ได้ดำเนินการไปในปี 2019 ถือเป็นก้าวแรกเพื่อไถ่โทษของตนเอง และแนวคิดที่จะให้ผู้บริโภคมีอำนาจควบคุมข้อมูลของตนเองก็กำลังมีความเป็นไปได้อย่างชัดเจน

-แบรนด์ที่ดีต่อภูมิอากาศ (climate positive brands)

ในขณะที่ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นข่าวใหญ่อยู่เนืองๆ แบรนด์ต่างๆ จึงมุ่งสร้างหลักประกันว่าตนเองมีแผนธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และมีนโยบายที่ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของตนเองเป็นศูนย์ (carbon-neutral) ตลอดจนมีความโปร่งใสในเรื่องความรับผิดชอบของตน การทำเช่นนี้ไม่เพียงสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ยังช่วยสร้างความจงรักภักดีของลูกค้าอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมีความตระหนักและรอบรู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

-การปลดเปลื้องสิ่งต้องห้ามในโลกตะวันออก (untabooing in the east)

ความเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งการเปิดกว้างในเรื่องสิ่งต้องห้าม และข้อจำกัดทางเพศตามขนบเดิมๆ ในเอเชียกำลังจุดประกายให้เกิดแนวทางการตลาดที่สดใหม่ในภูมิภาคนี้ ทัศนคติต่อสุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ และเพศสภาพ กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยพลังสนับสนุนของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

-สวนสนุกความงามรูปแบบใหม่ (new beauty playgrounds)

การช็อปปิ้งแบบสร้างประสบการณ์มีความสอดคล้องกับเทรนด์ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ความงามในปัจจุบัน ที่ยังคงชื่นชอบการได้ลองและเลือกซื้อเครื่องสำอางเองภายในร้าน จากเทรนด์ดังกล่าวแบรนด์ความงามจึงมุ่งสร้างพื้นที่ที่จะเป็นสวนสนุกที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง พร้อมกับจินตนาการสร้างสรรค์เคาน์เตอร์ผลิตภัณฑ์ความงามขึ้นใหม่ให้เป็นที่หมาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้เวลาสนุกไปกับการเล่น การลองและแน่นอนว่าจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ได้ด้วย

-ระบบสมาชิกบุกโลกตะวันออก (subscription goes east)

ระบบสมาชิกไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการรับข่าว การเข้าฟิตเนส หรือการฟังเพลงอีกต่อไป โลกของการใช้ชีวิตในระบบสมาชิกกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้คุณสามารถเป็นสมาชิกได้ทุกอย่างตั้งแต่เครื่องดื่มที่บาร์ไปจนถึงการทำผมการดูแลความงาม การหาเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปทำงาน หรือแม้กระทั่งรถยนต์เลกซัส

-สนามบินยกระดับ (elevated airports)

สนามบินกำลังก้าวไกลเกินความเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางสู่การเป็นที่หมายทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ในตัวของมันเอง ดังที่ได้เห็นจากท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ซึ่งมีน้ำตกในร่มที่สูงที่สุดในโลก (Jewel Changi) และท่าอากาศยานนานาชาติต้าซิง (Daxing International Airport) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นรูปปลาดาว โดยสถาปนิก Zaha Hadid ผู้ล่วงลับ

สำหรับ Wunderman Thompson Intelligence เป็นหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมของ Wunderman Thompson ที่มุ่งเน้นเรื่องอนาคตเป็นสำคัญ โดยเป็นผู้เชื่อมโยงให้เห็นแบบแผนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และนวัตกรรมที่ปรากฏตัวขึ้นและกำลังจะก่อตัวขึ้นต่อไปในอนาคตทั่วโลกพร้อมทั้งแปลความหมายให้เป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อประโยชน์ของแบรนด์ต่างๆ

 

 

Emma Chiu

Global Director

วันเดอร์แมน ธอมป์สัน อินเทลลิเจนซ์


คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine