โอกาสและความท้าทายบนเวทีการค้าโลก - Forbes Thailand

โอกาสและความท้าทายบนเวทีการค้าโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Jul 2017 | 11:38 PM
READ 4896

สถานการณ์ธุรกิจทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความท้าทายจากหลากหลายปัจจัยที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่สะเทือนไปทั่วโลก กอปรกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ กระทั่ง Oxford Economics ยังประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปีตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนดังที่กล่าวมานี้ จะยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ดังเช่น มูลค่าของการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ได้ลดลงจาก 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 มาอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจและการเงินโลกเริ่มมีเสถียรภาพ และภาคเอกชนมีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงปัญหาทางการเมืองเริ่มลดลง มูลค่าการควบรวมกิจการน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านล้านเหรียญในปี 2561
เหตุการณ์ Brexit-อังกฤษลาออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Photo Credit: EPA/Independent)
ขณะเดียวกันจำนวนของ บริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่สะท้อนถึงแนวโน้มและภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมูลค่าของการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจาก 1.31 แสนล้านเหรียญในปี 2559 เป็น 1.68 แสนล้านเหรียญในปี 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการแสวงหาเงินทุนด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา หากพิจารณาตามประเภทของอุตสาหกรรม กลุ่มเทคโนโลยีถือเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าด้านการควบรวมกิจการที่ครองตำแหน่งสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2543 ตามมาด้วยด้าน healthcare โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและยา ในขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปีนี้  

เอเชียแปซิฟิก - ตลาดที่แข็งแกร่งที่สุด

หากแบ่งการเติบโตตามภูมิภาคโลก ทวีปอเมริกาเหนือยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งด้านธุรกรรมการควบรวมกิจการ โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของมูลค่าการควบรวมกิจการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มูลค่าดังกล่าวอาจไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2560 เนื่องจากความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากนโยบายด้านการค้าการลงทุนของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ สำหรับทวีปยุโรป กรณี Brexit ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มูลค่าการควบรวมกิจการดิ่งลงจาก 7.36 แสนล้านเหรียญในปี 2558 เหลือเพียง 3.19 แสนล้านเหรียญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวในยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในปี 2560 น่าจะอ่อนตัวลง โดยความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในอังกฤษกับภาคเอกชนในยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอน และจะทำให้การควบรวมกิจการในอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินและภาคอุตสาหกรรม ยังคงมีความเสี่ยง ด้านทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางยังคงต้องเผชิญปัญหาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ โดยจะทำให้การควบรวมกิจการชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2560 เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ และสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งปัญหาทางการเมืองในบราซิล
ทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางยังคงเผชิญปัญหาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ (Photo Credit: oilprice.com)
แม้การควบรวมกิจการในเอเชียแปซิฟิกจะมีการประมาณการตัวเลขที่ลดลงจาก 6.8 แสนล้านเหรียญในปีก่อนหน้า เป็น 5.66 แสนล้านเหรียญในปีปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความกังวลต่อนโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่และปัจจัยด้านนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ตลาดเอเชียแปซิฟิกยังคงมีจุดแข็งในหลายด้าน เช่น ต้นทุนแรงงาน ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ลักษณะเด่นด้านประชากรศาสตร์ (demographics) และการเป็นฐานการผลิต ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ โดยคาดว่ามูลค่าการควบรวมกิจการจะขยายตัวเป็น 6.76 แสนล้านเหรียญในปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 7.27 แสนล้านเหรียญ ในปี 2562 ถ้าพิจารณาจากภาพรวมดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า โลกธุรกิจมีความซับซ้อนและได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อม รวมทั้งต้องเผชิญกับความท้าทายทำให้การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป  

Disruption Technology - สร้างความท้าทายใหม่ต่อธุรกิจโลก

(Photo Credit: mckinsey.com)
จากรายงานผลสำรวจล่าสุด “Asia Pacific Business Complexities Survey 2017” โดย Baker Mckenzie และ Mergermarket สำรวจผู้บริหารบริษัทชั้นนำที่มีสำนักงานอยู่ในเอเชียแปซิฟิกจำนวน 150 คน ระบุว่า ความซับซ้อนอันดับแรกที่บริษัททั่วทั้งภูมิภาคต่างตระหนัก คือ ความต้องการที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตามด้วยความกดดันด้านต้นทุนการดำเนินงานและกำไรขั้นต่ำที่ลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของคู่แข่งขันในตลาด โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 84 ระบุว่า “disruption technology” จะเข้ามาสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจของพวกเขาภายในเวลาเพียง 2 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคและค้าปลีก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก ทั้งการแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรปของอังกฤษและรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงกระแส ฟินเทค ที่ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจอาจจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจในวงกว้างด้วย โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
Omise หนึ่งในฟินเทคจากฝีมือสตาร์ทอัพไทยที่น่าจับตามอง
ขณะเดียวกันแนวโน้มการควบรวมกิจการในปี 2560 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนในภาคการผลิต ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหาร รวมทั้งธุรกิจการเงินและการประกันภัย โดยดีลใหญ่ๆ มาจากธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปยังประเทศต่างๆ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ทว่าการควบรวมกิจการในไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของกิจกรรม M&A ทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธุรกิจของประเทศไทย ยังมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ทุกองค์กรต้องตระหนักและมุ่งให้ความสำคัญไปยังความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะมาพลิกโฉมธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะพบกับความซับซ้อนและท้าทายมากกว่าปัจจัยเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit และนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นประเด็นรอง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น   Paul Rawlinson Global Chair of Baker McKenzie