โต้คลื่นยุคที่ 2 ของ Digital Transformation - Forbes Thailand

โต้คลื่นยุคที่ 2 ของ Digital Transformation

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Feb 2022 | 07:10 AM
READ 2849

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่ล้าหลังด้านดิจิทัล (digital laggards) องค์กรที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัล (digital leaders) จะมีความรวดเร็วในการสร้างนวัตกรรม สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1.8 เท่า และมีมูลค่าของกิจการสูงกว่า 2 เท่า อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เติบโตเร็วกว่าถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับในระยะเวลาช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2558-2561 พบว่า มีความแตกต่างกันเพียงแค่ 2 เท่า โดยช่องว่างความต่างนี้มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์กรต่างเร่งทำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเทียบเท่ากับระยะเวลาปกติเพียง 7-10 ปีก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น แผนงานทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่เคยวางแผนไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลายปีกลับต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก 20-25 เท่า การทำ digital transformation อย่างรวดเร็วเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองต่อดิสรัปชันและโควิด-19 เพื่อความอยู่รอดและสร้างการเติบโตครั้งใหม่  

- ยุคที่ 1 Digital Transformation -

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วย digital disruption เราต่างประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อทำให้มีความสามารถแข่งขันใหม่และเติบโตได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อน digital transformation ที่ผ่านมา ได้แก่ ความก้าวหน้าในดิจิทัลเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 (Industry 4.0) แนวคิด disruptive innovation และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม (platform business) จากสถิติของ Statista คาดการณ์ว่า ในปี 2565 องค์กรทั่วโลกจะมีการลงทุนด้าน digital transformation เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่พบการระบาดของโควิด-19 สูงถึง 136% และหากเปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนรวมที่เพิ่มขึ้นใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 มีมูลค่ามากกว่าในปี 2563 เกือบ 5 เท่า  

- ยุคที่ 2 Digital Economy -

นอกจากนี้ รายงานจาก IDC คาดการณ์ว่า 65% ของ GDP โลกจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลภายในปี 2565 และมีการลงทุนด้าน digital transformation โดยตรง มูลค่ากว่า 6.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2563-2566 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 15.5% ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ และเป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์และการลงทุนที่มีอยู่ขององค์กร ทำให้ธุรกิจสามารถทรานส์ฟอร์มเป็นองค์กรดิจิทัลที่แข็งแกร่งในอนาคต ด้วยเหตุนี้องค์กรควรใช้ประโยชน์จากคลื่นลูกที่ 2 ของ digital transformation ในการเพิ่มโอกาสเหล่านี้ให้สูงสุด เพื่อประโยชน์ของตนในทุกกระบวนการของธุรกิจ เพื่อตำแหน่งในการแข่งขันที่ดีขึ้น และเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับองค์กรในระยะยาว จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีอัตราการก้าวกระโดดแบบทวีคูณ แม้ว่าหลายองค์กรได้ทำ digital transformation ในช่วงที่ผ่านมามากพอสมควรแล้ว ในฐานะผู้นำแล้วผู้บริหารยังจำเป็นต้องติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการใช้ทรัพยากรทางดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คิดกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่องในอัตราเร่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า digital disruption และโควิด-19 ทำให้องค์กรจำนวนมากต้องดิ้นรนและเร่งปรับตัวด้วย digital transformation แต่กลับพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนหรือวิธีการที่ชัดเจนว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่นี้อย่างไร แม้ว่าที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงตระหนักถึง digital disruption และความสำคัญในการทำ digital transformation แต่พบว่าองค์กรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างเหมาะสม โดยองค์กรส่วนใหญ่ได้นำกลยุทธ์ดิจิทัลมาใช้ แต่ยังไม่มีความต่อเนื่องและบูรณาการร่วมกันทั่วทั้งองค์กร อีกทั้งมีการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับดิจิทัลมากมาย แต่เป็นการดำเนินการแบบกระจัดกระจาย ทำให้องค์กรไม่ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในดิจิทัลอย่างคุ้มค่าตามที่ได้คาดการณ์ไว้ตอนแรก ถึงแม้องค์กรลงทุนใน digital transformation อย่างมากกลับพบว่า ผู้บริหารต่างมีความกังวลว่าอาจจะล้มเหลวในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง ผู้บริหารระดับสูง 68% มีความเห็นว่า องค์กรมีกลยุทธ์และมีการดำเนินการด้านดิจิทัลที่ดีอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้ามกับผู้จัดการและพนักงานในระดับที่ต่ำลงมากลับเห็นว่า องค์กรไม่ได้ดำเนินการด้านดิจิทัลที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงในจำนวนหลายโปรเจ็กต์ที่องค์กรกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นเพียงการเลียนแบบหรือดำเนินการตามคู่แข่ง จากการเปิดเผยรายงาน Thailand Digital Transformation Readiness 2021 โดยสถาบัน Digital Transformation Academy พบว่า มีองค์กรเพียง 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จที่สามารถสร้างความแตกต่างและเป็นองค์กรผู้นำด้านดิจิทัล ค่าเฉลี่ยวุฒิภาวะด้านดิจิทัล (digital maturity index) ขององค์กรในประเทศไทยอยู่ที่ 2.27 เต็ม 4 คะแนน กล่าวคือ องค์กรส่วนใหญ่กว่า 70% เพิ่งจะเริ่มทรานส์ฟอร์มหรือได้ทำดิจิทัลไปบ้างแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังไม่ได้รับความคุ้มค่าจากการลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล และผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง สาเหตุหลักมาจากองค์กรไม่ได้มีแผนกลยุทธ์ที่ดีและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่สอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ดำเนินการด้านดิจิทัลและไม่ได้สนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินการอย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงในหลายโปรเจ็กต์ที่องค์กรกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นเพียงการเลียนแบบหรือดำเนินการตามคู่แข่ง หลายครั้งเป็นเพียงการสร้างภาพและการประชาสัมพันธ์ของผู้บริหารบางคนเท่านั้น  

- Transform ด้วยกลยุทธ์ดิจิทัล -

Digital strategy ในที่นี้หมายถึง กลยุทธ์ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เป็นกลยุทธ์ขององค์กรในยุคดิจิทัล สามารถทำ digital transformation ให้ประสบความสำเร็จได้จากการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่แตกต่างจากการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ผู้บริหารจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำ digital transformation ได้ จำเป็นที่จะต้องทราบถึง “วิธีการ” หรือ “how-to” ในการคิดและออกแบบแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับการเพิ่มงบประมาณการลงทุนและค่าใช้จ่ายด้านดิจิทัล เพื่อตอบสนองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยทัศนคติที่ดีสำหรับโลกธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต ขั้นตอนถัดไปก่อนการลงมือทำจริงคือ การประเมินองค์กรของเราว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนด้วยเครื่องมือ “digital maturity assessment” จากนั้นสร้าง vision และออกแบบ roadmap เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงด้วย digital transformation roadmap model แล้วเริ่มลงมือทรานส์ฟอร์ม วัดผล เรียนรู้ ด้วยแนวคิด digital transformation metrics ที่จะช่วยให้คุณมีวิธีสร้างต้นแบบความสำเร็จในการทำ digital transformation ของแต่ละองค์กรได้ตามโมเดลทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ด้วยแนวทางของ digital transformation canvas หนังสือ Digital Transformation Compass เข็มทิศทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็น digital strategy framework ที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนธุรกิจแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ถูกต้องหรือไม่ สามารถเริ่มต้นด้วยการมีแผนกลยุทธ์ธุรกิจที่ดี ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล และช่วยให้การทำ digital transformation ของคุณประสบความสำเร็จได้   ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้ก่อตั้งสถาบัน Digital Transformation Academy   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine