เส้นทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ - Forbes Thailand

เส้นทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Dec 2016 | 12:48 PM
READ 5291
กว่าจะถึงวันชี้ชะตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกก็ได้เห็นสงครามแห่งการเลือกตั้งที่มีแต่การโต้เถียงและคำพูดทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งแทนที่จะสู้กันด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ จนทำให้ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคำสอนของ Abraham Lincoln หรือประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯที่บอกว่ารัฐบาลควรทำเพื่อประชาชน “Government of the people, by the people, for the people, shall not perish from this earth.” ก่อนจะทำนายเส้นทางหรือประเมินถึงผลกระทบหลังจากการเลือกตั้ง ลองพิจารณานโยบายสำคัญที่แตกต่างกัน (ดูตารางประกอบ) นโยบายภาษีที่แตกต่างกันของผู้สมัครทั้งสองพรรค สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ไม่ตรงกันอย่างยาวนานเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของรัฐบาล โดยฝั่งเดโมแครตมองว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ชอบทำนโยบายขยายการเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยรัฐบาลจะมีหน้าที่กระจายรายได้ไปยังภาคอื่นๆ ของเศรษฐกิจ เช่น เพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม ขณะที่ฝั่งรีพับลิกันมองว่า บทบาทของรัฐบาลในการกระจายรายได้ไม่ควรมากจนเกินไป และควรปล่อยให้ตลาดเป็นไปตามกลไกของมันด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังมองว่าผู้จ่ายภาษีหรือเอกชนสามารถทำหน้าที่กระจายรายได้ได้ดีกว่า ส่งผลให้นโยบายภาษีของฝั่งรีพับลิกันที่ออกมาส่วนมากเป็นการลดการเก็บภาษีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ตามการคาดการณ์ของ Moody’s Analytics นโยบายภาษีของ Clinton จะทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลังที่ราว 7.26 แสนล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับการขาดดุลภายใต้นโยบายภาษีของ Trump โดยนโยบายการลดภาษีที่ค่อนข้างรุนแรงของ Trump จะทำให้รัฐบาลมีการขาดดุลการคลังพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.183 ล้านล้านเหรียญในปีแรกของการดำเนินนโยบาย ในระยะสั้นการลดภาษีของ Trump อาจเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวจากการที่รัฐบาลต้องกู้ยืมจำนวนมากหลังจากขาดดุลงบประมาณ จนทำให้ดอกเบี้ยในระบบอาจปรับขึ้นไปกระทบต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนอีกต่อหนึ่ง หรือภาษาในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า crowding out effect นอกจากประเด็นดังกล่าว แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายของ Trump ยังมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นสูงเมื่อเทียบกับ Clinton ตามการวิเคราะห์ของ Moody’s ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการผลิตที่จะปรับสูงขึ้นตามภาษีการนำเข้าที่จะเก็บมากขึ้นในคู่ค้าที่ Trump มองว่ามีการลดค่าเงินเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการค้าอย่างจีน ซึ่งมาตรการดังกล่าว หากทำได้จริงก็จะทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภคในสหรัฐฯ Moody’s คาดว่าเงินเฟ้อภายใต้รัฐบาลของ Trump จะพุ่งขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งหาก Janet Yellen ยังคงเป็นประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อยู่ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินเป้าหมายที่ 2% จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของ Fed จำเป็นต้องขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่ Clinton ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตลาดมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการเลือกตั้งจะมีมากหาก Trump เป็นผู้ชนะ เนื่องจากนโยบายค่อนข้างรุนแรง และน่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดมองว่าหาก Clinton ชนะการเลือกตั้งก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าเนื่องจากทำให้การเปลี่ยนผ่านนโยบายของ Obama ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสู่ Clinton มีความราบรื่นกว่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดีต่อไป จากการประเมินพบว่าหาก Trump สามารถดำเนินนโยบายสำคัญทั้งหมดตามที่หาเสียงจะส่งผลกระทบต่อ GDP สหรัฐฯ โดยอาจทำให้การจ้างงานลดลงและเงินเฟ้อในประเทศปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายของ Trump จะทำให้รัฐเสียรายได้จำนวนมากจากการลดภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้นจะกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับการจำกัดจำนวนผู้อพยพทำให้ค่าแรงในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นและทำให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นตามส่งผลต่อมายังเงินเฟ้อ สำหรับในกรณีของ Clinton หากได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในแนวทางของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการใช้นโยบายตามที่หาเสียงของผู้สมัครอาจถูกจำกัดและไม่รุนแรงเท่ากับการประมาณการของ Moody’s เนื่องจาก ตลาดยังมองว่าโอกาสที่รัฐสภาสหรัฐฯ จะเป็นแบบผสมระหว่าง 2 พรรคมีมากถึง 60% ซึ่งจะทำให้การผ่านกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ จากผู้สมัครทั้งสองพรรคเป็นไปอย่างมีระบบขั้นตอนและอาจยากกว่าที่คาด ซึ่งจะแตกต่างกับช่วงการเลือกตั้งปี 2008 ที่เดโมแครตครองรัฐสภาทั้งบนและล่างด้วยเสียงจำนวนมาก ซึ่งทำให้รัฐบาลของ Obama สามารถผ่านร่างกฏหมายมากถึง 34 ฉบับในช่วง 4 ปีแรกของการเป็นประธานาธิบดี  

ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

สำหรับนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและไทยจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ น่าจะมาจาก 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ด้านจิตวิทยาต่อการลงทุน และด้านการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านจิตวิทยาที่ชัยชนะของ Trump น่าจะทำให้ตลาดโลกอยู่ในโหมดกลัวความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายของ Trump ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตลาดเท่าใดนัก ดังเช่นประเทศไทยในช่วงปี 2013 ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์นักลงทุนต่างชาติเทขายทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองว่าการทำ carry trade (การกู้ยืมเงินที่มีต้นทุนถูกในสหรัฐฯ มาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นใน EM เนื่องจากมีผลตอบแทนที่สูงกว่า) มีความน่าสนใจน้อยลงหลังจากที่สภาพคล่องของดอลลาร์จะลดลงหากไม่มีมาตรการ QE แล้ว นอกจากนั้น ในด้านช่องทางทางการค้าหาก Trump ใช้นโยบายกีดกันด้วยภาษีการค้าได้ตามที่ประกาศเอาไว้ในช่วงการหาเสียงจริง น่าจะทำให้การค้าโลกยิ่งชะลอตัว โดยประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในระดับสูงในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเวียดนามและจีนที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 21% และ 18% รวมถึงกรณีของไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวนมากประมาณ 11% ของการส่งออกทั้งหมด และหากสหรัฐฯ ตั้งแง่การค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้น ด้วยการที่ Trump ตั้งใจจะลดค่าเงินของจีน เพื่อชิงความได้เปรียบในการส่งออกสินค้า ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยเป็นพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนกว่า 11% ของการส่งออกทั้งหมด หากการส่งออกของจีนชะลอตัว โดยสรุปแล้ว ดูเหมือนว่าชัยชนะของTrump น่าจะไม่เป็นผลดีนักต่อทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นความเสี่ยงหลักอีกหนึ่งประเด็นที่ยังหลงเหลืออยู่ในปี 2016   โดย ธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบิรหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)