เปิด 15 เส้นทางท่องเที่ยวศักยภาพ Tourism for All - Forbes Thailand

เปิด 15 เส้นทางท่องเที่ยวศักยภาพ Tourism for All

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Feb 2022 | 07:16 AM
READ 3024

เมื่อเร็วๆ นี้กองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกรมการท่องเที่ยว ได้จัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้โครงการศึกษาออกแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่เน้น “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)”

ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตขึ้นในรูปแบบการสัมมนา ซึ่งมีตัวผม ทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยวและ ศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิร่วมนำเสนอรายละเอียดโครงการฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน' โครงการนี้เป็นการศึกษาออกแบบสำรวจเส้นทาง โดยที่กรมการท่องเที่ยวได้มอบหมายให้ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการ ซึ่งเป็นการศึกษาเส้นทางการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้รับความสะดวกสบาย มีความพึงพอใจสูงสุด และสามารถตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” การพัฒนาโครงการต้นแบบในพื้นที่ 4 เขตสู่เส้นทางการท่องเที่ยวทั้งหมด 15 เส้นทางที่มีศักยภาพ โดยมุ่งพัฒนาให้ทุกเส้นทางในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้รับความนิยมและสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ ชุมชน และประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 4 เขตเป้าหมาย ซึ่งมีรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวและการพัฒนาตามความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่   เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง (เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ) พื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงสามารถจำแนกเส้นทางตามความเหมาะสมจากทรัพยากรธรรมชาติและบรรยากาศในพื้นที่ด้วยเส้นทางสำคัญๆ ประกอบด้วย 1) เส้นทางโรแมนติกรูท เที่ยวเมืองแห่งศิลปะและวิถีเกษตรริมลำน้ำเหือง (ด่านซ้าย-นาแห้ว-ภูเรือ-ท่าลี่-เชียงคาน) 2) เส้นทางแม่โขงอิ่มบุญ (หนองคาย-บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร) 3) เส้นทางตามรอยพญานาค ศรัทธาแห่งลุ่มน้ำโขง (หนองคาย-บึงกาฬ) 4) เส้นทางเที่ยวนครพนม เมืองคลาสสิกริมฝั่งโขง (เมืองนครพนม-ธาตุพนม) 5) เส้นทางแม่โขงม่วนซื่น เที่ยวสำราญชายโขง (มุกดาหาร-นครพนม)   เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช) 6) เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าสองทะเล (เกาะยอ-คาบสมุทรสทิงพระ) 7) เส้นทางท่องเที่ยวสายชมวิว ชิลเว่อร์ พัทลุง (ทะเลน้อย-เขาปู่เขาย่า) 8) เส้นทางท่องเที่ยวสายราชดำเนิน เพลินมรดกวัฒนธรรม งามล้ำเมืองนคร   เขตพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง) 9) เส้นทางท่องเที่ยวชมเมืองพริบพรี 10) เส้นทางท่องเที่ยวหัวหิน ดินแดนแห่งรัก แหล่งพักตากอากาศ 11) เส้นทางท่องเที่ยวเปิดโลกเมืองชุมพรทัศนาจรชายฝั่งทะเล 12) เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าระนอง แหล่งน้ำพุร้อน นครสองป่า   เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) 13) เส้นทางท่องเที่ยววิถีถิ่น ยลงานศิลป์เมืองฉะเชิงเทรา 14) เส้นทางชลบุรี ชิก แอนด์ ชิลล์ เที่ยวเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พนัสนิคม-บางแสน-อ่างศิลา-เมืองชลบุรี) 15) เส้นทางเที่ยวป่าในเมือง และสวนเกษตรแบบ low carbon (เมืองระยอง-แกลง-วังจันทร์)   นอกจากนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยว 15 เส้นทางที่สำคัญแล้ว ในงานสัมมนายังมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ มุมมองต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ประกอบด้วย ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก ผู้จัดการโครงการฯ จิติมา จิตรวรนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว และ ณัฐพงศ์ เทพสมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ นำเสนอแนวคิดหลักในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ รวมถึงโปรแกรมการท่องเที่ยวตามเส้นทางไว้อย่างน่าสนใจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการท่องเที่ยวให้พร้อมทุกด้าน โดยโครงการนี้ใช้เวลาศึกษาและเตรียมการมานานกว่า 10 เดือน ในการศึกษาและออกแบบพื้นที่ทั้งหมด 4 เขต ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิด “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการต่อเนื่องมาในระยะหนึ่งด้วยการออกแบบและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการต่างๆ ภายใต้หลักการของ universal design เพื่อให้ทุกคนสามารถมาเที่ยวได้อย่างสะดวก ไร้ข้อจำกัด ทั้งคนปกติ ผู้สูงวัย และคนพิการสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ได้อย่างสะดวกเพราะ universal design ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน   พัฒนายั่งยืนพร้อมรับนักท่องเที่ยวทุกคน การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 7 ข้อหลัก ได้แก่ พัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ พัฒนาการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล ศึกษาออกแบบ วิเคราะห์เส้นทางเชื่อมโยง จัดทำการออกแบบรายละเอียด รูปแบบ การก่อสร้าง งบประมาณ เวลา ที่ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มีมาตรฐานสากล มีทั้งความสวยงามและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ Tourism for All ใครๆ มาเที่ยวได้ไร้ข้อจำกัด ทีมงานได้คัดเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมาไม่น้อยกว่า 30 เส้นทาง แล้วคัดกรองโดยคณะทำงานที่เชี่ยวชาญเหลือ 15 เส้นทาง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำกรอบวิสัยทัศน์ในการพัฒนา โดยการทำแผนพัฒนาเส้นทางและคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจะทำการออกแบบสถาปัตยกรรม ส่วนการเลือกแหล่งท่องเที่ยวนั้นศึกษาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพดูที่ความต้องการ ดูที่โอกาสในการดำเนินงานได้จริง รวมถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ เป็นหัวใจสำคัญ และแนวทางการพัฒนาเพื่อกลั่นกรองให้เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกคน สมดังนิยามที่กำหนดว่า เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน หรือ Tourism for All ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีความพร้อมรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกคน ที่สามารถเลือกเส้นทางตามความต้องการได้อย่างเต็มที่ โดยมีไกด์ไลน์ 15 เส้นทางพิเศษที่ทางกรมการท่องเที่ยวสรุปมานำเสนอในเบื้องต้น จากการศึกษาออกแบบโครงการ “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” พัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในด้านความเหมาะสมของเส้นทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่างๆ การศึกษาโครงการเพื่อนำ 15 เส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพนำไปสู่การเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้อนรับการเปิดประเทศที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน และจะต้องเร่งดำเนินการมากขึ้นในอนาคต   ทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine