คอร์รัปชั่นสะท้านวาติกัน - Forbes Thailand

คอร์รัปชั่นสะท้านวาติกัน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Feb 2022 | 07:25 AM
READ 2016

สมเด็จพระสันตะปาปา Francis ทรงมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปคริสตจักร พระองค์หวังว่า การดำเนินคดีพระคาร์ดินัลระดับสูงองค์หนึ่งที่กำลังจะมีขึ้นนี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงตั้งใจโดยแท้จริงที่จะสร้างความโปร่งใสทางการเงินในวาติกัน ทว่าข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ปัญหาทั้งหลายอาจย้อนกลับเข้าตัวพระองค์เอง

การพิจารณาคดีอาญาทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คริสตจักรคาทอลิกซึ่งมีกำหนดกลับมาพิจารณาคดีอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์แห่งวาติกันที่ถูกเปลี่ยนเป็นศาลชั่วคราว นับเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปา Francis ผู้ทรงมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปคริสตจักร และเป็นโอกาสดีที่จะได้ทรงป่าวประกาศว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย พระองค์ทรงตอกย้ำการปฏิรูปด้วยกระบวนการสอบสวนที่ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีแล้วกับคำฟ้องจำนวน 487 หน้า และข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อพระคาร์ดินัลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ที่มิอาจแตะต้องได้ กระบวนการพิจารณาคดีคืบหน้าไปด้วยดีจนถึงตอนนี้ อย่างน้อยก็ในแง่ของภาพลักษณ์ เมื่อบรรดาสื่อมวลชนระดับแนวหน้าของโลกต่างประโคมข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็น “การพิจารณาคดีทุจริต และฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์” และ “การพิจารณาคดีแห่งศตวรรษ” ของนครรัฐวาติกัน ทว่าเบื้องหลังคดีนี้กลับเป็นละครฉากใหญ่ในอาภรณ์นักบวช เต็มไปด้วยการกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกง เรื่องอื้อฉาว และการเล่นพรรคเล่นพวก ที่อาจหักมุมกลับมาเข้าตัวพระองค์เองได้ทุกเมื่อ ตลอดระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Forbes ได้พูดคุยกับแหล่งข่าวจากวาติกันจำนวนมาก และได้ยินเรื่องราวที่ย้อนแย้งจนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว การเลือกที่รักมักที่ชัง และการดำเนินกระบวนการที่ขาดความชอบธรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนชี้นิ้วไปยังผู้ทรงอำนาจสูงสุดแห่งวาติกัน-สมเด็จพระสันตะปาปา
ห้องพิพากษาของพระเจ้า วาติกันดัดแปลงห้องในพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นศาลขนาดใหญ่ รองรับทนายความราว 30 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลย 10 คน โดยมีผู้พิพากษา 3 คนทำหน้าที่ชี้ชะตานักบวชในการพิจารณาคดีอาญาทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คริสตจักรคาทอลิก
ในบรรดาเรื่องราวที่ได้รับการเปิดเผยนั้นพบว่า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับรายงานสรุปการกระทำผิดของพระคาร์ดินัล (ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในเวลานี้) ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนจะมีการฟ้องคดี แต่ยังทรงอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้มีการบุกตรวจค้น ส่งผลให้อัยการวาติกันกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับหน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงินของวาติกันทันที ผู้อำนวยการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกองค์กรคนหนึ่งบอกว่า เลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเคยห้ามจัดประชุมที่ตั้งใจจะเตือนพระองค์ว่า จะมีหายนะครั้งใหญ่ในแง่กฎหมาย คนวงในใช้คำว่า “พระสหายของสมเด็จพระสันตะปาปา” คือเหตุผลว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่วาติกันบางคนจึงไม่ถูกดำเนินคดี  

- เอกสารเจ้าปัญหาของสมเด็จพระสันตะปาปา -

เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นในห้องที่เคยใช้เป็นห้องแสดงสินค้าของ Harrods ใน Chelsea ย่านมหาเศรษฐีแห่ง London ซึ่งคริสตจักรต้องการจะแปลงโฉมเป็นอะพาร์ตเมนต์หรูขนาด 49 ห้อง แต่หลังจากการลงทุน 350 ล้านยูโรอันแสนจะคลุมเครือ วาติกันกลับประสบภาวะขาดทุน 100 ล้านยูโร ส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่มอบให้สมเด็จพระสันตะปาปาไว้ทรงใช้ในการกุศล ขณะที่บรรดาคนกลางผู้ประสานงานกอบโกยกันไปไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน และบางคนยังตกเป็นจำเลยในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในเวลานี้ พระคาร์ดินัล Angelo Becciu วัย 73 ปีซึ่งเป็นหัวหน้าจำเลยในคดีนี้เคยเป็นนักบวชทรงอำนาจที่สุดรูปหนึ่งของวาติกันจนกระทั่งปี 2019 Becciu ดำรงตำแหน่งผู้แทน ทำหน้าที่บริหารกิจการทั่วไปของวาติกัน และเป็นเจ้าหน้าที่เพียงรายเดียวที่สามารถเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาได้โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า การดำเนินคดีในครั้งนี้ทำให้ Becciu เป็นบุคคลหลักที่ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวไม่เป็นท่าจากการลงทุนที่ London และยังมีการกล่าวหาว่า เขาเล่นพรรคเล่นพวก โดยส่งเงินเข้าองค์กรการกุศลของพี่น้องตัวเองที่ Sardinia จำนวน 825,000 ยูโร และ อีก 575,000 ยูโรให้กับนักธุรกิจสตรีรายหนึ่ง (ซึ่งโดนดำเนินคดีด้วยเช่นกัน) พร้อมกับบริษัทของเธอในประเทศสโลวีเนียซึ่งทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย” คณะอัยการยืนยันว่า เงินครึ่งหนึ่งนำไปจ่ายเป็นค่าสินค้า นักออกแบบหรูหรา และทริปพักผ่อนราคาแพง กล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า การดำเนินคดีพันธมิตรใกล้ชิดที่เคยได้รับความไว้วางใจนั้นจะเป็นการคืนความน่าเชื่อถือครั้งสำคัญให้กับวาติกัน (Becciu และนักธุรกิจหญิงดังกล่าวยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด) แต่วาติกันเป็นรัฐอธิปไตย และสมเด็จพระสันตะปาปาทรงไม่ใช่ประมุขที่สืบทอดทางสายโลหิต ทว่าทรงครองอำนาจเบ็ดเสร็จและยังทรงมีอำนาจไม่จำกัดในการแทรกแซงการสอบสวนหรือดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและอาญา ตลอดจนแก้ไขเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยกเว้นกฎระเบียบหรือกระบวนการต่างๆ แม้กระทั่งห้ามนักบวชอาวุโสให้การเป็นพยานก็ย่อมได้ การดำเนินคดีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วาติกันที่คณะผู้พิพากษาและอัยการซึ่งเป็นฆราวาสจะทำการไต่สวนพระคาร์ดินัล แต่ผู้พิพากษาและอัยการดังกล่าว ก็ทำงานให้กับวาติกันและสมเด็จพระสันตะปาปานั่นเอง การจะดึงพระองค์ให้ออกห่างจากพระคาร์ดินัล Becciu ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่า Becciu จะถูกปลดจากตำแหน่ง พร้อมเพิกถอนสิทธิของพระคาร์ดินัลไปเมื่อปีก่อน อดีตเจ้าหน้าที่วาติกันคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่รับรู้สถานการณ์เผยว่า สมเด็จพระสันตะปาปา Francis ได้รับเอกสารลับด้วยพระองค์เองราว 5 ปีก่อน ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานที่ “ไม่สามารถโต้แย้งได้” ว่า พระคาร์ดินัล Becciu โอนเงินออกจากกองทุนคริสตจักรไปกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “พระองค์ทรงปิดคดี เรื่องจึงจบลงตรงนั้น” อดีตเจ้าหน้าที่บอกกับ Forbes สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแทรกแซงการดำเนินคดีอย่างหนักหน่วงผ่านการสอบสวนที่นำมาสู่การพิจารณาคดีในเวลานี้ ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงให้อัยการ Gian Piero Milano อดีตอาจารย์วิชากฎหมายศาสนามีอิสรภาพอย่างเต็มที่ในการตรวจค้นและบุกยึดแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ต้อง “คำนึงถึงระเบียบที่ใช้บังคับ” และยังทำให้อัยการไม่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลตามปกติอีกต่อไป ส่งผลให้ฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสได้โต้แย้งหลักฐานที่รวบรวมขึ้นระหว่างการสอบสวน อันเป็นสิทธิที่พึงได้รับในอิตาลีและประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเห็นดีเห็นงามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่การบุกค้นสำนักงานของเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretary of State) และ Supervisory and Financial Intelligence Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงินที่มีชื่อย่อในภาษาอิตาเลียนว่า AIF อีกหลายครั้งช่วงปลายปี 2019 อย่างไม่เคยมีมาก่อน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปา Benedict ที่ 16 ผู้ทรงดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้น ทรงถูกกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของยุโรป ให้ก่อตั้ง AIF ขึ้น พร้อมทั้งทรงออกกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินฉบับแรกของวาติกันขึ้นในปี 2010 ก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปา Francis จะทรงเข้ารับตำแหน่งด้วยเจตนารมณ์ในการปฏิรูป ซึ่งไม่นานนักพระองค์กลับทรงเข้ามาติดอยู่ใจกลางวงล้อมของการปฏิรูปด้วยเสียเอง  

- ปัญหา “James Bond” ของสมเด็จพระสันตะปาปา -

ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในทศวรรษที่ผ่านมา บุคคลสำคัญในความพยายามของวาติกันที่จะชำระล้างการกระทำของตนเองคือ René Brülhart ทนายความชาวสวิสและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการฟอกเงิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปา Benedict ที่ 16 เวลานั้น Brülhart ได้รับมอบหมายภารกิจระดับ “พันธกิจที่เป็นไปไม่ได้” อยู่ก่อนแล้ว โดยรับหน้าที่ดูแลสำนักข่าวกรองด้านการเงิน (Financial Intelligence Unit) ของลิกเตนสไตน์ บรรดาเพื่อนร่วมงานที่ Egmont Group (องค์กรที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกและมุ่งหมายจะกำจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบถอนรากถอนโคน) ต่างออกมายกย่องการปฏิรูปของ Brülhart หลังจากที่เขาถอดชื่อประเทศลิกเตนสไตน์ซึ่งโด่งดังในฐานะดินแดนภาษีต่ำหรือปราศจากภาษีออกจากบัญชีดำการเงินโลกได้สำเร็จ ก่อนจะย้ายมาร่วมงานกับ Egmont Group ในฐานะรองประธานกรรมการในเวลาต่อมา
นักรบครูเสด René Brülhart ผู้ตรวจสอบการฟอกเงินปฏิเสธที่จะรับงานที่วาติกันหากไม่ได้รับการรับประกันว่า ชื่อของเขาจะถูกปิดเป็นนิรนามในหน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงิน แต่ก็ไม่สามารถทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาอยู่ในความควบคุมได้ เขาลาออกในอีก 7 ปีต่อมาและถูกดำเนินคดีในปี 2021
ในทำนองเดียวกันวาติกันเป็นนครรัฐเล็กๆ แต่มีการยึดมั่นในอำนาจจนบั่นทอนการปฏิรูป ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา Brülhart ก่อตั้ง AIF ขึ้นเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังภายในที่มีความสำคัญยิ่ง พวกเขาได้รับการยกย่องจากหน่วยงานเฝ้าระวังทั่วยุโรป สื่อมวลชนสายธุรกิจเรียกเขาว่า “James Bond แห่งโลกการเงิน” เมื่อธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ใน London ไม่ประสบความสำเร็จ AIF ก็เริ่มทำการตรวจสอบในหลายพื้นที่เพื่อติดตามเส้นทางของเงิน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้ตรวจค้นผู้สอบบัญชีของพระองค์เองได้แล้วนั้น สิ่งต่างๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ต่อความพยายามปฏิรูปทางการเงินของวาติกัน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม กลุ่มผู้สอบบัญชีระดับชาติจากทั่วโลกระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ AIF แห่งวาติกัน เพราะกังวลว่าการบุกตรวจค้นจะกระทบต่อข้อมูลที่เป็นความลับเกี่ยวกับการสอบสวนทางอาญาที่ดำเนินอยู่ 7 สัปดาห์หลังจากนั้น Brülhart ประกาศลาออก และต่อมาสมาชิกคณะกรรมการอิสระอีก 2 คนก็ลาออกตาม Forbes ได้รับข้อมูลว่า Marc Odendall อดีตนายวาณิชธนากรชาวสวิสและเยอรมันซึ่งผันตัวมาทำงานการกุศลนั้นตัดสินใจลาออกหลังจากที่การประชุมกับสมเด็จพระสันตะปาปาถูกยกเลิก Odendall ห่วงว่า AIF จะกลายเป็นเพียงองค์กรที่ว่างเปล่า จึงได้ติดต่อพระคาร์ดินัล Pietro Parolin เลขาธิการแห่งรัฐของวาติกัน ซึ่ง Odendall บอกว่า เป็นผู้เรียกประชุม แต่อาร์ชบิชอป Georg Gänswein ผู้ดูแลหน้าห้องสมเด็จพระสันตะปาปาไม่อนุญาต “ผมอยากเตือนพระองค์ด้วยตนเองเหมือนพี่น้องเตือนกันอย่างมืออาชีพถึงผลลัพธ์ของการกระทำของพระองค์” Odendall ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ข้อเท็จจริงเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ในบรรดาผู้ที่อัยการสั่งดำเนินคดีมีชื่อของ Brülhart รวมอยู่ด้วย นับเป็นความคืบหน้าที่น่าตกใจไม่น้อยหากมองว่า Brülhart เป็นกำลังสำคัญที่สุดในการปฏิรูปทางการเงินของวาติกัน ข้อกล่าวหาของเขาคือ การฝ่าฝืน “ระเบียบพื้นฐานที่ใช้ควบคุมการกำกับดูแล” ด้วยการปล่อยให้มีการลงทุนที่ London ทั้งที่จริงแล้วหน่วยข่าวกรองของ Brülhart ทำหน้าที่ดูแลเพียง Vatican Bank เท่านั้น ไม่ใช่สำนักงานของเลขาธิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินการและควบคุมดูแลขั้นตอนการทำสัญญาทั้งหมด Brülhart อาจจะเป็นผู้นำการวางแผนและกำหนดเป้าหมายในภาพรวมให้กับหน่วยข่าวกรองทางการเงิน แต่ไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติการทำธุรกรรมหรือการโอนเงินของวาติกันได้ การดำเนินคดีต่อ Brülhart คือ การชำระแค้นเป็นการส่วนตัวนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปา Francis ในนครรัฐเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 825 คนแห่งนี้ แหล่งข่าวหลายรายบอกว่า วิธีการตามตำราสวิตเซอร์แลนด์ของ Brülhart ทำให้ผู้มีอำนาจหลายรายกลายมาเป็นศัตรูกับตัวเขาเอง โดยสัญชาตญาณแล้วบรรดานักบวชในสถาบันเก่าแก่ถึง 2,000 ปีแห่งนี้ย่อมต่อต้านระเบียบที่ออกโดยข้าราชการยุโรป ในสถานที่แห่งนี้พวกเขาเชื่อว่ากฎระเบียบสามารถยืดหยุ่นได้ และสิทธิต่างๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ Brülhart จึงถูกมองว่า ขาดความยืดหยุ่น  

- ปัญหา “พระสหายของสมเด็จพระสันตะปาปา” -

ความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระสันตะปาปาในคดีนี้เริ่มต้นจากความสัมพันธ์กับ Gianluigi Torzi หนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจชาวอิตาเลียนที่เป็นนายหน้าสัญญาอสังหาริมทรัพย์ที่ London อัยการตั้งข้อหาว่า Torzi เพิ่มเติมข้อสัญญาเข้าไปในนาทีสุดท้าย ทำให้เขามีอำนาจควบคุมทรัพย์ดังกล่าวจนเรียกเงินมาได้ 15 ล้านยูโร ซึ่งเขาปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น แม้อัยการจะบอกว่า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงไม่ได้เป็นผู้อนุมัติการจ่ายเงินด้วยพระองค์เอง แต่ก็ทรงเข้าร่วมการประชุม 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการประชุมที่ Torzi อ้างว่า มีการเจรจาเงื่อนไขสัญญาการลงทุนครั้งสุดท้าย Parolin พระคาร์ดินัลที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้งขึ้นเป็นเลขาธิการแห่งรัฐในปี 2013 เป็นผู้ดูแลการลงทุนใน London ตั้งแต่แรกเริ่ม Parolin อนุมัติสัญญาของ Torzi ฉบับที่ถูกกล่าวหาว่ามีการเพิ่มเติมข้อสัญญาเจ้าปัญหาเข้าไป นอกจากนี้ ยังพัวพันกับความพยายามชำระคืนเงินกู้ และอาจเป็นผู้อนุมัติธุรกรรมรายการหนึ่งซึ่งอัยการวาติกันบอกว่า เป็นการ “ฉ้อโกง” และ Parolin เองยังบอกว่า มีความ “คลุมเครือ” ส่วนอาร์ชบิชอป Edgar Peña Parra ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทนพระคาร์ดินัล Becciu ในปี 2018 เป็นผู้ดูแลการลงทุนใน London และจัดการนัดหมายให้ Torzi ได้พบกับสมเด็จพระสันตะปาปา ขณะที่มงซินญอร์ Alberto Perlasca หัวหน้าสำนักงานธุรการของเลขาธิการแห่งรัฐตกอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายเรื่องสัญญา เงิน และรายชื่อบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับสัญญา London ทว่าทั้ง Parolin, Peña Parra และ Perlasca กลับไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี ในอีกคดีหนึ่งที่สหราชอาณาจักรอัยการวาติกันโต้ว่า ทั้งสามเป็นเพียงนักบวชใจซื่อที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกหลวงของผู้อื่นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นจุดที่อำนาจสูงสุดของสมเด็จพระสันตะปาปาได้สร้างเมฆหมอกอันคลุมเครือจนอาจกระทบต่อชื่อเสียงของพระองค์เอง แหล่งข่าววงในวาติกันมักจะมองการตัดสินใจเรื่องนี้ในแง่ของ “พระสหายของสมเด็จพระสันตะปาปา” Becciu เป็นผู้บริหารระดับสูงเพียงคนเดียวที่กระทำผิดจริงหรือไม่ หรือบังเอิญที่เขาไม่ใช่คนโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาอีกต่อไปแล้วเมื่ออัยการเปิดการสอบสวน ส่วนบรรดาคนซื่อผู้ถูกลวงหลอกทั้งหลายก็บังเอิญเป็นคนดีของสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างนั้นหรือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้พิพากษาในคดีความที่สหราชอาณาจักรเกี่ยวกับคำขอจากวาติกันให้อายัดบัญชีธนาคารสำคัญๆ ของ Torzi เผยว่า ตอนที่อัยการวาติกันกล่าวแย้งนั้น เขาบอกว่า Perlasca เป็น 1 ใน 3 บุคคลสำคัญใน “การจัดฉากสมคบคิดที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง” แต่อีกเพียง 5 เดือนถัดมาอัยการคนเดิมโต้ว่า Perlasca “ไม่รู้เรื่องโครงสร้างของการทำธุรกรรมดังกล่าวเลย” ผู้พิพากษาบันทึกเอาไว้ว่า “ผมมองว่าความเห็นดังกล่าวยากที่จะยอมรับได้” ส่วน Peña Parra นั้นผู้พิพากษากล่าวว่า “ผมว่ายากเหลือเกินที่จะยอมรับความเห็นใดก็ตามที่บอกว่า อาร์ชบิชอป Peña Parra ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยที่ไม่รู้อะไรเลย หากมองว่าธุรกรรมนี้มีความสำคัญยิ่งและเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก” และสำหรับ Parolin ผู้พิพากษาไม่เชื่อแม้แต่น้อยว่า “โดนปิดตาลวงหลอกอย่างสิ้นเชิง” ผู้พิพากษายังกล่าวสรุปว่า คำโต้แย้งจากวาติกัน “ขาดหลักฐานสนับสนุนที่มีความน่าเชื่อถือ” และเป็นเรื่องของ “การแถลงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อมูลสำคัญ” ที่เลวร้ายและน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง หากจะสันนิษฐานว่า เรื่องราวทั้งหมดจะได้รับการล้างมลทินในการพิจารณาคดีที่วาติกันก็ฟังดูสมเหตุสมผล แต่อาจไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น เพราะวาติกันไม่ได้อนุญาตให้จำเลยมีสิทธิเบิกพยานได้ทันที แหล่งข่าววงในให้ข้อมูลว่า ผู้พิพากษาที่ดูแลการดำเนินคดีจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ใครจะได้ให้การในเรื่องที่สมเด็จพระสันตะปาปาอาจทรงกำลังพิจารณาอยู่ และพวกเขาเป็นพระสหายของสมเด็จพระสันตะปาปาจริงหรือไม่   เรื่อง: GERALD POSNER เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพประกอบ: ALVARO TAPIA, MASSIMILIANO MIGLIORATO/POLARIS/NEWSCOM อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine