อุตสาหกรรมเหล็กในอุ้งมือมหาอำนาจจีนขยับสร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก - Forbes Thailand

อุตสาหกรรมเหล็กในอุ้งมือมหาอำนาจจีนขยับสร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2018 | 04:37 PM
READ 8315

จีนถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ สิ่งที่พิสูจน์ความเป็นมหาอำนาจดูได้จากการขยับตัวของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด มุมใด มักจะสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกทั้งทางบวกและลบ ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเหล็ก

ล่าสุดจีนเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการดูแลอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยการประกาศสั่งปิดโรงงานในมณฑล Tianjin ที่มีกำลังในการผลิตเหล็กต่ำกว่า 3 ล้านตันต่อปีเพียงเท่านี้ก็มากพอที่จะดันให้ราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้น เพราะคาดการณ์กันว่าผลของมาตรการดังกล่าวอาจทำให้กำลังการผลิตเหล็กของโลกหายไปราวๆ 100 ล้านตันต่อปี เมื่อย้อนความไปช่วงก่อนประเทศจีนเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิคในปี 2008 ก่อให้เกิดการก่อสร้างจำนวนมากภายในประเทศจีน จนผลักดันให้มีโรงงานเหล็กในประเทศผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งโรงเหล็กขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ แต่เมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิคปิดฉากลงความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนหดตัวอย่างรุนแรงผลกระทบที่เห็นได้ทันทีคือราคาเหล็กปรับตัวลดลงรุนแรง ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกในสัดส่วนราว 50% ของกำลังการผลิตโลกทำให้จีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนจึงค่อยๆ ดำเนินมาตรการเริ่มจากการตัดวงเงินกู้ผู้ประกอบการเหล็กซึ่งผลของมาตรการนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่จัดตั้งโรงงานขึ้นเพื่อหวังได้รับเงินสนับสนุนโดยไม่มีความคิดที่จะทำธุรกิจอย่างจริงจังได้หายไปจากวงการเหล็กจำนวนมาก ผลของการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ทางรัฐบาลจีนได้ดำเนินการมา พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนราวปลายปี 2017 กำลังการผลิตเหล็กในประเทศจีนน่าจะหายไปแล้ว 50-60 ล้านตันต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าอยากให้ลดกำลังการผลิตลง 100 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่ผลิตได้ราว 500 ล้านตันต่อปี หรือ 50% ของกำลังการผลิตโลก ภาพอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนจากนี้ไป โดยส่วนตัวมองว่าจะเริ่มเห็นการปิดตัวของโรงผลิตเหล็กระดับกลางและเล็ก ขณะที่โรงผลิตเหล็กขนาดใหญ่จะเห็นภาพการรวมกิจการมากขึ้น นับเป็นการเดินตามประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ท้ายที่สุดจะเกิดการรวมตัวกันจนเหลือผู้ประกอบการเหล็กไม่กี่กลุ่มและก่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาตามมาซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศต้องการเห็นเพื่อให้เอื้อต่อแผนการลงทุน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ในประเทศไทยเองเชื่อว่าท้ายที่สุดจะต้องเดินไปสู่เส้นทางนี้เช่นกัน เพราะเป็นทิศทางของโลก และในปี 2558 ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยเผชิญกับภาวะราคาเหล็กปรับตัวลงต่อเนื่อง 12 เดือน ส่งผลกระทบให้บางบริษัทประสบปัญหาด้านการเงินด้วยเหตุนี้ทำให้เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายมีแนวคิดสร้างความแข็งแกร่งด้วยการมองหาพันธมิตร อาจเริ่มต้นด้วยวาจา และอาจนำไปสู่การจับมือกันในกลุ่ม supply chain หรือการควบรวมกิจการในท้ายที่สุด แต่การรวมกิจการในประเทศไทยอาจเห็นภาพได้ช้ากว่าประเทศจีน ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่ามาก และโรงเหล็กในประเทศไทยล้วนเกิดจากภาคเอกชนทั้งหมด ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อตั้ง ยังมีความผูกพันกับบริษัทในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าท้ายที่สุดผู้ประกอบการค้าเหล็กในประเทศไทยจะหลงเหลืออยู่กี่กลุ่มดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้นที่ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากกว่าการควบรวมกิจการในธุรกิจเหล็กไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อาจต้องรอให้เปลี่ยนถ่ายผู้บริหาร 1-2 รุ่น เพื่อรอให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการบริหารไปสู่มือผู้บริหารมืออาชีพ ซึ่งจะไม่มีความผูกพันกับบริษัท และคำนึงถึงผลประโยชน์บริษัทเป็นที่ตั้ง วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magaizne