ส่องเทรนด์บริโภคคอนเทนต์ใน CLMV - Forbes Thailand

ส่องเทรนด์บริโภคคอนเทนต์ใน CLMV

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Aug 2018 | 03:05 PM
READ 2339

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแห่งการสื่อสารทำให้ช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่หลายคนอาจเคยคุ้นชินกับการเสียเงินซื้อหรือเช่า ซีดี ดีวีดี หรือเสียเงินค่าสมาชิกเพื่อให้ได้รับชมภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีย์ดีๆ สักเรื่องจากช่อง Cable TV, Satellite TV, IPTV และ OTT ผ่านทางโทรทัศน์

แต่วันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารกำลังปลดปล่อยผู้บริโภคให้เป็นอิสระจากการนั่งเฝ้าหน้าจอผ่านโทรทัศน์ สู่การรับชมคอนเทนต์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา และทุกความต้องการ เพราะทุกคนต่างต้องการเสพคอนเทนต์ดีๆ มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองกันทั้งนั้น

Content is King สูตรสำเร็จธุรกิจสื่อ

คอนเทนต์เป็นปัจจัยสำคัญในองค์ประกอบของเครื่องมือการสื่อสารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง และวิดีโอ ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยคอนเทนต์เป็นตัวขับเคลื่อนดังนั้น คำที่บอกไว้ว่า “Content is King” จึงเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุด เพราะคอนเทนต์เปรียบเสมือน king หรือพระราชา ที่จะคงอยู่เสมอและไม่มีวันตายแม้ในปัจจุบันผู้บริโภคจะมีความต้องการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย กระแสสังคมหรือรสนิยมทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเครื่องมือการสื่อสารที่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี แต่คอนเทนต์จะไม่มีวันตายโดยยังสามารถหยิบมาใช้ได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะดึงตัวคอนเทนต์และผลิตออกมาในรูปแบบใด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ในอดีตภาพยนตร์ได้รับการผลิตออกมาในรูปแบบม้วนวิดีโอ ซีดี หรือดีวีดีจนเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ในปัจจุบันจึงพัฒนาสู่การชมผ่านออนไลน์ซึ่งในอนาคตไม่ว่าภาพยนตร์จะมีความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด แต่การพัฒนาคอนเทนต์และการเลือกคอนเทนต์ที่ดีเพื่อตอบโจทย์ความนิยมของผู้บริโภค หรือปลุกกระแสสร้างความนิยมช่วยผลักดันเรตติ้งยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องตระหนักเพื่อเลือกคอนเทนต์ที่โดนใจผู้บริโภค

ใช้หัวใจเลือกคอนเทนต์

การเลือกคอนเทนต์ต่างประเทศเพื่อให้ครองใจผู้บริโภคหรือซีรีส์ในแต่ละเรื่องต้องอาศัยหัวใจมากกว่าสมอง ซึ่งต้องเข้าใจและเข้าถึงรสนิยมความชมชอบของผู้บริโภคโดยต้องคัดเลือกจากบทละครกับการดำเนินเรื่องราวของซีรีส์ที่ต้องถูกจริตกับคนไทยหรือผู้ชมในกลุ่ม CLMV เพื่อให้ตอบโจทย์ช่องทางการสื่อสารที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการคอนเทนต์มาอย่างยาวนาน สำหรับหลักการพิจารณาคัดเลือกซีรีส์เพื่อนำมาให้ผู้บริโภคได้รับชมสามารถแบ่งได้เป็น • จับตลาดถูก เป็นเรื่องของพื้นฐานการตลาด จับจุดถูกว่าพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคว่าชอบคอนเทนต์แบบไหน และมีการทำ local marketing เพื่อปลุกกระแสให้แก่ซีรีส์ให้ผู้ชมต้องการติดตาม เช่น การทำเพลงประกอบซีรีส์เพื่อโปรโมท เป็นต้น • เลือกคอนเทนต์เรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคมีการเดินเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และเนื้อหาไม่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์หนักๆ หรือดราม่าหนักๆ • วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน การเลือกซีรีส์ต้องเลือกและเข้าใจถึงวัฒนธรรมของประเทศที่จะนำไปเผยแพร่ ทั้งการใช้ชีวิตการพูด ศาสนา ภาษาไทยที่นำมาจากภาษาสันสกฤต และมีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าที่เคยเรียนในประวัติศาสตร์อย่างพระเจ้าอโศกหนุมาน หรือเรื่องพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพที่คนไทยบูชา มีความเชื่อมโยงและอยู่กับคนไทยมาตลอด • จับตลาดหลักของคอละคร พื้นฐานของคนอินเดียเป็นคนระดับกลาง-ล่างค่อนข้างเยอะ ซีรีส์แต่ละเรื่องจึงผลิตมาเพื่อจับคนดูกลุ่มนี้ เมื่อนำมาออกอากาศในไทยก็สามารถเข้าถึงคนดูระดับกลาง-ล่าง เพราะเนื้อหาของซีรีส์ส่วนใหญ่ จะเป็นแนวละครน้ำเน่า • ลงทุนน้อยกว่าละครไทย 50% ในแง่ของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ การลงทุนเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งซีรีส์ต่างประเทศที่นำเข้ามา ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนในส่วนการผลิต จึงทำให้ใช้งบลงทุนน้อยกว่าการทำละครเองถึง 50% และบางซีรีส์ก็ทำเรตติ้งได้ดีกว่าด้วยคอนเทนต์

อินเดีย-ฟิลิปปินส์ โดนใจ

หากจะบอกว่าความสำเร็จของซีรีส์อินเดียและฟิลิปปินส์ที่ครองใจผู้บริโภคชาวไทยและผู้ชมในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น เกิดจากการจับตลาดที่ถูกต้อง มีความเข้าใจถึงแก่นลึกทางวัฒนธรรม และความชื่นชอบที่คล้ายคลึงกันของผู้บริโภคคอนเทนต์ในภูมิภาคนั้นๆ โดยส่วนใหญ่พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์จะเป็นประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต ความรัก ความอิจฉาริษยาหรือที่เราเรียกกันว่า “ละครน้ำเน่า” มักได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยซีรีส์ต่างประเทศที่นำเข้ามาในไทยหรือออกอากาศในภูมิภาคนี้ หากเป็นเนื้อเรื่องที่มีการดำเนินเรื่องราวที่เกี่ยวกับความรักความริษยา มักได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ชม เนื่องจากเนื้อหาไม่มีความซับซ้อน ผู้ชมสามารถเข้าใจในการดำเนินเรื่องราวได้ง่าย นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตก่อนที่จะนำคอนเทนต์ต่างประเทศไปออกอากาศนั้นต้องผ่านการแปล เกลา พากย์เสียง มิกซ์เสียงและผสานให้เข้ากับคอนเทนต์นั้นๆ อย่างกลมกลืน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมของผู้บริโภค ส่งผลให้ทุกวันนี้ซีรีส์อินเดียได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในประเทศไทย สปป.ลาว และกัมพูชา ส่วนซีรีส์ฟิลิปปินส์ก็ได้รับความนิยมในประเทศเวียดนามสร้างมูลค่าคอนเทนต์ผ่านการตลาด นอกเหนือจากการขายคอนเทนต์ดี ตรงจริตคนไทยและกลุ่มคนในประเทศ CLMV แล้ว ประเด็นสำคัญในการสร้างความสำเร็จเพื่อให้คอนเทนต์ดังกล่าวขายดีและได้รับความนิยม คือต้องมีการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพลงประกอบซีรีส์การดึงศิลปินชั้นนำมาร่วมถ่ายทอดบทเพลงผ่าน super star marketing จะทำให้ซีรีส์นั้นๆ ขายดียิ่งขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันการขยายช่องทางการตลาดไปสู่ช่องทางใหม่ๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมการรับของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับการที่ JKN ได้เริ่มบุกทำตลาดการนำคอนเทนต์อินเดียและฟิลิปปินส์ทั้งยังเป็นหัวหอกนำลิขสิทธิ์ละครของไทยกว่า 50 เรื่องไปขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศซึ่งเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้ผู้สร้างคอนเทนต์ของไทยได้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในงาน Hong Kong Film Mart 2018 ที่ศูนย์ประชุมและงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ ฮ่องกง รวมถึงวางแผนขยายไปยังงานเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า คอนเทนต์นับเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคมีความต้องการกระหายเสพอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าพฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กระแสสังคมหรือรสนิยม แต่ท้ายที่สุดความต้องการของผู้บริโภคในการเสพ “คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ” ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้ผลิตคอนเทนต์จึงต้องตระหนักถึงการพัฒนาคอนเทนต์ และความเคารพต่อผู้เสพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องรู้จักปกป้องตัวเองด้วยการทำลิขสิทธิ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สังคมออนไลน์และเว็บไซต์เป็นหลัก
จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)
 
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับกรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine