ลดช่องว่าง บริหารความต่าง มัดใจผู้หญิงเก่ง - Forbes Thailand

ลดช่องว่าง บริหารความต่าง มัดใจผู้หญิงเก่ง

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Sep 2017 | 06:44 PM
READ 7606

ทุกวันนี้โลกเราเปิดโอกาสให้ “ผู้หญิง” เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เราจึงเห็นผู้หญิงเก่งหลายคนที่ก้าวขึ้นมาบริหารองค์กรและปกครองบ้านเมือง แถมยังประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้ผู้ชาย

อย่างในแวดวงการเงิน เช่น Janet Yellen ผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับตำแหน่งประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด หากเป็นแวดวงบันเทิงคงต้องยกให้เจ้าแม่ทอล์คโชว์ชื่อดังอย่าง Oprah Winfrey ซึ่งเธอได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมาแล้วด้วย หรือในระดับผู้นำประเทศที่เรารู้จักกันดี คงหนีไม่พ้น Indira Gandhi นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย ตามด้วย Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ซึ่งถัดมาอีก 26 ปีหลังจาก Thatcher สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง อังกฤษก็ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สอง นั่นคือ Theresa May จริงๆ แล้วการที่ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับแนวหน้าในทุกวงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงยุคใหม่มีระดับการศึกษาที่ดีและไม่แพ้ผู้ชาย แถมยังกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจมากกว่าในอดีต อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะอัตราส่วนแรงงานเพศหญิงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสัดส่วนเพศชายที่ค่อยๆ ลดลง
(จากซ้าย) Janet Yellen, Oprah Winfrey, Indira Gandhi, Margaret Thatcher และ Theresa May ตัวอย่างผู้หญิงแถวหน้าที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้ผู้ชาย
ตัวเลขจากข้อมูลของ World Bank สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยพบว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในตลาดแรงงานพอๆ กับผู้ชายโดยอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานเพศหญิงทั่วโลก (Global Female Labour Force Participation) ในปี 2559 นั้นสูงเกือบ 50% ของแรงงานทั้งหมดที่มีจำนวนราว 3.42 พันล้านคน ขณะที่ตลาดแรงงานไทยนั้น ผู้หญิงก็ยังคงเป็นเจ้าตลาดเช่นกัน โดย 63% ของตลาดเป็นแรงงานผู้หญิง  

ปัญหาความไม่เสมอภาค

แม้วันนี้ผู้หญิงจะตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานโลกและก้าวขึ้นเป็นผู้นำกันเป็นจำนวนไม่น้อย ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงและชาย (gender inequality) ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงยังคงถูก “เลือกปฏิบัติ” ในทุกมิติ นอกจากนี้ ช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศ (gender pay gap) ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าทางรายได้ของผู้หญิง แม้ว่าจะมีการนำวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ และเชื้อชาติมาพิจารณาแล้วก็ตาม ข้อมูลจากรายงาน Women In Work Index 2017 ของ PwC น่าจะสะท้อนปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงในกลุ่มประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จำนวน 33 ประเทศ ที่ทำการสำรวจ ยังคงได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 16% แม้ว่าจะมีคุณสมบัติในการทำงานดีกว่า ขณะที่ประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเยอรมนี มีช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศที่มากที่สุด
ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศมากที่สุด ร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ และประเทศเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม จากการจัดทำดัชนีผู้หญิงในที่ทำงานเพื่อวัดบทบาทของผู้หญิงต่อระบบเศรษฐกิจ พบว่า ไอซ์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ติดสามอันดับแรกในปีนี้ สาเหตุเพราะอัตราการว่างงานของเพศหญิงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานเพศหญิงและสัดส่วนของพนักงานหญิงที่ทำงานเต็มเวลาสูง สำหรับกรณีศึกษาที่น่าสนใจของหนึ่งในประเทศกลุ่ม OECD อย่างอังกฤษ ซึ่งมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคของรายได้ระหว่างเพศชายและหญิง โดยผู้หญิงในประเทศดังกล่าวได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 17% สาเหตุมาจากการที่ผู้หญิงต้องใช้เวลาดูแลครอบครัวและสมาชิกในบ้าน นอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสายอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศเป็นกฎหมายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของภาคธุรกิจ คือ การให้บริษัทเอกชน มหาชน และองค์กรอาสาสมัครที่มีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป ต้องเปิดเผยเมตริกเกี่ยวกับช่องว่างค่าตอบแทนและโบนัสของพนักงานทั้งชายและหญิงในปีหน้า เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน  

เตรียมรับมือ ผู้หญิงเจนวาย

ดังที่ทราบกันดีว่า กลุ่มเจนวาย (Generation Y) หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2538 จะกลายเป็นแรงงานส่วนใหญ่ขององค์กรในระยะถัดไป และด้วยสัดส่วนประชากรเพศหญิงที่ขยับเข้ามาใกล้เคียงกับเพศชายมากขึ้น ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้หญิงเจนวายจะกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลกับตลาดแรงงานในอนาคตด้วยเช่นกัน
World Bank คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ผู้หญิงเจนวายจะมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของแรงงานโลกทั้งหมด
โดยข้อมูล World Bank คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ผู้หญิงเจนวายจะมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของแรงงานโลกทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยคงหนีไม่พ้นเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนประชากรเจนวายสูงถึง 27% ของประชากรทั้งหมด หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำงานของผู้หญิงเจนวายจะพบว่าผู้หญิงรุ่นใหม่ต้องการร่วมงานกับบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดี พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานยาก จากผลสำรวจ The Female Millennial ของ PwC ที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ยุทโธปกรณ์ และ พลังงานและปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้หญิงเจนวายหลีกเลี่ยงที่จะทำงานด้วยมากที่สุด เนื่องจากมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูง โอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย รวมถึงทำเลที่ตั้ง ระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง หรือความเสี่ยงในด้านต่างๆ ก็มีผลต่อการตัดสินใจทำงานของผู้หญิงเจนนี้ด้วย นอกจากนั้น ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance) ยังเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกเจนแสวงหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงเจนวาย โดยถือเป็นลักษณะนิสัยและความต้องการของกลุ่มเจนวายที่ต้องการทำงานในรูปแบบ “Work Smart, Not Hard” และต้องการสร้างความพอดีในการใช้ชีวิตในทุกมิติ
3 กลุ่มธุรกิจที่ผู้หญิงเจนวายหลีกเลี่ยงเข้าทำงานด้วยมากที่สุด คือกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ยุทโธปกรณ์ และ พลังงานและปิโตรเคมี
ดังนั้น องค์กรต่างๆ คงต้องทำงานหนักขึ้นในการหากลยุทธ์เพื่อดึงดูดให้ผู้หญิงเจนวายที่มากความสามารถมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินเดือน ผลตอบแทนที่จูงใจ ความก้าวหน้าในสายงาน รวมทั้งโอกาสในแก้ปัญหาและความท้าทายที่สำคัญต่างๆ การสร้างสภาพแวดล้อมภายในองค์กรให้พนักงานเกิดความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของกันละกัน สามารถอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้รวมไปถึงการมีโปรแกรมฝึกอบรมให้ความรู้ เพื่อลดอคติ และจุดบอดในการทำงานร่วมกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผลลัพธ์สำหรับองค์กรที่มีการบริหารความหลากหลายที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา หรือทัศนคติ ย่อมสะท้อนออกมาในรูปของผลการดำเนินงานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปถึงมือลูกค้า และจะกลับคืนมาสู่บริษัทในรูปแบบของรายได้และผลกำไรในที่สุด   อนุทัย ภูมิสุรกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย
คลิกเพื่ออ่าน "ลดช่องว่าง บริหารความต่าง มัดใจผู้หญิงเก่ง" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine